สุรสีห์ อิทธิกุล : Project Album
สังกัด : แกรมมี่
งานชี้นที่ 4 ของผู้ชายชื่อ อ้อง หรือ สุรสีห์ อิทธิกุล ห่างหายไปจากชิ้นที่ 3, The Beatles Profile, ที่ออกมาในปี 2538 ถึง 4 ปีเต็ม
ผลงานชิ้นล่าสุด สุรสีห์เป็นผู้ดูแลทั้งหมด โดยมี พงษ์ศักดิ์ ภูววีรานนท์ร่วมดูแล ยกเว้นด้านคำร้อง ที่ได้เพื่อนฝูงมาช่วย เช่น นิติพงษ์ ห่อนาค, ธีระชัย แหล่งสนาม, สุรักษ์ สุขเสวี, อรรณพ จันสุตะ และที่ขาดไม่ได้คือ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ นักแต่งเพลงคู่บุญของสุรสีห์ เปรียบเหมือนโลโก้ของแท้ต้อง มีเขตต์อรัญ
ผู้ชายที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 40 ฤดูฝน เหมือนสุราบรั่นดีบ่มได้ที่ งานที่ออกมาจึงแสดงถึงเนื้อในตัวตนของสุรสีห์ ไม่ใช่ดนตรีตามกระแส โดยเฉพาะภาคดนตรี มีความหลากหลาย แต่อยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่ทิ้งร่อยรอย “คนดนตรี” , “พอดี พอดี” หรือแม้แต่ความเป็นบัตเตอร์ฟลาย
แนวดนตรีวนเวียนอยู่แถวๆ ดนตรียุค 1970 – 1980 ออกไปในโทน pop rock ไปจนถึง progressive บางเพลงฟังแล้วนึกไปถึง ปราสาททราย, แผลในใจ, หรือเพลงไกล ในผลงานครั้งอดีต
คำร้องถึงแม้จะมีคนเขียนหลายคน แต่เนื้อร้องจะออกเป็นแนวเฉพาะตัว เหมือนคนเขียนเจาะจงให้เป็นเอกลักษณ์ของสุรสีห์ ดูสวยงาม มีลีลา แต่ไม่ใช่จะเข้าใจง่ายนัก คล้ายๆ งานของพี่เต๋อ หรือของ พี่แต๋ม – ชรัส เฟื่องอารมณ์ คือเป็นงานเฉพาะตัว ฟังปุ๊บ รู้ปั๊บ นี่คือ อ้อง เต๋อ หรือ แต๋ม อะไรประมาณนั้น
แต่ที่น่าเสียดายคือ เนื้อร้องเหล่านั้นไม่ได้สะท้อนโลกทัศน์ของสุรสีห์ ไม่ใช่ผลึกความคิดของสุรสีห์ แต่เป็นมุมมองของ นิติพงษ์, ธีระชัย, สุรักษ์, อรรณพ, หรือแม้แต่ เขตต์อรัญ เพราะขาดความเป็นเอกภาพทางความคิด
ถ้าสุรสีห์อ่อนด้อยเรื่องของการเขียนคำร้อง สุรสีห์น่าจะบอกแก่นความคิดของตัวเองให้นักแต่งเพลง ให้เขียนเนื้อร้องออกมาให้ใกล้เคียงกับความคิดของตัวเองให้มากที่สุด
คำว่า ศิลปิน น่าจะหมายถึง ผู้สร้างสรรค์ศิลปะ ทั้งทางดนตรีและความคิดผ่านคำร้อง เหมือนศิลปินทางด้านจิตรกรรม ไม่ใช่เพียงแค่ชำนาญด้านการเขียนภาพ แต่ภาพนั้นจะต้องสะท้อนทัศนะที่มีต่อโลกของเจ้าของงานด้วย เพราะเขาเป็นศิลปินไม่ใช่ช่างเขียนภาพ ผมอยากเห็นสุรสีห์ เป็นศิลปินคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่นักดนตรี
สิ่งที่ผู้เขียนชื่นชมมากในฝผลงานชิ้นล่าสุดของสุรสีห์คือ ความกล้า กล้าในการนำเสนอ ไม่ใช่งานที่จะอวดอ้างความสามารถทางดนตรี ไม่ร้อนวิชา แต่ก็ไม่อยู่ในกระแสของตลาด มีความเป็นตัวเองในระดับ พอดี อาจจะไม่ใช่งานที่ขายดีเป็นเทน้ำ เทท่า แต่เหมาะกับผู้บรรลุนิติภาวะทางด้านการฟังเพลงแล้ว
ความเห็นส่วนตัวในบรรทัดสุดท้าย งานชี้นนี้อยู่ในระดับ “คนดนตรี” (2533) นั่นคือ “พอดี พอดี” (2535) สิ่งที่ขาดมีเพียงประการเดียว คือความเด่น ชวนจดจำ ในระดับ “กัลปาวสาน” (2528)
ปล.ภาพหน้าปก ดูแล้วนึกว่าเป็น Bayan Adam มาก ไม่ทราบว่าเป็นความบังเอิญหรือจงใจ ถ้าเป็นประการหลัง จะเสียใจมาก
ที่มา นพพร : ไทยอัลบั้ม