พลิกตำนานวงชาตรี ตอนที่ 4

topani

ครั้งแรกที่วงได้ไปบันทึกเสียงตามที่นัดหมายไว้กับครูไพบูลย์ รู้สึกว่าจะเป็นตอนกลางคืน หลังจากไปรายการ TV วันนั้นซาวด์เอ็นจิเนียร์คงจะกลับบ้านกันหมดแล้ว วันนั้นครูไพบูลย์จึงเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์คนแรกที่บันทึกเสียงให้กับวงชาตรี ความที่เป็นวงไทยๆ ชื่อไทยๆ ร้องเพลงไทย เล่นเพลงไทย เอกลักษณ์ไทยๆ แต่งเอง ร้องเอง ก็เลยเข้ากันได้กับรายการของครูไพบูลย์ เพราะธานินทร์อุตสาหกรรมสปอนเซอร์หลักของรายการวิทยุ ก็เป็นของคนไทยซึ่งผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยคนไทย เพื่อคนไทยแข่งกับสินค้าจากต่างประเทศ

ย้อนกลับมาที่การประกวดโพล์คซอง เนื่องจากว่าข้อจำกัดของกฏเกณท์หลายอย่างดังกล่าว ทางวงจึงตัดสินใจถอนตัวจากการประกวด เพื่อให้ได้ใช้กลองชุด และเบสไฟฟ้า ในเวลาต่อมา ทราบภายหลังว่าการประกวดในปีนั้นก็ล้มโดยไม่เกี่ยวกับการถอนตัวของวงชาตรีแต่อย่างไร หลังจากวันนั้นแล้ว ครูไพบูลย์ได้นัดหมายให้ทางวงไปบันทึกเสียงเพลงเพิ่มอีกหลายเพลง เพื่อนำไปออกอากาศทางวิทยุ 120 นาทีมัลติเพลก ของธานินทร์อุตสาหกรรม คราวนี้ซาวด์เอ็นจิเนียร์ ชื่อพี่หินเป็นคนอัดเสียง สมัยนั้นการบันทึกเสียงยังเป็นแบบเล่นพร้อมกัน ไม่สามารถตัดต่อได้ ถ้าเล่นผิดต้องเริ่มต้นใหม่หมดในแต่ละเพลง

แล้ววันหนึ่งครูไพบูลย์ เห็นว่าทางวงชาตรีหน้าจะรวบรวมเพลงที่ได้บันทึกเสียงออกรายการวิทยุ ให้ได้จำนวน 12 เพลง เพื่อเป็นอัลบั้มของตัวเอง โดยครูเป็นผู้ออกทุนให้ในเบื้องแรก โดยทำเป็นเทปคาสเซ็ท และแนะนำให้ไปฝากขายยังห้างแผ่นเสียงที่ครูรู้จัก ซึ่งก็คือห้างแผ่นเสียงเมโทร สมัยนั้นอยู่ประตูน้ำ และที่ห้าง ส.รวมแผ่นเสียง อยู่ที่สะพานเหล็ก สมัยนั้นเทปคาสเซ็ทเป็นของใหม่ ที่กฏหมายไทยยังไม่ได้รับรองเพราะเป็นสื่อใหม่ มีแต่แผ่นเสียงเท่านั้นที่รับรอง ปกเทปชุดแรกจะเป็นรูป กีต้าร์โปร่ง ชื่อชุด จากไปลอนดอน สีโดยรวมของปกเทปจะออกทางน้ำเงิน รุ่นพี่ที่ช่างภาพเป็นผู้ถ่ายให้ ชื่อพี่วิทยา ซึ่งต่อมาพี่วิทยาก็ช่วยส่งเสริมทางวง โดยออกทุนซื้อเครื่องขยายเสียง

นอกจากนี้ พี่วิทยายังช่วยหางานมาให้อีกด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นงานแต่งงาน เนื่องจากพี่วิทยาทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของธนาคาร จึงมีเพื่อนมาก ดังนั้นพวกเราจึงมีโอกาสได้ออกโชว์ในงานแต่งงานต่างๆบ้าง วันหนึ่งเราได้นำเทปที่บันทึกมาเรียบร้อยแล้วไปแนะนำกับเพื่อนเก่าสมัยเรียนชั้นประถม ชื่อประเวศ บ้านอยู่แถวสวนมะลิ ซึ่งบ้านประเวศเป็นอู่แท็กซี่ รถที่ใช้ในสมัยนั้นเป็นแท็กซี่บลูเบิร์ดเก่าเป็นส่วนใหญ่ ปรากฏว่าประเวศก็พาไปบ้านเพื่อน เพื่อแนะนำเทปตัวอย่างดังกล่าวแต่เปิดไม่ได้จนแล้วจนรอดเสียงก็ไม่ดัง

สมัยก่อนวงดนตรีต่างๆมักจะเล่นเพลงสากลเป็นส่วนใหญ่ แล้วไอ้วงชื่อไทยๆว่า โพล์คซอง ชาตรี นี้มันเป็นยังไงกันเปิดเทปแล้วเสียงก็ฟังไม่รู้เรื่อง ประเวศจึงเอาเทปออกพร้อมกับเดินมาโอบไหล่ พร้อมๆกับกล่าว อมตะวาจาว่า “เฮ่ยเทือง กูว่าวงเอ็งดั่งยากว่ะ ทำไมเอ็งไม่ไปเล่นเพลงสากลว่ะ” จากนั้นเราก็กลับมาบ้านด้วยอาการ งงๆ กลับมาบ้านแล้วยังลองเทปตัวอย่างก็เล่นได้ มารู้ทีหลังว่าเครื่องเทปของเพื่อนประเวศเสียต่างหาก

หลังจากฝากเทปขายอยู่ทั้งสองห้างดังกล่าว ปรากฏผลตอบรับใช้ได้ อาศัยการเผยแพร่เพียงรายการของครูไพบูลย์รายการเดียวแท้ๆ อาจจะเป็นเพราะความแปลกแตกต่างไปจากเพลงไทยในสมัยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพลงไทยสากล หรือเพลงลูกกรุง ทางห้างแผ่นเสียงเมโทร ก็ได้เสนอทางวงชาตรีให้ทำเป็นแผ่นเสียงในชุด จากไปลอนดอน ซึ่งแดงเป็นคนคิดปกเอง โดยเอารูปหอนาฬิกาที่กรุงลอนดอน อันเป็นสัญลักษณ์ของกรุงลอนดอน มาเป็นปกแผ่นเสียง เพลงในชุดนี้มีกลิ่นไอของ ดนตรีแบบโพล์คซองใช้กีต้าร์โปร่งล้วนๆ รวมทั้งเสียงเบสด้วย และเนื่องจากเอากีต้าร์โปร่งมาทำเสียงเบสเสียงยังต่ำไม่พอ จึงมีความคิดที่จะหาสายหกของกีต้าร์โปร่งยี่ห้ออะไรก็ได้ขอให้เส้นใหญ่ที่สุดเท่าที่จะหาได้ ซึ่งก็ได้ยี่ห้อสิงห์โต จากนั้นจึงจัดการถอดสาย 1 และ 2 ออก นำสาย 3 ไปอยู่ในตำแหน่งของสาย 2 นำสาย 4 ไปอยู่ในตำแหน่งของสาย 3 และเลื่อนสาย 5 และสาย 6 ตามลำดับ เว้นไว้แต่ตำแหน่งของสาย 6 ไว้สำหรับ สายใหม่ที่หาซื้อมา พร้อมกับลดเสียงให้ต่ำกว่าสาย 6 ไป 5 เสียง เป็นเสียง B เราก็ได้ เบสโปร่ง 5สาย ทันสมัยมาก ในภายหลังมีเบสไฟฟ้า 5 สายด้วย เราอาจเป็นคนแรกที่ใช้เบส 5 สายก็ได้ เพียงแต่เป็นกีต้าร์โปร่ง นอกจากนี้แดงก็มีหัวดัดแปลง ซึ่งทำก่อนด้วยโดยเจาะกีต้าร์ของตัวเอง เพื่อใส่สายเพิ่มเป็น 9 สายบ้าง บางทีก็ถอดออกเหลือ 8 สาย วิธีการก็คือเลียนแบบกีต้าร์ 12 สาย แต่เพิ่มเฉพาะ สาย 1 สาย 2 สาย 3 สาย1สาย 2 ก็มี 2 เส้น สาย 3 บางครั้งก็มี 2 เส้น สิ่งที่ได้เสียงน่าฟังขึ้นมาก แต่จับง่ายกว่า กีต้าร์ 12 สาย เพราะ คอกีต้าร์เท่าเดิม

พี่เหมา/วงชาตรี

พลิกตำนานวงชาตรี ตอนที่ 3

topani

แม้ว่าจะผิดหวังจากการแสดงทีตึกอำนวยการ(ตึกกลาง) แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเรารู้สึกท้อ โฟล์คซองชาตรีก็ยังคงดำเนินต่อไป หลังเลิกเรียนพวกเราก็ยังซ้อมดนตรีกันเหมือนเดิม แดงก็ยังเล่นกีตาร์โปร่งตัวเก่ง ป้อมก็ใช้กีตาร์โปร่งของยามาฮ่า ส่วนพี่เหมาก็ใช้เบสโปร่งคีมัส ของเยอรมัน ซึ่งพี่เหมาก็หาซื้อมาจากหลังกระทรวงมหาดไทย เบสตัวนี้ติดคอนเทคช่วยขยายเสียง เวลาใช้กับตู้แอมป์

มีอยู่วันนึง อนุสรณ์ (เจ้าของกลองที่อ้อไปยืมมาเล่นที่ตึกอำนวยการ) เกิดความมุ่งมั่นว่าอยากจะเอาดีทางด้านตีกลองให้ได้ ถึงขนาดลงทุนให้อ้อสอนให้ แค่นั้นยังไม่พอยังลงทุนไปเรียนกลองที่ยามาฮ่าอีก เห็นความตั้งใจแบบนี้ แดงในฐานะของหัวหน้าวง ก็เดินเข้าไปหาอนุสรณ์ พร้อมกับยื่นมือเพื่อรับสมาชิกใหม่เข้ามาในวง ก็เป็นอันว่าครบองค์ประกอบวง 4 คน มีกีตาร์ 2 ตัว เบสโปร่ง 1 ตัว และก็กลอง

ภารกิจหลักของวงหลังจากเลิกเรียนก็คือซ้อมดนตรี อนุสรณ์ก็จัดการดัดแปลงกลองเพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้าย โดยเอาเบาะนั่งรถมาทำเป็นกลอง เพื่อตีให้เข้าจังหวะกัน
ตอนซ้อม ส่วนเบสโปร่ง ก็ใช้กีตาร์โปร่งนั่นแหละ แต่ดีดแค่4สายบน ดีดเป็นเส้น ไม่ตีคอร์ด เหมือนดีดเบสไฟฟ้า เพลงที่ใช้ซ้อมกันขณะนั้นก็เช่น เพลงรอรัก, สู้ไม่ได้จริงๆ ส่วนเพลงใหม่ แดงก็เอาข้อมูลของรุ่นพี่มาขยายความ แล้วก็แต่งเพลงใหม่ ซึ่งก็คือ เพลงจากไปลอนดอน ซึ่งเวลาที่ซ้อมกันเพลงที่แดงแต่งจะไม่มีตัวแนบ จึงทำให้ต่างคนต่างก็ไปคิดลูกเล่นกัน พี่เหมาก็ไปคิดลูกเบสเอง ก่อนที่จะมาซ้อมรวมกัน ส่วนป้อมก็รับหน้าที่ร้องนำ แดงก็รับหน้าที่ร้องประสาน สลับกับร้องนำ

วันหนึ่งในฐานะที่แดงมีประสบการณ์มากกว่า ก็เลยปรึกษากันว่า เพื่อให้ผมงานของวงเป็นที่รู้จัก จำเป็นต้องเผยแพร่ผลงานของพวกเราออกไป ซึ่งในขณะนั้นก็มีการประกวดโฟล์คซอง โดยชมรมโฟล์คซองแห่งประเทศไทย ดังนั้นวงชาตรี เลยถือโอกาสนี้เข้าร่วมประกวดด้วย จึงทำให้ต้องซ้อมดนตรีกันบ่อยขึ้น โดยอาศัยห้องโสตฯ ในการซ้อมดนตรีหลังเลิกเรียน แรกๆก็ยังไม่มีปัญหาอะไร จนมาวันหนึ่งห้องโสตฯ ไม่ว่าง พวกเราจึงต้องย้ายสถานที่ซ้อมดนตรีไปทีห้องน้ำชั้น 2 ที่ไม่มีใครใช้ อยู่ถัดจากห้องโสตไป จะเป็นด้วยบรรยากาศ หรืออะไรก็ไม่ทราบ ทำให้เพลงรักไม่จากจร ซึ่งปกติเป็นเพลงช้าๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงจังหวะกลางเพลง เป็นจังหวะเล่น ก็เลยทำให้เกิดสีสรรใหม่ในเพลงนี้ และเพลงก็เลยเด่นขึ้นมา จากจุดนี้เอง ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงชาตรีเข้ารอบในการประกวด

ช่วงนั้นกติกาการประกวดของชมรมโฟล์คซองมีอยู่ว่า เครื่องดนตรีจะต้องไม่ใช้ไฟฟ้า และต้องนำไปได้ด้วยตัวคนดียว เพราะฉะนั้นอนุสรณ์จึงต้องตีกลองที่มีแต่กลองแต๊ก ฉาบคู่ และฉาบเดี่ยว ตัวกลองใหญ่ และกลองสูงต้องเอาออกไป แถมต้องโชว์ให้กรรมการดูอีกด้วย วิธีการก็คือ อนุสรณ์จะรวบทุกชิ้นไว้ในแขนแล้วยกขึ้นให้ดู ตอนไปออกทีวีช่อง 9 บางลำภู หลังจากเข้ารอบแล้ว หนึ่งในกรรมการตัดสินประกวดโฟล์คซองคือครูไพบูลย์ ศุภวารี เกิดติดใจเพลงที่แต่งเอง เล่นเอง ร้องเอง แบบไทยๆของโฟล์คซองวงชาตรี ครูไพบูลย์จึงชวนไปออกรายการ 120 นาที มัลติแพค ของ ธานินทร์ อุตสาหกรรม ทางวิทยุ ขสทบ. ในบ่ายวันอาทิตย์ (เจ้าของเสียงทุ้มนุ่มลึกที่มีเอกลักษณ์ของครูไพบูลย์ channel A ควรเป็นลำโพงด้านซ้าย Channel B ควรเป็นลำโพงด้านขวา โดยเสียงพูดจะไปทางซ้ายตามคำพูด และวิ่งไปทางขวา) แต่การไปออกรายการวิทยุของครูไพบูลย์ ก็ต้องไปบันทึกเสียงก่อน ซึ่งตอนนั้นครูไพบูลย์มีห้องบันทึกเสียงอยู่แล้ว ชื่อ ไพบูลย์สตูดิโอ

พี่เหมา วงชาตรี

พลิกตำนานชาตรี

topani

 

คำนำ
สวัสดีครับ น้องๆแฟนๆชาตรีทุกคนครับ ยินดีครับ ที่ได้มาเขียนพลิกตำนานชาตรี ให้น้องๆได้รับรู้กัน พี่เหมาขอเล่าเรื่องตั้งแต่วันแรกที่ แผนกช่างภาพ เทคนิคกรุงเทพละกันนะครับ ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ก็มาจากความทรงจำของพี่เหมาเอง ซึ่งอาจจะมีมุมมองที่ต่างไปจากพี่ๆชาตรีท่านอื่น และบางส่วนขอบทความก็ขออนุญาตยืมคำของคุณก่อเขตมาบ้างครับ หากมีข้อผิดพลาดประการใด พี่เหมาก็ขออภัย มาณ ที่นี้ด้วยครับ

ตอนที่ 1

เดือนพฤษภาคม ปี 2517 นักศึกษาใหม่รุ่นที่ 22 ของแผนกช่างภาพ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ได้มีโอกาสได้เห็นหน้าค่าตากันเป็นครั้งแรก เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงจากเหตุการณ์ตุลาวิปโยค 2516 ทำให้นักศึกษาขาดไปประมาณ 2-5 คน จากจำนวนทั้งหมด 45 คน ในสมัยนั้นถือว่าป็นสมัยที่ช่างภาพยุคประชาธิปไตยเบ่งบานก็ได้ รุ่นพี่ไว้ผมยาว สะพายย่าม วันแรกของการเปิดเรียนก็มีงานเลี้ยงน้ำชาที่ห้องโสต ตึกช่างภาพ ซึ่งแอร์เย็นมาก ทำให้เรายิ่งตื่นเต้น แต่ก็นะครับ ใครจะรู้ว่าช่างภาพรุ่นที่ 22 จะเป็นจุดเริ่มต้นตำนานทางดนตรีของเมืองไทย

ในวันแรกที่มาเรียนผมจำได้ว่า ได้ไปทานข้าวกลางวันกับเพื่อนที่ชื่อ อนุสรณ์ ซึ่งเพื่อนคนนี้ใจดีช่วยจ่ายค่าน้ำแข็งเปล่าให้อีกต่างหาก ส่วนเพื่อนอีกคนที่ดูบุคลิกดี สุภาพซึ่งพี่เหมารู้จักตอนสอบสัมภาษณ์ก็คือ พี่ป้อม คฑาวุธ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้นะว่าเค้าชื่อคฑาวุธ เพิ่งจะมารู้จักกันก็เรียนไปซักระยะหนึ่งแล้ว ส่วนเพื่อนอีกคน ที่สุภาพเหมือนกัน พูดคุณๆผมๆ กับทุกคน และจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือใส่เสื้อรัดรูป ตัวเค้าก็ผอมๆ แถมเล่นกีตาร์ แต่งเพลงได้อีกต่างหาก ชื่อ นราธิป หรือ แดง นั่นเอง ส่วนผมเองก็เป็นคนมีดนตรีในหัวใจ เคยเรียนโน้ตมาที่ รร.สุทินเทศารักษ์ 2 เดือน และที่สยามกลการ อีก6 เดือน พอมาเจอคนที่มีดนตรีในหัวใจด้วยกันก็เลยสนิทสนมกับนราธิปอย่างรวดเร็ว

ในตอนนั้นแดงชอบเอากีตาร์ มาเล่นที่วิทยาลัยในยามว่าง ซึ่งเพลงที่ร้องบางทีก็เป็นเพลงฝรั่งเช่น ของวง LOBO หรือบางทีก็เล่นเพลงที่แดงแต่งเอง ก็สนุกสนานกันไปในตอนนั้น จนมาถึงวันหนึ่ง แดงชวนผมไปดูการประกวดดนตรีโฟล์คซอง ซึ่งใช้กีตาร์โปร่งเป็นหลัก ก่อนหน้านั้นตอนที่แดงเรียนอยู่ที่ อัสสัมชัญคอมเมิร์ส หรือ ACC ก่อนจะมาเข้าเทคนิคกรุงเทพ แดงกับเพื่อนก็เคยประกวดวงดนตรีโฟล์คซอง ของชมรมโฟล์คซองแห่งประเทศไทย รู้สึกว่าตอนที่ประกวดจะเป็นครั้งที่ 1 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ทีนี้มาถึงเพื่อนอีกคน ป้อมหรือ คฑาวุธ ตอนนั้นกำลังหัดเล่นกีตาร์ใหม่ๆ พอเห็นแดงเล่นกีตาร์เก่งก็อยากจะเล่นเก่งบ้าง ก็เลยลงทุนคารวะให้แดงเป็นครูสอน คิดดูว่าตั้งใจขนาดไหน บ้านป้อมอยู่สำเหร่ เทคนิคกรุงเทพอยู่สวนพลู แต่ป้อมนั่งรถไปถึงบ้านแดงที่สี่แยกจักรพรรดิพงษ์ สะพานดำ เพื่อไปเรียนเทคนิคการเล่นกีตาร์ เรียกว่าเอาใจครูแดงสุดฤทธิ์

จนกระทั่งปิดเทอมตอนปีหนึ่ง ได้ไปบ้านป้อมที่สำเหร่ ตอนนั้นป้อมก็เล่นกีตาร์เป็นแล้ว ก็ชวนกันตั้งวงโดยยกตำแหน่งหัวหน้าวงให้แดง เพราะแดงอายุแก่กว่า 2 ปี แถมแต่งเพลงเก่งด้วย จำได้ว่าตอนนั้นตกลงตั้งวงกันทางโทรศัพท์ เพลงแรกที่เล่น คือ รอรัก ของแดง ซึ่งผมกับป้อมก็ซ้อมกันไปก่อนสองคน ที่ห้องมืดของบ้านป้อม

และนี่ก็เป็นจุดเรื่มต้นของวงดนตรี ธรรมดาๆวงหนึ่ง มีนักดนตรี 3 คน มีกีตาร์โปร่งเป็นอาวุธ เรียกว่า โฟล์คซองชาตรี ตั้งแต่ตอนนั้น

พี่เหมา วงชาตรี

 

วงชาตรี…โฟล์คซองขวัญใจวัยรุ่น

วงชาตรี…โฟล์คซองขวัญใจวัยรุ่น   ร่วมรำลึกโดย…แววดาว

ชาตรี วงดนตรีแนวโฟล์คซองชื่อไทยๆ ในอดีต ที่มีการรวมกลุ่มทำงานเพลงกันมานานกว่า 10 ปี โดยเป็นการเริ่มรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อน 3 คนคือ นราธิป กาญจนวัฒน์ ตำแหน่ง หัวหน้าวง, ประเทือง อุดมกิจนิภาพ ตำแหน่ง มือเบส และ คฑาวุธ สท้านไตรภพ ตำแหน่ง มือคีย์บอร์ด และ ร้องนำ ตั้งแต่สมัย ที่แต่ละคนยังเป็นเพียงนักศึกษา และต่อมา ก็ชวนเพื่อนเข้ามาอีกคน ชื่อ ทวีชัย แต่ก็อยู่ร่วม วงกันไม่นาน เพราะมีภารกิจส่วนตัว จึงต้องออกจาก วง ชาตรี ไป ต่อมาอีกไม่นานนัก จึงได้ชวนเพื่อน เข้ามารับ ตำแหน่ง มือกลอง เพิ่มขึ้นอีกคน คือ อนุสรณ์ คำเกษม ซึ่งหลังจากที่ วงชาตรี มีโอกาส เข้าร่วม ประกวดโฟล์คซอง ฝีมือก็เข้าตากรรมการอย่างครูไพบูลย์ ศุภวารี ถึงขั้นชักชวนให้ วง ชาตรี อัดเพลง มาออกในรายการ วิทยุของ ครูไพบูลย์เอง ด้วยลีลาการแต่งเพลง และเล่นเพลง ด้วย กีตาร์โปร่ง อันเป็น เอกลักษณ์ของ วงชาตรี เอง ทำให้เสียงเพลงเป็นที่ติดอกติดใจ นักฟังเพลงยุคนั้น ได้อย่างรวดเร็ว

วงชาตรีและในปี พ.ศ. 2518 นั้นเอง ” จากไปลอนดอน ” ผลงานเพลงชุดแรกของ วง ชาตรี ด้วยการ เล่นดนตรีด้วยกีตาร์โปร่งล้วนๆ ก็ออกสู่ตลาด จากการที่เป็นวงดนตรีที่รักความอิสระ เพลงทุก เพลงในชุด จึงเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเองตามแนวเพลงที่ตัวเองพอใจ ด้วยคำร้องที่ฟังง่ายๆ สบายๆ ทำนองเพลง ไม่โอนเอน ไปตามกระแสนิยมเพลงสากลในยุคนั้น ก่อเกิดความแปลกใหม่ในวงการเพลง ในยุคสมัยนั้น นอกจากเพลง จากไปลอนดอน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงแล้ว ยังมีเพลงอื่น ในชุดนี้ ที่เป็นที่ถูกใจของนักฟังเพลง เช่น”คืนมาครองรักกัน” ยังจำได้ดีถึงวลีที่ติดหูของเพลงๆ นี้ คอยแต่ … คอยแต่ … เธอหวนคืนมา… เธอหวนคืนมา คืนมาครองรักกัน… และอีกเพลงที่ท่อนสร้อย เป็นที่สะดุด หูนักฟังเพลงก็คือเพลง “จับปลาสองมือ” ที่กล่าวถึงหญิงเจ้าชู้ที่คบชายพร้อมกันทีละ 2 คน … แม่คุณเอ๋ย… จับปลาสองมือ… รักไม่ซื่อ… แน่ใจหรือ… ถือว่าเธอเก่ง… ทางบทเพลงรัก… ไม่คิดพักใจ… ให้ใครสักคน… นอกจาก 3 เพลงนี้แล้ว เพลงอื่นๆ ในชุดนี้ก็ยังมี รักเธอจนหมดหัวใจ, ผิดไปแล้ว, เลือกเกิดไม่ได้ , เธอเท่านั้น, สัมผัสรัก และหญิงคนนี้

หลังจากนั้นไม่นาน เพียงต้นปี พ.ศ. 2519 ชาตรี ก็ได้ออกผลงานชุดที่ 2 ออกสู่ตลาดทันที โดยมี เพลง ที่ฮิตเปรี้ยงปร้างในยุคนั้น ตามสไตล์ ชาตรี เอง คือเพลง” แฟนฉัน” จุดเด่นของเพลงนี้ อยู่ที่การ บรรยายถึงความรักของชายหนุ่มที่มีต่อแฟนสาว โดยมีการกำหนดการแบ่งเวลาของตัวเอง ในการพบแฟน และการเข้าเรียน และอีกเพลงหนึ่งคือฉันไม่เคยรักใครจริง ที่บรรยายถึงความ เจ้าชู้ของชายหนุ่ม ที่ไม่เคยมีรักแท้ต่อหญิงสาวที่คบหากันอยู่ ฉันไม่เคยรักใครจริงจัง หวังเพียงทาง ขอคลายอารมณ์ เมื่อได้สมใจก็บินหนี … สมใจก็บินหนี …

จากปกเทป จะเห็นว่า เป็นเทปที่รวม 2 อัลบั้มอยู่ในตลับเดียว ไม่ใช่หมายความว่า ชาตรี จำหน่าย เพลง 2 ชุดพร้อมกันโดยการออกเป็นเทปตลับเดียวกัน แต่เป็นเพราะว่า การทำเพลงในยุคนั้น ยังไม่มีการ ออกเป็นเทปคาสเซ็ต แต่ราคาของแผ่นเสียงก็ค่อนข้างสูง นักฟังเพลงหาซื้อไม่ได้ทุกคน จึงต้องเริ่มบันทึก เป็นเทปคาสเซ็ตออกจำหน่ายในเวลาต่อมา จึงเป็นการรวมเพลงทั้ง 2 ชุดอยู่ในตลับ เดียวกัน

การทำงานของ วง ชาตรี ยังดำเนินต่อมาอีกนานนับ 10 กว่าปี โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง นักดนตรีเลย หลังจากที่ชวนเพื่อนชื่อ ประยูร เมธีธรรมนาถ มาร่วมวงอีกคนใน ตำแหน่งคีย์บอร์ด เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 กับผลงานเพลงอันคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างเสมอต้นเสมอปลาย มากกว่า 10 ชุด ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปตามวิถีทางชีวิตของตัวเอง เหลือเพียงตำนานเพลงไว้ให้นัก ฟังเพลงรุ่นหลังได้รำลึกถึงวงดนตรีโฟล์คซองที่มีชื่อเสียงมากในวงการเพลงเมืองไทย

วงชาตรีทักทาย

วงชาตรี

พี่ๆวงชาตรีมีจดหมายมาฝากพิเศษแก่ชาวเวบเพลงเก่า
และแฟนเพลงชาตรีทุกท่านนะครับ

pranarathip1handwrite_narathip2

pom_letter
pui_letter

mao_letter

yun_letter

เปิดแฟ้มชาตรี

วงชาตรี

(คัดลอกจากหนังสือ เดอะสตริง อันดับ 6 พศ.2528)
มอลลี่ & ดา : สัมภาษณ์เพิ่มเติม

วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ แผนกช่างภาพ เป็นจุดเริ่มต้นของวงชาตรี เมื่อปีพ.ศ. 2518

นราธิป กาญจนวัฒน์ หัวหน้าวง

ประเทือง อุดมกิจนุภาพ มือเบส

คฑาวุธ สท้านไตรภพ มือคอร์ด และร้องนำ

interview_pic1

ทั้ง 3 คนเรียนอยู่ห้องเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ปีที่ 2 นราธิป กาญจนวัฒน ซึ่งเป็นคนรักดนตรีมาแต่เดิม ได้แต่งเพลงเอาไว้หลายเพลงทีเดียว ได้ชวนเพื่อนอีก 2 คนคือ ประเทือง อุดมกิจนุภาพ และคฑาวุธ สท้านไตรภพ มาร่วมกันทำผลงานที่มีอยู่ให้เป็นชิ้นเป็นอัน

แต่ก่อนที่จะมาเป็นคำว่า “ ชาตรี ” นั้น ทั้ง 3 คนได้วิเคราะห์วงการเพลงในระยะนั้นว่า ทำไมวัยรุ่นไทยจึงชอบเพลงฝรั่งกันนัก เมื่อพิจารณาดูก็พบว่า เพลงฝรั่งที่วัยรุ่นชอบกันนักชอบกันหนานั้น มีข้อน่าสังเกตคือ

1. มีจังหวะสนุกสนาน

2. ทำนองน่ารัก

3. ฟังง่าย ถึงแม้จะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษก็ตาม

วัยรุ่น เป็นวัยที่กำลังอยู่ในความใฝ่ฝัน ทะเยอทะยาน เป็นวัยที่อยู่ในวัยรัก บ้างก็เพิ่งจะริรัก บ้างก็เพิ่งจะผิดหวังกับความรัก ฉะนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีความสุขและพอใจ พวกเขาเหล่านั้นก็จะรับเอาไว้อย่างง่ายดายทีเดียว

จากเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว ทำให้ทั้ง 3 คนได้ข้อคิดในการทำเพลงให้วัยรุ่นชอบ แต่การที่จะให้วัยรุ่นชอบผลงานของพวกเขาเท่านั้นยังไม่พอ เขาทั้ง 3 คนต้องการให้วัยรุ่นไทยรักและชอบเพลงไทยมากกว่าที่เป็นอยู่ นั่นหมายความว่า เขาทั้ง 3 คนจะต้องสร้างค่านิยมแห่งความเป็นไทยให้วัยรุ่นได้เห็นและชอบให้ได้

ดังนั้น เขาทั้ง 3 คนจึงได้ตกลงใจว่า จะตั้งชื่อวงเป็นชื่อแบบไทยๆ นี่แหละ คำว่า วง “ ชาตรี ” จึงได้เกิดขึ้น

เมื่อเริ่มแรกนั้น วงชาตรีใช้กีตาร์โปร่งทั้ง 3 ตัว เมื่อถึงวันเลี้ยงน้ำชาต้อนรับน้องใหม่ของแผนกช่างภาพนั้น วงชาตรีได้มีโอกาสโชว์เป็นครั้งแรก ที่นั่นเป็นจุดแรกเกิดของเรา และหลังจากนั้น ก็ได้แสดงให้นักศึกษาเทคนิคได้ชมที่หอประชุมใหญ่

ต่อมาวงชาตรีเห็นว่า การเล่นกีตาร์เพียง 3 ชิ้นยังไม่แน่นพอ จึงได้ชวนเพื่อนคนหนึ่งชื่อ ทวีชัย มาร่วมวงด้วย แต่ทวีชัยอยู่กับวงชาตรีได้ไม่นาน ก็ต้องจากวงชาตรีไป เพราะมีภารกิจต้องไปช่วยคุณพ่อดำเนินกิจการต่อที่ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น วงชาตรีจึงเหลือสมาชิกเพียง 3 คนตามเดิม

interview_pic2อยู่ต่อมาอีกไม่นานนัก วงชาตรีก็เกิดมีความคิดอยากจะได้มือกลองขึ้นมา ก็เลยชวนอนุสรณ์ คำเกษม ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนอยู่ห้องเดียวกันมาร่วมวงชาตรีอีกคนหนึ่ง ตอนนั้นอนุสรณ์เพิ่งหัดเล่นกลองใหม่ๆ ตอนนั้นใช้เบาะรองนั่ง เอามาทำเป็นกลองตีเล่นไปก่อน และในที่สุด ก็ได้รวบรวมเงินจำนวนหนึ่งไปหาซื้อกลองเก่ามาหนึ่งชุด เพื่อนๆ ที่เรียนอยู่ห้องเดียวกันอุตส่าห์ไปช่วยกันถือกลองคนละไม้คนละมือจากที่บ้านของอ นุสรณ์ ซึ่งอยู่ ก.ม. 8 มีนบุรี ขึ้นรถเมล์ไปเทคนิค ทุกๆ เย็นที่แผนกช่างภาพ วงชาตรีจะซ้อมดนตรีที่นั่น บางครั้งก็แอบซ้อมตอนยังไม่เลิกเรียน จนโดนท่านอาจารย์ว่าเอาหลายหน

รุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเคยเรียนอยู่ที่แผนกช่างภาพ แต่ตอนนั้นเรียนจบแล้ว ชื่อ วิทยา ชัยชาญทิพยุทธ มักจะหางานมาให้วงชาตรีเสมอ ตอนนั้น วงชาตรียังไม่มีเครื่องเสียงเป็นของตัวเอง พี่วิทยาจึงให้วงชาตรียืมเงินจำนวนหนึ่งไปซื้อเครื่องเสียง เอาแบบพอไปได้ ทำในเมืองไทย และนั่นแหละ วงชาตรีจึงได้มีเครื่องเสียงเป็นของตัวเองเสียที

ระยะนั้นได้ยินข่าวว่า มีการประกวดโฟล์คซอง ซึ่งทางชมรมโฟล์คซองเป็นผู้จัดขึ้น วงชาตรีก็ได้เข้าร่วมประกวดครั้งนี้ด้วย ในกติกาการประกวดบอกว่า ต้องใช้เครื่องที่สามารถถือไปได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น มือกลองจึงต้องตัดกลองบางใบออก เมื่อการประกวดผ่านไปจนถึงรอบที่ 2 วงชาตรีก็สละสิทธิ์จากการประกวดครั้งนั้น พอดีคุณครูไพบูลย์ ศุภวารี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินครั้งนั้น เห็นว่าวงชาตรีมีลักษณะแปลก และเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวดี จึงได้ชวนวงชาตรีไปอัดเสียงในรายการ 120 นาทีมัลติเพลก ซึ่งเป็นรายการวิทยุที่คุณครูไพบูลย์ จัดอยู่เป็นประจำ

วงชาตรีได้อัดผลงานให้รายการของคุณครูไพบูลย์ มากมายหลายเพลงทีเดียว จนทำให้แฟนเพลงในรายการนี้รู้จักวงชาตรีมากขึ้น คุณครูไพบูลย์เห็นว่า แฟนรายการเรียกร้องอยากให้ทำเทปของวงชาตรี ดังนั้น ท่านจึงได้ทำเทปของวงชาตรีสำหรับแฟนรายการขึ้น

หลังจากนั้นไม่นานนัก ก็มีคนไปเที่ยวถามหาเทปของวงชาตรีกัน บริษัทเมโทรแผ่นเสียงได้ติดต่อผ่านคุณไพบูลย์ ศุภวารี มายังวงชาตรี ให้อัดแผ่นเสียงกับบริษัท และแล้วแผ่นเสียงชุดแรกของวงชาตรีก็ได้เกิดขึ้น นั่นคือชุด “ จากไปลอนดอน ( ในชุดนี้ใช้กีตาร์โปร่งทั้งหมด ) ระยะนั้น พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์เพลงยังไม่ออก จึงเน้นหนักในการขายแผ่นเสียงเท่านั้น ส่วนเทปที่มีอยู่ในท้องตลาดระยะนั้น ก็มีแต่เทปผีปลอมให้เกลื่อนไปหมด

tape1interview_pic3

จากคำพูดของเราชาตรี บนแผ่นปกหลังแผ่นเสียงในชุด จากไปลอนดอน เขียนเอาไว้ว่า

“ ชาตรี ” ออกจะเป็นความใหม่สำหรับวงการดนตรีในปัจจุบัน ก่อนอื่นจะไม่ขอกล่าวถึงความหมายของคำว่า “ ชาตรี ” แต่จะขอกล่าวถึงจุดประสงค์ของผู้ร่วมอยู่ในวง “ ชาตรี ” คือแสดงออกซึ่งความเป็นไทยในเนื้อหาของเพลงที่มีเอกลักษณ์ประจำตัวคือ เพลงทุกๆ เพลงที่วงชาตรีได้นำมาเล่นและขับร้องนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่พวกเราชาว “ ชาตรี ” ได้แต่งขึ้นเอง เล่นเอง ร้องเองโดยทั้งสิ้น มีความตั้งใจในอันที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้ฟังเพลงให้กว้างขึ้น โดยได้คำนึงถึงอิทธิพลของเพลงสากลที่มีต่อเยาวชนไทยในปัจจุบัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การฟังเพลงสากลของเยาวชนไทย มักจะเน้นหนักไปในเรื่องทำนอง และจังหวะที่ดำเนินไปตามเพลงนั้นเสียมากกว่าการฟังเนื้อหาของเพลง หากจะมีก็คงได้แก่บุคคลที่พอจะมีความรู้ทางภาษาอังกฤษเท่านั้น ฉะนั้น “ ชาตรี ” จึงอยากเสนอผลงานชุดนี้ ซึ่งเหมาะแก่บุคคลทุกระดับ และยังอาจหันเหความนิยมของเยาวชนไทยบางกลุ่มดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ให้กลับมาสนใจในเพลงมากขึ้น ในวันข้างหน้า คำว่า “ ชาตรี ” คงเป็นที่รู้จักกันในวงการเพลงของเมืองไทย และด้วยเหตุนี้เอง พวกเราชาว “ ชาตรี ” จึงใคร่ขอเสนอผลงานเพลงชุดนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะได้รับความสนใจจากผู้ฟังไม่มากก็น้อย

ขอกล่าวถึงบุคคลที่มีพระคุณต่อวง “ ชาตรี ” สองท่าน ท่านแรกคือ คุณวิทยา เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในด้านอุปกรณ์ดนตรี ท่านที่สองคือ คุณครูไพบูลย์ ศุภวารี ท่านเป็นผู้ให้ความสนับสนุนต่อวง “ ชาตรี ” เป็นอย่างดี ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าหากขาดบุคคลทั้งสองท่านที่ได้กล่าวมาแล้ว “ ชาตรี ” ก็คงจะไม่ได้เป็น “ ชาตรี ” ดังเช่นทุกวันนี้

interview_pic9

วงชาตรี เป็นวงรักความอิสระ ไม่ชอบให้ใครบังคับว่า เพลงของชาตรีจะต้องออกมาอย่างโน้นหรืออย่างนี้ และนี่ก็คงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วงชาตรีไม่ยอมไปเล่นประจำที่ไหน

ในต้นปี พ.ศ. 2519 วงชาตรีก็ได้ออกผลงานชุดที่ 2 ให้กับบริษัท เมโทรแผ่นเสียงชุดนั้น คือ “ แฟนฉัน ” และในระยะเดียวกันนั้นเอง คุณครูไพจิตร ศุภวารี ซึ่งเป็นน้องชายของคุณครูไพบูลย์ ศุภวารี ได้ให้ครูไพบูลย์ ช่วยติดต่อวงโฟล์คซองสักวง เพื่อแต่งเพลงให้หนังเรื่อง สวัสดีคุณครู คุณครูจึงได้แนะนำวงชาตรีให้ทำเพลงในหนังเรื่องนั้น

แนวเพลงของวงชาตรีในยุคนั้น ออกไปลักษณะเป็นการเอาใจเด็กๆ เสียมากกว่า ยกตัวอย่างเพลง “ สวัสดีคุณครู ” พอหนังเรื่อง สวัสดีคุณครู ดัง ก็เลยทำให้วงชาตรีเพิ่มความดังขึ้นไปอีก

ต่อมาในตอนปลายปี 2519 วงชาตรีก็ได้ออกผลงานชุดที่ 3 ให้กับบริษัท เมโทรแผ่นเสียงอีกชุด แต่ชุดค่อนข้างจะแปลกสักหน่อยคือ เป็นผลงานของคุณชาตรี ศรีชล ซึ่งเป็นแนวลูกทุ่ง

และพอขึ้นต้นปี 2520 วงชาตรีก็ได้ทำผลงานชุดที่ 4 ให้กับห้างแผ่นเสียงทองคำ นั่นคือชุด “ ฝนตกแดดออก ” ซึ่งเป็นเพลงในหนังเรื่อง “ ฝนตกแดดออก ” และนอกจากนี้ วงชาตรียังได้ทำเพลงให้กับหนังอีกหลายเรื่องเช่น “ รักแล้วรอหน่อย ” “ จ๊ะเอ๋เบบี้ ”

และระยะนั้นเอง ก็เป็นช่วงอวสานของวงการแผ่นเสียง เพราะยอดการจำหน่ายตกต่ำ ความนิยมทางด้านแผ่นเสียงลดน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของวงการเทป มันปรากฎขึ้นมาเหมือนเป็นตัวตายตัวแทน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความบันเทิงเป็นสิ่งที่คู่กับมนุษย์โลกมานานแล้ว เมื่อมนุษย์เบื่อสิ่งหนึ่ง ก็มักหันไปหาอีกสิ่งหนึ่ง เช่น จากแผ่นเสียงหันไปนิยมเทปคาสเซ็ท

ช่วงนี้เอง วงการเพลงกำลังปั่นป่วน เพราะยอดการจำหน่ายแผ่นเสียงลดปริมาณลงอย่างน่าใจหาย และบางห้างถึงกับเลิกกิจการไปก็มี และบางห้างที่เคยเป็นผู้ผลิตแผ่นเสียงก็หันมาเป็นผู้ผลิตเทปแทนก็มี

interview_pic4ถึงช่วงนี้ วงชาตรี อยากได้มือคีย์บอร์ดสักคน แต่ก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน เลยชวนเพื่อนชื่อ ประยูร เมธีธรรมนาถ มาร่วม ปกติแล้วคุณประยูรช่วยเหลือทางด้านระบบเสียงของวงชาตรีอยู่ และเมื่อวงชาตรีต้องการตัวคุณประยูรมาเล่นดนตรีในตำแหน่งคีย์บอร์ด ก็ต้องให้คุณประยูรไปเรียนกันอยู่พักใหญ่

ในต้นปี 2522 วงชาตรีได้มีโอกาสทำเพลงให้กับละครทีวีช่อง 9 เรื่อง “ นางสาวทองสร้อย ” เพลงนี้เองเป็นเพลงแรกที่ประยูรได้มีโอกาสแสดงฝีมือ

ต่อจากนั้น วงชาตรีก็ได้รวมเพลงขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้ชื่อชุดว่า “ รัก 10 แบบ ” ตั้งใจว่าจะให้ห้างแผ่นเสียงทองคำเป็นผู้จัดจำหน่าย แต่ด้วยเหตุผลบางประการที่ตกลงกันไม่ได้ จึงทำให้วงชาตรีจำต้องเก็บเพลงชุด “ รัก 10 แบบ ” เอาไว้ก่อน

วงชาตรีเหลียวมองไปรอบๆ วงการเพลงแล้ว ก็หมดกำลังใจ แผ่นเสียงก็ขายตก แถมเทปก็มีแต่เทปปลอมทั้งนั้น แต่วงชาตรีก็ก้าวไปเรื่อยๆ ก้าวไปสู่ความเป็นธรรม และมั่นคงของศิลปินเพลง

วงชาตรีนั่งคิดนอนคิดอยู่หลายวัน ก็นึกขึ้นได้ว่า เคยมีคนพูดถึงบริษัท อี.เอ็ม.ไอ. ว่าเป็นบริษัทที่มีการทำงานดี ซื่อตรง และเที่ยงธรรมต่อศิลปิน วงชาตรีจึงได้ไปพบกับผู้จัดการบริษัท อี.เอ็ม.ไอ. คือคุณ ประมาณ บุษกร เมื่อคุยกันอยู่พักหนึ่ง เราทั้งสองฝ่ายก็ได้พบว่า ; เรามีความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และนี่แหละ เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ หรือจะเรียกว่า ชีวิตใหม่ ก็ได้สำหรับวงชาตรี และวงชาตรีได้ตัดสินใจเข้าเป็นศิลปินในสังกัดบริษัทนี้ตั้งแต่นั้นมา

ในที่สุด ประมาณเดือน กรกฏาคม ของปี 2522 นั้นเอง วงชาตรีก็ได้ออกผลงานชิ้นแรกให้กับบริษัท อี.เอ็ม.ไอ นั่นคือชุด “ รัก 10 แบบ ” และจังหวะนี้เอง เป็นจังหวะที่พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์เพล งได้ออกมาพอดี นั่นหมายถึง แสงสว่างของศิลปินนักเพลงได้ส่องสว่างขึ้นแล้ว

วงการเพลงจะต้องดีขึ้น ศิลปินมีกำลังใจดีขึ้น เท่านี้ยังไม่พอ เราต้องช่วยกันกำจัดนักทำเทปปลอมให้สูญสิ้นไปจากวงการเพลงด้วย อีกหน่อยศิลปินเพลงคนใดดัง จะไม่ดังเพียงอย่างเดียว เขาจะต้องรวยด้วย

ครั้งหนึ่งวงชาตรีเคยเดินทางไปเที่ยวที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก ที่นั่นเป็นที่บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้หาย วงชาตรีได้มีโอกาสคุยกับท่านอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ ท่านก็ได้ฝากข้อคิดว่า ถ้าวงชาตรีมีโอกาสแต่งเพลงละก็ ขอให้แต่งเพลงเกี่ยวกับคนที่ติดยาเสพติด ว่าเมื่อเขาเหล่านั้นหาย และเลิกเสพติดแล้ว พวกเราที่อยู่ในสังคมควรจะให้โอกาสพวกเขาเหล่านั้นได้เริ่มชีวิตใหม่ อย่ารังเกียจพวกเขาเหล่านั้นเลย

tape8 interview_pic5

จากคำพูดของท่านอาจารย์จำรูญ ทำให้วงชาตรีเกิดความคิดแต่งเพลง “ หลงผิด ” และในที่สุด เพลงชุดใหม่ของวงชาตรีก็ได้เกิดขึ้นอีกชุดชื่อ “ ชีวิตใหม่ ” ชุดนี้วงชาตรีนำรายได้จากการจำหน่ายเทปส่วนหนึ่ง ไปมอบให้กับสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เพื่อใช้ในการรักษาคนไข้

หลังจากออกชุดชีวิตใหม่ออกมาได้ไม่นาน นราธิป กาญจนวัฒน์ และคฑาวุธ สท้านไตรภพ 2 ในจำนวน 5 คนของวงชาตรีก็ขอลาบวช 1 พรรษา และหลังจากที่สึกออกมาแล้ว วงชาตรีก็เตรียมตัวออกผลงานชุดใหม่อีก

ปลายปี 2523 วงชาตรีก็ได้ออกผลงานชุด “ รักครั้งแรก ” เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมผลงานของวงชาตรีไม่เคยหยุดยั้งในการขายเลยจากอดีตถึงปัจจุบัน เคยขายยังไงก็ยังมีการขายอยู่อย่างนั้น งานหลักของวงชาตรีก็คือ การนำวงชาตรีออกไปตระเว นแสดงยังต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย พร้อมทั้งนำเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสมบัติของวงชาตรีไปด้วยเสมอ

กลางปี 2524 วงชาตรีก็ได้ออกผลงานชุดใหม่มาอีกชุดหนึ่งคือชุด “ สัญญาใจ ” ชุดนี้วงชาตรีทำขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรัก เนื่องในโอกาสที่ประเทืองได้แต่งงานกับสาวชาวหาดใหญ่

วงชาตรีคิดถึง และระลึกถึงบุญคุณอันใหญ่หลวงของแฟนเพลงที่มีต่อวงชาตรีเสมอมา ดังนั้น วง “ ชาตรี ” จึงพยายามที่จะทำผลงานให้ดีที่สุด และถูกใจแฟนเพลงที่สุด วงชาตรีอยากอยู่กับแฟนเพลงนานๆ และนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และเมื่อปลายปี 2524 ทางบริษัท อี.เอ็ม.ไอ. มีความคิดอยากจะให้วงชาตรีออกผลงานแปลก และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับวงชาตรี ชุดนั้นคือชุด “ ชะตารัก ”

ในปี 2525 คือประมาณเดือน พฤษภาคม วงชาตรีก็ออกผลงานออกมาอีกชุดหนึ่งคือ ชุด “ ชาตรีอินคอนเสิร์ต ” ชุดนี้เป็นการแสดงสดที่โรงแรมดุสิตธานี และต่อมาในเดือน ตุลาคม 2525 ชาตรีก็ได้ออกชุด “ รักไม่เป็น ” และในชุดนี้เอง ก็ได้รับตุ๊กตาทองมหาชนในเพลง “ ภาษาเงิน ”

interview_pic6

เดือน มีนาคม 2526 ชาตรีก็ได้ออกอัลบั้มชุด “ รักที่เธอลืม ” ชุดนี้ชาตรีได้รับเกียรติจากท่านพลเอกหาญ ลีลานนท์ ท่านได้มอบเพลงให้ 2 เพลง คือเพลง วันรอคอย และเพลง ใต ้ร่มเย็น ซึ่งเป็นบทเพลงที่เตือนให้คนไทยรักชาติไทยด้วยกันมีความสามัคคี และก็มีเพลงของทางชาตรีอีก 10 เพลง รวมเป็น 12 เพลง “ รักที่เธอลืม ” เป็นอีกชุดหนึ่งที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำขาว คือมียอดขายเกินกว่า 2 แสนตลับ

เดือน ตุลาคม 2526 เป็นความภูมิใจของชาตรีที่เราตั้งใจเอาไว้ว่า อยากจะมีห้องบันทึกเสียงของตนเอง ในที่สุด ผลงานชุดที่ 13 คือชุด “ แอบรัก ” ซึ่งบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงชาตรี ก็ได้ปรากฎสู่สายตาของแฟนเพลงอีกครั้ง เป็นชุดแรกที่เราบันทึกเสียงที่ห้องอัดของเราเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า เราอยากให้ผลงานแต่ละชุดนั้นประณีตพิถีพิถัน ถึงแม้จะใช้เวลานาน แต่ถ้าเป็นห้องอัดเสียงของเรา เราก็สามารถทำได้

interview_pic7

สำหรับปี 2546 เป็นปีที่ 28 ของวงชาตรี ที่นำความใหม่มาสู่วงการเพลง โดยการนำเอาบุคคลหนึ่งที่มีมันสมองเยี่ยมในด้านการเรียบเรียงเสียงประสานคือ คุณโทนี่ แองกิลา ร่วมกับ “ ชาตรี ” ผลิตผลงานชุดที่ 14 โดยใช้ชื่อ “ ชาตรีทศวรรษ ” และเพื่อให้การบันทึกเสียงยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ทาง อี.เอ็ม.ไอ. ได้เชิญเทคนิคเชี่ยนจากสิงคโปร์คือ คุณวินเซนท์ ลิม มาบันทึกเสียง และมิกซ์เสียง

ที่เล่ามาทั้งหมดคือ เรื่องจริงที่ไม่อิงนิยายที่เกิดขึ้นกับเรา “ ชาตรี ” ศิลปินจะยืนหยัดในวงการเพลงได้นั้น สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การต้อนรับจากประชาชน และตลอดระยะเวลา 28 ปีเต็มที่เราอยู่ในวงการนี้ เราระลึกอยู่เสมอว่า แฟนเพลงให้การสนับสนุนเราด้วยดีเสมอมา ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนง บริษัทห้างร้านแผ่นเสียงต่างๆ ชาตรีจารึกไว้ในดวงใจเสมอว่า ท่านไม่ลืมเรา “ ชาตรี ”

interview_pic8

หลังจากที่ “ ชาตรี ” ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในวงการเพลงเมืองไทย จากปี 2518 จนถึงปี 2528 และปีนี้ ก็มีผลงานล่าสุดขื่อชุด “ อธิษฐานรัก ” โดยทาง “ ชาตรี ” ได้ถือฤกษ์ออกวางตลาด 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก ดูช่างเหมาะเจาะกับชื่อเทปชุดนี้เสียด้วย… ครับ !!! ตั้งแต่วันนั้น ปี 18 ถึงวันนี้ปี 46 28 ปี แทบทุกคนที่ให้ความสนใจกับวงการเพลงต้องรู้จัก “ ชาตรี ” เป็นอย่างดี !!!!!

interview_pic10

ประวัติของวงชาตรีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวง จนกระทั่งได้ทำการบันทึกเสียง และดำเนินเรื่อยมาจนถึงชุดสุดท้ายที่ทำการบันทึกเสียง ได้ถูกบันทึกไว้ใน เปิดแฟ้มชาตรี แล้ว การเดินทางไปพบพวกพี่ๆ วงชาตรีในวันนี้ จึงเป็นการไปพบเพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวหลังจากที่พวกพี่ๆ ตัดสินใจเลิกเล่นดนตรี คิดว่า แฟนๆ เพลงของชาตรีหลายต่อหลายคน ก็คงต้องการทราบข่าวคราวเหมือนกัน

ถือโอกาสที่วันเสาร์ที่ 24 พ.ค. บรรดาผู้นำแฟนคลับของชาตรีซึ่งต้องการจะจัดงานมีตติ้ง เพื่อการรำลึกถึงวงชาตรี ได้นัดหมายประชุมเกี่ยวกับการจัดงาน โดยมีพี่ๆ วงชาตรีคอยเป็นที่ปรึกษา พวกเราเลยได้โอกาสมาร่วมวงไพบูลย์ด้วย เพราะไหนๆ ก็ตั้งใจจะทำสกู๊ปพิเศษของวงชาตรีอยู่แล้ว เมื่อจะมีงานมีตติ้งทั้งที จะได้ช่วยกระจายข่าวในเว็บบ้านเพลงเก่าซะเลย และโอกาสนี้ ก็เป็นโอกาสดีที่พวกเราจะได้พบ และพูดคุยกับพี่ๆ วงชาตรีอย่างพ ร้อมหน้าพร้อมตา เชื่อแน่ว่า หลายๆ คนที่ติดตามเว็บบ้านเพลงเก่ามาตลอด ย่อมรู้จักวงชาตรีเป็นอย่างดี และก็ย่อมที่จะอยากรู้เรื่องราวพร้อมทั้งกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวงชาตรีด้วย

การประชุมในวันนั้น ได้เริ่มเมื่อประมาณบ่ายโมง กินเวลาอยู่หลายชั่วโมงทีเดียวกว่าจะเสร็จสิ้นก็ประมาณ 5 โมงเย็น ซึ่งรายละเอียดของกิจกรรมมีตติ้งที่ประชุมกันในวันนั้น ขออนุญาตที่จะไม่เอ่ยถึงในนี้นะคะ ไว้รอให้ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมาแจ้งให้แฟนๆ เว็บบ้านเพลงเก่าได้ทราบกันแน่นอน หลังจากประชุมกันในวันนั้น ก็เป็นการพูดคุยกันระหว่างพี่ๆ วงชาตรี กับแฟนคลับบ้าง กับสื่อมวลชนที่มาทำข่าวบ้าง และพวกเราซึ่งมาพูดคุยถึงช่วงเวลาที่พวกพี่ๆ ได้ห่างหายไปจากวงการเพลงนานถึง 17 ปีทีเดียว

จากชุดสุดท้าย “อธิษฐานรัก” ตอนนั้นพวกพี่ๆ รู้สึก หรือคิดยังไงว่าจะเลิกวง

พี่ป้อม- กับคำถามนี้ พวกพี่ๆ ต่างก็รู้สึกตรงกันว่ามันถึงเวลา หรืออาจจะเป็นจุดอิ่มตัวที่การกระทำอะไรก็ตามแต่ เมื่อดำเนินมาถึงจุดๆ นึง ก็ถึงเวลาที่ต้องแยกย้ายกัน แล้วในช่วงนั้น ก็อาจเป็นเพราะพวกเราตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตมากด้วย เลยทำให้เกิดความเหนื่อย ความล้า หลังจากเปิดตัวอัลบั้มชุด อธิษฐานรัก ที่โลกดนตรีเสร็จปุ๊บ เราก็มาคุยกัน ปรึกษากัน แล้วก็ตกลงที่จะเลิกวงเลย ไม่นานจากนั้น ก็มาออกโลกดนตรีอีกครั้งนึง เป็นการปิดอัลบั้ม แล้วก็ลาแฟนเพลงเลย ไม่มีการตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตเหมือนอย่างชุดอื่นๆ ที่ผ่านมาด้วยซ้ำ ก็รู้สึกนะว่า มันเร็วไป กระทันหัน แฟนๆ ก็แทบไม่เชื่อ จริงๆ แล้วก็น่าจะออกทัวร์คอนเสิร์ตก่อนด้วยซ้ำ แต่อย่างที่บอก ช่วงนั้นมันเหนื่อย มันล้าด้วย

ทีนี้ หลายคนคงอยากรู้กันแล้วสิว่า เมื่อเลิกวงกันแล้ว พวกพี่ๆ เค้าไปทำอะไรที่ไหนกันมาบ้าง

พี่เหมา- พอเลิกวงตอนนั้น ก็มาเริ่มทำห้องอัดเสียงเลย และก็ยังทำอยู่จนทุกวันนี้

พี่ปุ้ย- ตอนที่เลิกวงก็ยังอยู่ที่ อี.เอ็ม.ไอ ทำงานฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ แล้วตอนหลังก็เปลี่ยนไปทำงานกับบริษัทต่างๆ จนมาถึงขณะนี้ ก็เปิดร้านเน็ต

พี่ป้อม- ก็ทำงานมาหลายอย่าง ทำทั้งบ้านจัดสรร มินิมาร์ท ตอนนี้ก็มาช่วยงานโรงเรียน ซึ่งเป็นของตระกูลพี่ป้อมเอง

พี่ยุ่น- ก่อนหน้านั้นก็ทำอยู่อีริคสัน แผนกตู้สาขา แล้วตอนนี้ที่เพิ่งเริ่มทำ ก็ดูโปรเจคเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

ได้ถามพี่ๆ เกี่ยวกับเรื่องวงการเพลงในปัจจุบัน ซึ่งพี่ๆ ก็ให้ความเห็นว่า

พี่ป้อม-เพลงในยุคนี้มีความหลากหลายมากขึ้น มีความแปลกมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว ก็ยังเป็นเรื่องของกระแสนะ เรื่องความเบื่อ เพราะคนเรานี่ก็เรียกว่า เป็นผู้บริโภค เดี๋ยวก็ฮิตแนวป๊อบบ้าง ร็อคบ้าง อะคูสติคบ้าง ซักพักพอเบื่อ ก็เปลี่ยนไปอีกละ ส่วนเรื่องทำเพลง หรือแต่งเพลงบ้างมั้ย ก็ไม่ได้ทำแล้วนะ พอมีงานอื่นทำอยู่ มันก็ไม่มีเวลาที่จะมาทำด้านนี้ สมองก็ต้องไปคิดกับเรื่องงานที่ทำอยู่ อีกอย่างก็ไม่แน่ใจว่า วงการเพลงบ้านเราจะกลับไปเป็นเหมือนเมื่อก่อนหรือเปล่า เดี๋ยวนี้สื่อต่างๆ ก็เป็นธุรกิจไปหมด แต่ก่อนนะ ประชาชนจะมีส่วนในสื่อมากกว่าสมัยนี้ การเปิดเพลงก็ไม่เลือกค่าย ไม่มีคิวเพลง ถ้าดีเจชอบเพลง ก็เปิดให้ ซึ่งตอนนี้ที่เห็นๆ ก็มี รายการยิ้มละไม นี่แหละที่ทำให้รู้สึกว่า ประชาชนยังมีส่วนในการเลือกเปิดเพลงอยู่

อย่างที่เราเริ่มรู้ๆ กันแล้วว่า แฟนคลับชาตรีจะรวมตัวกันจัดมีตติ้งกันขึ้นเร็วๆ นี้ ก็อยากจะรู้ว่า พวกพี่ๆ เค้ามีส่วนรู้เห็น หรือมีความคิดเห็นยังไงกันบ้าง

พี่ป้อม-ก็ดีนะ ดีใจด้วยที่พวกเค้ายังระลึกถึง อยากมาเจอกันอีก เป็นโอกาสดีที่พวกเราจะได้มาสังสรรค์กัน ทำให้หวนถึงความรู้สึกเก่าๆ ความรู้สึกในอดีตที่เคยลืมไปแล้ว และบางคนก็ยังจำไม่ได้ด้วยซ้ำ อย่างน้อย ก็ทำให้เรารู้สึกย้อนกลับไปว่า ในอดีตเคยรู้สึกยังไงกันบ้าง ส่วนเรื่องงานมีตติ้งนี่ พวกพี่ก็ปล่อยให้แฟนคลับเค้าทำกันไป โดยที ่เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย เจตนาจะทำอะไรก็ทำ เพียงแต่ว่า เค้าก็ยังให้เกียรติพวกเรา จะทำอะไร ก็มาปรึกษาว่าอันไหนควร อันไหนเหมาะ

พูดคุยกันมาถึงตอนนี้ หลายๆ คนคงต้องการรู้ว่า ในช่วงระยะเวลานี้ที่วงดนตรี หรือนักร้องหลายคนในอดีต ต่างก็จัดคอนเสิร์ตกันเป็นการรำลึกถึงความหลัง แล้วพวกพี่ๆ วงชาตรีล่ะ คิดจะมีคอนเสิร์ตกับเค้าบ้างมั้ย

พี่ป้อม-จริงๆ แล้ว เรื่องเพลง เรื่องดนตรีนี่ก็อยู่ในอารมณ์ของพวกเราเลยนะ ห่างหายไปนานก็คิดถึง อยากมาสัมผัสกับบรรยากาศเก่าๆ อยากกลับมาคุย มาเล่นกับแฟนเพลงอีก แต่โอกาสล่ะ มันมาถึงหรือยัง เพราะเรื่องคอนเสิร์ตนี่ มันไม่ได้อยู่ที่พี่คนเดียว แล้วก็ไม่ได้อยู่ที่วงชาตรีทั้งวงด้วย แต่มันขึ้นอยู่กับความพร้อม ความต้องการ สังคมยังต้องการเรามั้ย มากน้อยแค่ไหน การจัดคอนเสิร์ตเรายังต้องคิดถึงองค์ประกอบอื่นอีก อย่างเช่นว่า ใครเป็นคนจัด คนดูมีแค่ไหน ความศรัทธาในวงชาตรียังมีเยอะแค่ไหน คนจัดก็ต้องคิดถึงจุดนี้ว่า ขายบัตรแล้วมีคนดูมั้ย ถ้าทุกอย่างพร้อม ก็สามารถจัดได้ พวกพี่ไม่ได้ปิดกั้น หรือปฎิเสธ หรือตอบรับว่าจะจัดหรือไม่จัด เรียกว่า ถ้ามีคนสนใจจ ะจัด ก็โอเค

คำว่า “วงชาตรี” ในความรู้สึกของพวกพี่ๆ คืออะไรคะ

พี่ป้อม – ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำสิ่งต่างๆ แล้วถ่ายทอดให้คนไทยได้ตามเจตนาที่ต้องการ คือต้องการเปลี่ยนให้คนไทยหันกลับมาร้องมาฟังเพลงไทยมากขึ้น เพลงก็เป็นเพลงง่ายๆ ฟังง่ายๆ เล่นง่ายๆ พอหลังจากที่เรามีชื่อเสียงขึ้น ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า คนก็เห็นด้วยกับเรา คล้อยตาม ; แม้กระทั่งเราเลิกวงชาตรีมาจนบัดนี้ คนที่เคยฟังเพลงเรา ก็ยังนึกถึงตรงจุดนึงว่า เพลงของเราร้องง่าย เล่นง่าย เราไม่ได้ทำดนตรีออกมาแค่ฟังเพราะ แต่เล่นไม่ได้ ร้องไม่ได้

พี่เหมา – ครั้งนึงในชีวิตที่มีโอกาสที่จะทำอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งทุกข์ ทั้งสุข เป็นความทรงจำที่ดีที่ปฏิเสธไม่ได้ อย่างบางเพลงที่จู่ๆ ก็เล่นได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เล่นมานาน แล้วก็ไม่ได้ซ้อมด้วย เรียกว่า เพลงอยู่ในจิตสำนึกของพวกเรา

พี่ปุ้ย – มันเป็นความภูมิใจในอดีต ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้มีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ตำนานเพลงไทย ไม่มากก็น้อย เพราะในช่วงที่ทำเพลง ช่วงที่ดัง เราก็ยังไม่มีความรู้สึกอะไรที่ผิดแผกแปลกไปจากคนทั่วไป เราก็ยังเป็นเรา

พี่ยุ่น – ทำให้รู้ว่า ช่วงเวลานึงของขีวิตได้ทำให้คนหลายคนมีความสุข สร้างโลกให้สดชื่น มีเสียงเพลง มีคนกลุ่มนึงชอบ ก็ทำให้เรามีความสุข

 

วงชาตรี

วงชาตรี

tape1โดย ต้น ลาดพร้าว

สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นความรู้สึกของคนฟังเพลงคนนึง ชื่นชอบที่จะฟังเพลงมากมายหลายแบบ ชื่นชอบที่จะร้องรำทำเพลง โดยเฉพาะกีตาร์โปร่ง ต้องบอกก่อนครับว่า เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ได้สัมผัส ไม่เสแสร้ง ( คนอื่นอาจชอบไม่เหมือนผมก็ได้ )

ผมเริ่มฟังเพลงเป็นพร้อมๆ กับที่เริ่มรักเพื่อนผู้หญิงเป็น ตอนนั้น 5 ขวบเห็นจะได้ คุณพ่อคุณแม่ฟังสุนทราภรณ์ เราก็ฟังได้ ตอนนั้นต่อมา กำเนิดความรักทุกรูปแบบได้เกิดขึ้นกับผมแล้ว รักในเสียงเพลง รักเพื่อน มองทุกอย่างรอบตัวสวยสดงดงามไปหมด

เมื่อผมเริ่มโตขึ้น แนวเพลงสตริง ลูกกรุง ลูกทุ่ง สากล เพลงปลุกใจ มีให้ได้ฟังมากมาย วิทยุ FM ก็จะเปิดเพลงลูกกรุง AM ก็เปิดเพลงลูกทุ่ง แนวเพลงสตริงยุค นั้น ถือเป็นความแปลกใหม่ในหมู่วัยรุ่น ทางดนตรีก็จะลอกเลียนสากลซะเป็นส่วนใหญ่ หนังสือเพลง I.S. SONG HIT ของคุณเล็ก วงศ์สว่าง จะต้องมีม้วนไว้ติดกระเป๋ากางเกง ( ไม่งั้นเชยแหลก )

ตอนนั้น กระแสของเพลงสากลมาแรงมาก แนวเพลงสตริงในยุคนั้น จึงต้องทำเพลงสากลเอาใจตลาด เราจะไม่ค่อยได้ยินสตริงที่ร้องเพลงไทยไทย นอกจากวง ดิอิมพอสซิเบิ้ล ซึ่งสร้างสีสันได้มากทีเดียวกับเพลงประกอบ ภาพยนตร์หลายเรื่อง นอกจากนั้น ก็ยังมีบางวง หรือบางคนที่ร้องเพลงไทยในแบบสตริง แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับเหมือน ดิอิมพอสซิเบิ้ล ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

วงชาตรี  เพราะความโดดเด่นของนักร้องนำไงล่ะครับ บดบังทุกอย่างหมดจด เป็นความลงตัวที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่รากเหง้าของ ดิอิมพอสซิเบิ้ล ก็มาจาก เพลงสากลอย่างที่จะปฎิเสธไม่ได้

ถึงปี 2518 คลื่นวิทยุต่างๆ โดยเฉพาะภาค FM เริ่มที่จะมีสถานีเพลง สถานีเพลงและข่าวเป็นกิจลักษณะ บางสถานีมีความโดดเด่นในลักษณะที่มีเพลง สตริงเปิดช่วงยาวๆ เลย มีอยู่เพลงนึง เนื้อร้อง ทำนอง และดนตรีแปลกกว่า ที่ผมเคยได้ยินมา ทำไมเค้าร้อง และเล่นกันง่ายเหลือเกิน จนไม่น่าเชื่อว่า จะนำ ออกสู่ตลาดเพลงยุคนั้นได้ เพลงที่ร้องก็เป็นเพลงไทย จำได้ว่าผมได้ยินเพลง “ลูกขาดแม่” ของเค้าเป็นเพลงแรกเลย ผมพยายามฟังเพลงอื่นๆ ของเค้า ติดตามตลอด ตอนนั้น เทปคาสเซ็ทเรายังไม่รู้จักกันเลย ต้องติดตามว่า สถานีไหนเค้าจะเปิด ผมแปลกใจมากว่า หลายสถานีเปิดเพลงของเค้า กระทั่ง เพลินจนร้องได้ มาที่โรงเรียน เพื่อนๆ ก็ฮัมเพลงให้ฟังหลายคน รู้สึกว่าแนว เพลงเค้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้ลอกเลียนใคร เป็นความแปลกใหม่ที่กล้าหาญ มาก เป็นเพลงไทยล้วนๆ อาจจะมีทำนองสากลบ้าง คอร์ดกีตาร์ก็เล่นง่าย มีอยู่ประมาณ 4-5 คอร์ดช่วงต้นคอกีตาร์จริงๆ เรียบง่าย ประสานเสียงดี เนื้อทำนองน่ารัก ชัดถ้อยชัดคำแบบจริงใจ เค้าทำสำเร็จจริงๆ

แฟนเพลงเริ่มยอมรับความแปลกใหม่ หันมาฟังเพลงไทย มากขึ้น อันนี้คือ จุดหักเหที่สำคัญของวงการเพลงไทยบ้านเราจริงๆ หลายคนไม่ยอมรับเค้า ดูถูกฝีมือเค้า และไม่ยอมรับความ เปลี่ยน แปลงนี้ ซึ่งก็ไม่มีใครฉุดรั้งเค้าได้ เค้าอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า ตอนนั้น เค้าได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการเพลงไทยไปแล้ว และวงดนตรีที่ผมกล่าวถึงก็คือ “ชาตรี” นั่นเองครับ

วงชาตรีต้น ลาดพร้าว
( ปัทม์ ชาญวิทย์การ )

นำกลุ่มชาตรีแฟนคลับ 46

*** ในความรู้สึกต่อท้าย คงไม่มีใครมาแทนที่เค้าได้ เพราะเค้าทั้ง 5 คน เปรียบเสมือนครูบาอาจารย์ทางดนตรีที่ครอบครองหัวใจทั้ง 4 ห้องของผมแล้วครับ

วงชาตรีผลงานของชาตรีมีทั้งหมด 15 ชุด

นอกนั้นเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ และชุดอมตะชาตรี ซึ่งไม่รวมอยู่ใน 15 ชุดนี้

  1. จากไปลอนดอน (พ.ศ. 2518 – ห้างเมโทรแผ่นเสียง)
  2. แฟนฉัน (พ.ศ. 2519 – ห้างเมโทรแผ่นเสียง)
  3. หลงรัก (พ.ศ. 2519 – ห้างเมโทรแผ่นเสียง)
  4. ฝนตกแดดออก (พ.ศ. 2520 – ห้างโรสซาวด์น)
  5. รัก 10 แบบ (พ.ศ. 2521 -EMI)
  6. ชีวิตใหม่ (พ.ศ. 2522 -EMI)
  7. รักครั้งแรก (พ.ศ. 2523 -EMI)
  8. สัญญาใจ (พ.ศ. 2524 -EMI)
  9. ชะตารัก (พ.ศ. 2524 -EMI)
    10.ชาตรีอินคอนเสิร์ต (พ.ศ. 2525 -EMI)
    11.รักไม่เป็น (พ.ศ. 2525 -EMI)
    12.รักที่เธอลืม (พ.ศ. 2526 -EMI)
    13.แอบรัก (พ.ศ. 2527 -EMI)
    14.ชาตรีทศวรรษ (พ.ศ. 2527 -EMI)
    15.อธิษฐานรัก (พ.ศ. 2528 -EMI)

วงชาตรีเพลงประกอบภาพยนตร์

  1. สวัสดีคุณครู
  2. สนุกกันวัยเรียน
  3. รักแล้วรอหน่อย
  4. ผมขอเป็นดวงตาแทนคุณ
  5. โลกนี้ยังมีรัก /ครูขา หนูเหงา วงชาตรีร่วมแสดงด้วย
  6. เพื่อนยามยาก
  7. จ๊ะเอ๋ เบบี้
  8. รักต้นไม้ /จ๊ะเอ๋ เบบี้
  9. นี่แหละ กทม. ( ชื่อเดิม ลูกโป่ง )
    10.เมียจ๋า