บทเพลงใต้แสงดาว – ศุ บุญเลี้ยง

หลายๆ คน ไม่จัดว่า “ศุ บุญเลี้ยง” อยู่ในกลุ่มเพลงเพื่อชีวิต แต่ผมว่าถ้าใครจะตีความคำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” จำกัดแค่เพลงที่เกี่ยวกับ การเมือง เพลงที่ด่ารัฐบาล เพลงปฏิวัติ หรือเพลงอนุรักษ์ ผมว่าคนคนนั้น คิดแคบมาก
คำว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” ที่ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ นิยามไว้ หมายถึง ศิลปะที่สนองชีวิต มากกว่าตัวมันเอง (บทความ: ศิลป์เพื่อศิลป์-ศิลป์เพื่อชีวิต โดย จิตร ภูมิศักดิ์) เพลงที่ให้กำลังใจคนได้ เพลงที่ใช้ท่วงทำนอง ปลอบประโลมวิญญาณเหงาของคน ของพี่จุ้ย หลายๆ เพลง เพลง pop หลายๆ เพลงก็จัดว่าเป็น “ศิลปะเพื่อชีวิต” ได้เช่นกัน เอาเป็นประเด็นนี้ เราคงมีโอกาสถกกันวันหลัง ตอนนี้ขอพูดถึง บทเพลงใต้แสงดาวก่อนละกัน
ศุ บุญเลี้ยง        ผมชอบเพลง “บทเพลงใต้แสงดาว” มาก นับตั้งแต่ได้ยินครั้งแรก สาเหตุคือ เนื้อหา ที่ดูเรียบง่าย เข้าใจง่าย แต่ลึกซึ้งในความหมาย ยิ่งรู้ที่มา ก็ยิ่งชอบ เพราะมันเกิดจากบรรยากาศของ “ค่ายฯ” เช่นกัน เพลงนี้ได้รับรางวัล พิฆเนศทองคำ นักร้องชายยอดเยี่ยม ลองอ่านดูละกัน เอามาจาก Writer อีกแล้วครับ :

ผมได้รับชวนให้ไปถ่ายทำรายการทุ่งแสงตะวัน ปกติแล้วรายการนี้ผมเป็นคนช่วยดูแลเพลงประกอบอยู่ แต่นานๆ จึงจะได้ไปกับเขาสักครั้งหนึ่ง มีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาจะไปถ่ายทำบนโรงเรียนเรือนแพ ทีมงานเขาบอกว่า บรรยากาศที่จะไปถ่ายทำบนโรงเรียนแห่งนี้เด็ดขาดมาก เด็กๆ เรียนกันอยู่บนแพ และเขาตั้งชื่อตอนว่า เรือนแพ-เรือนเพลง เขาอยากจะให้ผมไปเล่นดนตรี ร้องเพลงกับเด็กๆ บนแพ ผมก็เลยนั่งรถ และนั่งเรือหางยาวไป ผมซึ่งมีหน้าที่แต่งเพลงประกอบอยู่แล้ว ก็เลยแต่งมันที่นั่นเลย ท่อนแรกที่แต่ง ผ่านไปเหมือนกับสายน้ำไหล นั่งอยู่ริมน้ำ พร้อมกับนึกว่าเดี๋ยวเราก็ต้องจากกับเด็กแล้ว ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป เราไม่ได้มาช่วยอะไรเขาหรอก แต่งไปจนจบท่อนแรก ท่อนสองก็นึกถึงแง่ดีขึ้นมาว่าบางอย่างมันอาจจะผ่านไป แต่บางอย่างมันก็วนกลับมา หากชีวิตเผชิญกับโชคชะตา ให้วันเวลาบ่มเธอขึ้นมาสู้มัน
ท่อนที่ 3 แต่งต่อไม่ได้ ก็ขึ้นไปบนหลังคาเรือนแพ ตั้งใจว่าจะดูดาวสวยๆ หรือพระจันทร์ดวงกลมๆ พอขึ้นไปกลับพบว่า เมฆมันบังหมดเลย ผมก็เลยเขียนต่อว่า ‘หากมีเมฆมาบดบัง แต่เราก็ยังเฝ้ารอ เฝ้ารอ ค่ำคืนหนาวที่แสงแห่งดาวถักทอ ขอเธออย่าท้อ ฝากความห่วงใยส่งไปถึงกัน’ คือผมอยากบอกว่า ให้คนที่รอความหวังจากคนอื่น ให้เปลี่ยนมาสร้างความหวังให้กับตัวเอง เพราะคนที่อยู่กับตัวเองตลอด ก็คือตัวคุณ คนอื่นแค่ผ่านไปผ่านมา ช่วยเหลือได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ผมเขียนเพลงนี้จบที่นั้น และถือเป็นเพลงที่ใช้ความคิดน้อย แต่ใช้ความรู้สึกร่วมกับบรรยากาศนี่เยอะ พอมาเรียบเรียงก็บอกขุน ตะวัน ว่าให้ช่วยทำดนตรีเหมือนเสียงน้ำไหล เขาก็ใช้เสีบงอังกะลุงมาช่วย มันเป็นเพลงที่ง่าย แต่ตอนที่ร้องกลับรู้สึกอิ่มเอิบ รื่นรมย์ และคนที่ให้รางวัลแก่ผมเขาอาจรับรู้ถึงความรู้สึกในห้วงอารมณ์นั้นได้
แต่ผมคิดว่า ผมไม่ใช่นักร้องที่มีคุณภาพ เสียงดี หรือมีวิธีการร้องที่แปลก มัศักยภาพการร้องสูง แต่ว่าบังเอิญผมมาร้องบทเพลงที่เขียนขึ้นเอง ด้วยความรู้สึกเต็มอิ่ม ตรงนี้มันก็เลยทำให้งานที่ออกมาค่อนข้างชัดเจน

หวังว่า “บทเพลงใต้แสงดาว” จะทำให้คุณ อิ่มเอิบ บ้างนะครับ ใครไม่เคยฟังก็ลองหามาฟัง ใครที่เคยฟังแต่ไม่รู้ที่มา ก็ลองกลับไปฟังอีกทีหลังจากอ่านบทความเสร็จ คงเป็นกำลังใจที่ดีให้ทุกคนนะครับ…

บทความโดย รัตติกาล

โฟล์ค บาว

ได้ชื่อว่าเป็นวงดนตรีที่มีลีลา มีสีสันของงานดนตรีที่จัดจ้าน สนุกสนาน เร้าอารมณ์ จนสามารถส่งงานเพลงคึกๆ ลงแผงมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ คาราบาว” วงดนตรีเพื่อชีวิตอันดับ 1 ของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น งานในรูปแบบของ 3 ช่า หรือว่างานในลีลาร็อค จนทำให้หลายๆ คนดูจะลืมๆ อีกหนึ่งมิติที่พบเห็นได้ในงานเพลงของคาราบาว อย่างความนุ่มนวล สวยงามในบทเพลง รวมไปถึงงานดนตรีอะคูสติค ที่ฟังอบอุ่น จริงใจ ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับทั้งแฟนเพลงของคาราบาว และนักฟังเพลงที่ชอบความงดงามของดนตรีที่ถึงแก่นอารมณ์จริงๆ มาแล้ว
เพื่อย้ำเตือนถึงความงดงาม ความอบอุ่น ความนุ่มนวลในเสียงเพลงของ คาราบาว อีกครั้ง คาราบาวจึงนำงานเพลงเก่าๆ ที่ทุกคนรู้จักกันดีรวม 13 เพลง อาทิ ขี้เมาใจดี, ตุ๊กตา, คนเก็บฟืน, แม่สาย มาทำใหม่อีกครั้งในสไตล์โฟลค์ ซึ่งทุกคนจะได้สัมผัสอีกมิติหนึ่งในงานดนตรีของคาราบาวได้เต็มที่ กับงานที่ใช้ชื่ออัลบั้มว่า “โฟลค์ ’บาว”
โดยอัลบั้ม “โฟลค์ ’บาว” จะวางจำหน่ายออกมาใน 3 รูปแบบพร้อมๆ กัน คือ อัลบั้มเพลง, อัลบั้มเพลงบรรเลงโดยฝีมือของ ปรีชา ชนะภัย และงานในรูปแบบของวีซีดีคาราโอเกะ เพื่อที่แฟนเพลง และผู้ที่สนใจจะได้สัมผัสกับมิติที่นุ่มนวลของคาราบาว ได้ในทุกรูปแบบตามที่ต้องการ โดยวอร์นเนอร์ มิวสิค

ยุคร็อคแอนด์โรล 2503-2515

วงการเพลงของไทยได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด  ทั้งนี้เนื่องจากผลงานเพลงของตะวันตก  อาทิเช่น  วงสี่เต่าทอง (The Beatles), วงเดอะชาโดว์ (The Shadow) ซึ่งเป็นวงดนตรีของประเทศอังกฤษที่เล่นดนตรีให้กับคลิฟ  ริชาร์ด (Cliff  Richard)  หรือนักร้องเพลงร็อคชื่อดัง  เช่น  เอลวิส   เพรสลี่ย์  (Elvis Pressley)  ได้เข้ามาแพร่หลายในเมืองไทย และทำให้วัยรุ่นไทยกลุ่มหนึ่งตื่นตัว กับผลงานเพลงของนักร้องเหล่านั้นอาจจะกล่าวได้ว่าวงดนตรี The Shadow เป็นวงที่มีบทบาทสำคัญต่อนักร้องและนักดนตรี ของไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก  จนถึงกับมีการนำเอาคำว่า  “ชาโดว์”  มาใช้เรียกชื่อประเภทวงดนตรีที่เล่นเพลงสากลในลักษณะที่ใช้เครื่องดนตรี 4 ชิ้น  คือ  กีต้าร์  3  ตัว  และ  กลอง 1 ชุด  วงดนตรีของไทยที่เล่นเพลงสากล  โดยเลียนแบบของตะวันตกที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าวัยรุ่นไทยนิยมฟังเพลงสากลมาก  แต่อย่างไรก็ตามเพลงไทยสากลประเภท  “ลูกกรุง”  อย่างเช่น เพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์  และ “ลูกทุ่ง”  ก็ยังคงได้รับความนิยมควบคู่กันไปด้วย

……………….ในช่วงปลายปี  พ.ศ.2512   ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาตั้งฐานทัพในไทย  ได้มีส่วนทำให้อิทธิพลของเพลงตะวันตกเข้ามามีบทบาทต่อวงการเพลงไทยอีกครั้งหนึ่ง  วงดนตรีที่เล่นเพลงสากลในสมัยนั้น ได้แก่  วงจอยท์ รีแอ็คชั่น (Joint Reaction – วงดนตรีดิอิมพอสซิเบิ้ล), วงซิลเวอร์แซนด์ (Silver Sand),  วงรอยัลสไปรท์ส (Royal Sprites) ฯลฯ  จะเห็นได้ว่านักดนตรีไทยส่วนใหญ่จะเล่นเพลงสากล โดยการลอกเลียนจากแผ่นเสียงเพลงสากลกันเป็นส่วนใหญ่

……………….ต่อมาในปี พ.ศ.2512 “คณะกรรมการจัดการประกวดสตริงคอมโบแห่งประเทศไทย” ของ  สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปภัมภ์  ได้มีการจัดให้มีการแข่งขันประกวดวงดนตรีในแบบ  “สตริงคอมโบ”  ขึ้น  โดยมีกติกาบังคับให้วงดนตรีที่เข้าประกวดจะต้องเล่นเพลง สากล 1 เพลง  เพลงไทยสากล 1 เพลง และ เพลงพระราชนิพนธ์ 1 เพลง  วงดนตรี  จอยท์  รีแอ็คชั่น  ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น  “ดิอิมพอสซิเบิ้ล”  ซึ่งสมาชิกภายในวงประกอบไปด้วย  เศรษฐา  ศิระฉายา,  วินัย  พันธุรักษ์,  อนุสรณ์  พัฒนกุล,  สิทธิพร  อมรพันธุ์ และ  แดน-พิชัย  ธรรมเนียม  ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 ครั้งติดต่อกัน  นับได้ว่า  “เป็นวงดนตรีประเภทสตริงคอมโบของไทยวงแรก ที่สามารถสร้างความรู้สึกเป็นสากล และเป็นวงแรกอีกเช่นกันที่ช่วยบุกเบิกให้วัยรุ่นหันมาฟังเพลงไทยแนวใหม่” และผลจากการประกวดดังกล่าว  ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยตลอดจนผู้ประพันธ์เพลง เริ่มหันมาให้ความสนใจกับวงดนตรีประเภทนี้มากขึ้น  ด้วยการแต่งเพลงไทยสากลที่บรรเลงโดยวงดนตรีสตริงคอมโบ  และเนื่องจากวงดิอิมพอสซิเบิ้ล ได้ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงประกอบภาพยนตร์เรื่อง  “โทน”  ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และนับจากนั้นวงดนตรีสตริงคอมโบก็เป็นที่แพร่หลายในวงการเพลงไทยสากล  ไม่ว่าจะเป็น  วงซิลเวอร์แซนด์, รอยัลสไปรท์ส,  วง  พี.เอ็ม.5,  วงพี.เอ็ม.7,  วงแฟนตาซี,   วงชาตรี,  วงแกรนด์เอ็กซ์  ฯลฯ  วงดนตรีสตริงคอมโบเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเล่นเพลงสากล ตามภัตตาคารและไนท์คลับต่างๆ  โดยเฉพาะบนย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่

 

ที่มา  :  หนังสือ  “กว่าจะเป็นธุรกิจเทปเพลง”

ถึงผู้ (เคย) เป็นความหวังในวงการเพลง

บางคนก็ไม่ยอมเหนื่อยหรือเสี่ยงเพื่อที่จะคิดอะไรใหม่ๆ

ทั้งๆ  ที่มูลค่าแห่งความสำเร็จที่ผ่านมา

น่าจะเป็นหลักประกันได้ต่อความสะดวกสบายของชีวิตพอสมควร

……………….หลังจากการทำงานยืดยาวมาตลอดวัน  ผมและเพื่อนใช้เวลาก่อนแยกย้ายกลับบ้านเพื่อจะวนมาพบกันใหม่ในวันถัดไป  พูดคุยเรื่องต่างๆ  รอให้ถนนว่างรถลงไปบ้าง  หนึ่งในบรรดาเรื่องที่ได้คุยกันก็ไม่พ้นเรื่องดนตรี

……………….เรานั้งคุยกันถึงปัจจุบันของวงการดนตรีไทย  แล้วก็ย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมาไม่นานปีนัก  ประเด็นหนึ่งที่ถูกยกมาพูดถึง คือการก้าวออกไปสู่โลกภายนอกอันกว้างของสังคมดนตรีโลก  และการก้าวออกไปเพื่อประสบความสำเร็จ

……………….นั่นหมายถึงความสามารถที่จะเจาะเข้าไปตลาดเพลงป๊อปของโลก

……………….วงดนตรีอย่างฟองน้ำ  แม้จะได้ไปเปิดการแสดงในหลายประเทศ  แต่ลักษณะของดนตรีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะกระจายการยอมรับและความนิยมไปสู่วงกว้าง

……………….ในอดีตเคยมีศิลปินไทยหลายรายได้มีโอกาสเล่นดนตรีในดินแดนต่างชาติ ต่างภาษา  ทั้งพื้นที่ใกล้ๆ  อย่างไต้หวัน  และในยุโรป  เช่น  ชินดิกซ์,  เอ็กโซติคส์,  วี.ไอ.พี.บางกอก17,  เดอะ สตรีท,  นิวบลัด.  คาไลโดสโคป,  แฟนตาซี  และวงที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะก้าวขึ้นระดับโลกในตอนนั้น  ดิ อิมพอสสิเบิ้ล

……………….เมื่อดิ อิมพอสสิเบิ้ล  ได้แชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 3  ก็ได้รับการติดต่อทาบทามให้ไปเล่นทั้งที่ยุโรปและฮาวาย  ในแวดวงดนตรีถือกันว่าชุดนั้นเป็นชุดที่ดีที่สุด  โดยมีการเรียกตัว  เรวัต  พุทธินันทน์  อดีตสมาชิกวง  เดอะ  แธ้งค์ส  บินไปเสริมทีมคีย์บอร์ด  และร้องนำที่ฮาวาย

……………….ดิ  อิมพอสสิเบิ้ล  ได้บันทึกอัลบั้มชุดหนึ่งในยุโรป  ถ้าจำไม่ผิดชื่อชุด  Hot  Peppers  เป็นเพลงสากลล้วนๆ  ดนตรีเป็นสไตล์ที่นิยมกันในขณะนั้นและเป็นสไตล์ที่  ดิ  อิมพอสสิเบิ้ล  เล่นอยู่นั่นคือ  ป็อป/โซล  ที่มีเสียงกลุ่มเครื่องเป่า  อย่างแนวทางของ  ชิคาโก,  เทาเวอร์  อ็อผ  เพาเวอร์  และ บลัด, สเวท  แทนด์ เทียร์  เป็นต้น

……………….แต่ความสำเร็จระดับสากลยังมาไม่ถึง   ดิ  อิมพอสสิเบิ้ล  ก็ถึงจุดอิ่มตัวเสียก่อน  ที่จะดำเนินความเคลื่อนไหวในวงการดนตรีต่อไป

……………….สำหรับคนที่สนใจติดตามวงการดนตรีไทยอย่างจริงจัง  รู้สึกคล้ายๆ กันว่า  โอกาสที่จะก้าวไปสู่สากลที่เริ่มส่องประกายก็วูบดับลงไป

……………….ไม่นานนักหลังจากสิ้นสุดยุคของ  ดิ  อิมพอสสิเบิ้ล  อดีตสมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง  แยกตัวออกมาสร้าง  ดิ โอเรียลเต็ล ฟั้งค์  น่าจะเป็นอีกควาวหวัง  แต่  ดิ  โอเรียนเต็ล ฟั้งค์  ก็ไม่ได้สร้างผลงานแผ่นเสียง  หรือ เทปมากกว่าเป็นวงที่เล่นประจำตามคลับ  ไม่นานนักวงก็แยกย้ายกันไปตามวิถีทางของแต่ละคน

……………….จุดน่าสนใจอยู่ตรงที่  เรวัต  พุทธินันทน์  ยังคงมีความมุ่งมั้นทางด้านดนตรี  เขาร่วมกับเพื่อนๆ  ในกลุ่ม  บัตเตอร์ฟลาย  ทำผลงานที่ไม่ประสบความสำเร็จทางตลาด  “เรามาร้องเพลงกัน”  แต่คนรักที่จะเห็นวงการดนตรีไทยก้าวไปข้างหน้า  ถือว่าผลงานชุดนี้เป็นงานคุณภาพชุดหนึ่ง  แม้ว่าโดยตัวเรวัต จะมีหน้าที่ร้องเป็นหลักมากกว่าทำดนตรี

……………….ก่อนหน้านั้นมีวงดนตรีที่น่าสนใจ  และมีบทบาทสูงคือ  แกรนด์เอ็กซ์  ผลงาน “ลูกทุ่งดิสโก้”  เป็นผลงานที่น่าสนใจในแง่การประสานป็อปของสากลเข้ากับเพลงไทย  และน่าจะเป็นจุดที่วงดนตรีไทยให้ความสนใจ ในการทำงานที่ยกระดับเป็นสากลมากขึ้น

……………….ถ้าเทียบแนวทางกันแล้ว  “ลูกทุ่งดิสโก้”  มีขอบเขตที่กว้างกว่าแน่นอนในการทำตลาด  ขยายวง  เป็นไม่ขีดไฟอีก้านที่ทำให้นักดนตรี  ซึ่งทำมาหากินด้วยการเล่นประจำอย่างหัดโหมและน่าเบื่อ  มองเห็นทางอยู่รอดในการออกมาผลิตเทปอย่างจริงจัง

……………….ผมกับเพื่อนๆ  ลองมานั่งไล่กันเล่นๆ  ว่า  ตลาดเทปที่เฟื่องฟูขึ้นมาจาก  “ลูกทุ่งดิสโก้”  ทำให้เกิดผลงานเพลงไทยออกมามากมาย  เลยไปถึงเพลงสากลที่ผลิดโดยคนไทย  เราไม่เพียงรู้สึกคึกคักกับการเคลื่อนไหว  แต่ยังได้มองเห็นประกายที่น่าสนใจจากผลงานหลายๆ ชุด  อย่าง 

“เต๋อ 1” ของเรวัต  พุทธินันทน์, 

 “บ้าหอบฟาง” ของ อัสนี – วสันต์  โชติกุล,  

“แดนศิวิไลซ์”  ของ ธเนศ  วรากุลนิเคราะห์,  

“ไปทะเล”  ของ  ปานศักดิ์  รังสิพราหมณกุล,  

“ชรัส  เฟื่องอารมณ์  และ แฟลช”  ของ  ชรัส  เฟื่องอารมณ์,  

“คำก้อน”  ของ โซดา,  “เมดอินไทยแลนด์”  ของ  คาราบาว,  

“อื่นๆ อีกมากมาย”  ของ เฉลียง,  

“ห้วยแถลง”  ของ  พงษ์เทพ  กระโดนชำนาญ,  

กัลปาวสาน”  ของ  สุรสีห์  อิทธิกุล,  

ธรรมดา..มันเป็นเรื่องธรรมดา”  ของ  เพชร  โอสถานุเคราะห์  

และ “Action” ของ  บัตเตอร์ฟลาย  เป็นต้น

……………….แต่ทุกอย่างก็ยังไม่มีอะไรขยับไปมากว่าเก่า  อย่าว่าแต่ขยับเพื่อที่จะก้าวออกไปสู่โลกภายนอกเลย  ราวกับว่าธุรกิจเพลงภายใน  ตีกรอบแนวคิดของศิลปินจำนวนไม่น้อย  ไม่ให้ฝันไปไกลกว่านี้  และความล้มเหลวในตลาดเพลงไทย  ของศิลปินบางราย  ทำให้โอกาสต่างๆ หดแคบลงไปด้วย

……………….เวลาศิลปินหลายรายถูกฉกชิงไปโดยหน้าที่การงานที่แตกต่างกัน  บ้างก็เป็นนักบริหาร  เป็นนักดนตรีและโพรดิวเซอร์รับจ้าง  บางคนก็ไม่ยอมเหนื่อยหรือเสี่ยงเพื่อจะคิดอะไรใหม่  ทั้งๆ ที่ มูลค่าแห่งความสำเร็จที่ผ่านมา  น่าจะเป็นหลักประกันได้ต่อความสะดวกสบายของชีวิตพอสมควร  และบางคนอาจจะทำได้ดีที่สุดเท่าที่เคยทำมาแต่นั้น!

……………….ปัญหาอีกด้านหนึ่งคือ  สังกัดบริษัทเทปส่วนใหญ่  ยังไม่สามารถ  หรือไม่เห็นความสำคัญของการให้ศิลปินของตน  ได้สร้างสรรค์มากกว่าที่เป็นอยู่  ทั้งๆ ที่บางแห่งมีความพร้อมอยู่ค่อนข้างมาก  “ไม่รู้ว่าไม่มีความสามารถที่จะติดต่อทำตลาดในสากล  หรือว่ากลัวจะเสียผลประโยชน์ในประเทศ”  เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยขึ้น

……………….ผมไม่เชื่อว่าความสามารถในการตลาดของเราไม่น่าแพ้ใคร  คงไม่ยากเกินไปที่จะเปิดตลาดกว้างขึ้น  ตราบใดที่เงินเป็นภาษาเดียวในโลกที่พูดกันรู้เรื่องง่ายที่สุด  เรามีศิลปินที่มีระดับความสามารถเทียบชั้นสากลอยู่ไม่น้อย  และความคิดสร้างสรรค์มาจากการสั้งสมเรียนรู้  เราคิดกันได้ถ้าไม่เบื่อที่จะคิดสิ่งที่เราน่าจะขายที่สุดคงเป็นความกล้า

……………….ความกล้าอันเดียวกันที่สร้างพัฒนาการให้วงการดนตรีไทยมาจนถึงทุกวันนี้  ผมไม่แน่ใจว่า  คนที่เคยกล้าสร้างความแตกต่างให้วงการดนตรีไทยในวันเก่าๆ  จนกลายเป็นประกายแห่งความหวังแต่ละครั้ง  ลืมความรู้สืกตอนนั้นของตัวเองไปบ้างหรือยัง

บทความโดย  บุญสนอง  ภิรมย์สม  ในนิตยสาร สีสัน ปี 2532

อัลบั้มขายดียังมีอยู่ 2542

แม้ธุรกิจดนตรีไทยดูเหมือนจะยังไม่ฟื้นฟู  เหมือนสมัยก่อน  เพราะดูจากตัวเพลงฮิทติดปาก  ชนิดที่คนร้องได้หมดทั้งในกรุงนอกกรุง  ในผับหรูจนถึงเพิงขายส้มตำ  ผสมคาราโอเกะ  มีเพียง  “สัญญาเมื่อสายัณห์”  “ใจสั่งมา”  “หัวใจกระดาษ”  และ  “แพ้ใจ”  ที่ดังข้ามมาจากปีที่แล้ว  เพลงดังอื่นๆ  ก็ไม่ได้ครอบคลุมหมด  หรืออาจจะเรียกว่าดังเป็นกลุ่มๆ  ขณะที่สมัยก่อนมีเพลงฮิทระดับเดียวกับที่กล่าวมากกว่านี้เยอะ

……………….แต่วงการดนตรีก็ไม่ถึงกับสิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว  ถึงจะมีของปลอมมาแย่งเงินไปก็ยังมีผลงานขายดีหลายชุด  ซึ่งแน่นอนว่าคล้ายคลึงกับปีที่แล้ว  คือผลงานที่ขายดีลำดับต้นๆ  ของปี 2542 เป็นผลงานที่มาจาก 2 บริษัทเพลงยักษ์ใหญ่  –  แกรมมี่ และอาร์เอส  เหตุผลสำคัญก็ยังเป็นเพราะทั้ง 2  แห่งมีสรรพกำลังทางด้านการผลิต  และโปรโมทที่ได้เปรียบกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็ก  ซึ่งทุกวันนี้โอกาสแจ็คพ็อทสำหรับบริษัทขนาดกลาง และเล็กเหมือนยุคอัลเทอร์เนทีฟเฟื่องฟูแทบไม่มี  แต่ทางบริษัทก็เดินไปได้เรื่อยๆ  ด้วยการทำงานแบบควบคุมขนาด  และมีศิลปินที่มีฐานแฟนเพลงอุดหนุนแน่นอนระดับหนึ่ง  เช่น รถไฟดนตรี  หรือกระบือ แอนด์ โค

……………….มาดูกันว่าใครเป็นใครในลำดับต้นๆ  ของการขายในปี  2542  ข้อมูลที่ได้มาเหล่านี้  มาจากต้นสังกัดจริง  แม้ไม่ลงไปถึงรายละเอียดตัวเลขเป็นเศษ  แต่หากคลาดเคลื่อนก็คงไม่มากนัก  และไม่น่าจะทำให้ลำดับต่างๆ  เปลี่ยนแปลงเมื่อถึงสิ้นปี

……….1. “ดัง”  พันกร  บุญยจินดา (อาร์.เอส)  อัลบั้มชุดแรกที่ออกเมื่อต้นปี  ยอดประมาณ  1 ล้านเศษ

……….2.  X – Venture  รวมศิลปิน (อาร์.เอส)  ยอดกว่า  800,000 ชุด

……….3.  Rock & Roll  โลโซ (แกรมมี่)  ขึ้นไปถึง  800,000  ชุด  และยังมีโอกาสไปได้อีก  เพราะเพิ่งออกขายเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2542

……….4.  “ตู้เพลงสามัญประจำบ้าน”  ธงไชย  แมคอินไตย (แกรมมี่)  800,000 ชุด  เพิ่งออกขายเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2542

……….5.  “บุษบาหน้าเป็น”  นิโคล  เทริโอ (แกรมมี่)  800,000 ชุด  เพิ่งออกขายเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2542

……….6.  “ไท พิเศษ (ระหว่างทาง)  ไท ธนาวุฒิ (แกรมมี่)  700,000 ชุด

……….7.  Ho – Le – Ho – Le  บาซู (อาร์.เอส)  700,000 ชุด

……….8.  อนัน  อันวา”  อนัน  อันวา (อาร์.เอส)  กว่า  600,000 ชุด

……….9.  “โป๊ง โป๊ง ชึ่ง”  รวมศิลปิน (แกรมมี่)  600,000 ชุด

……….10.  คนธรรพ์ณธร”  ธรรพ์ณธร  ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา (อาร์.เอส)  500,000 กว่าชุด  สำหรับอัลบั้มชุดนี้ตัวเลขตัดแค่ 1 ธันวาคม 2542  ออกวางไล่ๆ กับ โลโซ

……………….จะสังเกตได้ว่าบางชุดยังมีโอกาสทำยอดสูงกว่าที่ลงไว้  เพราะเพิ่งออกวางจำหน่ายได้ไม่นาน  และยังไม่สรุปการขาย

……………….สิ่งที่น่าดีใจพอสมควรคือ  มีผลงานอัลบั้มระดับหลักแสนต้นๆ อีกมาก  เพราะยุคนี้เขาพูดกันว่า  “ห้าหมื่นก็หรูแล้ว”

……………….สำหรับสายลูกทุ่ง  การผลิตอัลบั้มในแวดวงนี้ไม่ใช่ปีละชุด  ศิลปินบางรายออกอัลบั้มถึง  5 ชุดใน 1 ปี  และในสังกัดต่างๆ กัน  ส่วนใหญ่นักร้องลูกทุ่งมักใช้วิธีเก่า  คือลักษณะจ้างร้องเป็นชุดๆไป  แต่ก็มีบ้างที่ผูกกับสังกัดหนึ่ง

……………….ในสายนี้  ไมค์ ภิรมย์พร  นำหน้ามาด้วยยอดกว่า 1 ล้านชุด  จากผลรวม 3 อัลบั้ม และที่ขายได้มากที่สุดคือ  “ยาใจคนจน”

……………….อันดับ 2 คู่คี้กัน  ยุ้ย  ญาติเยอะ  และจินตหรา  พูนลาภ  อยู่ระหว่าง 6-700,000 ชุด  จากหลายอัลบั้ม  ตามมาห่างๆ  โดย  เสรี รุ่งสว่าง  ที่กลับมาแจ้งเกิดด้วยเพลง  “เรียกพี่ได้ไหม?”

……………….ส่วนเพลงสากลในตลาดเมืองไทย  คนฟังเพลงบ้านเรายังนิยมอัลบั้มรวมเพลง  จะเห็นได้ว่าอัลบั้มขายดีอันดับต้นๆ  ตามร้านขายแผ่นเสียงใหญ่ๆ มักจะเป็นอัลบั้มประเภทรวมเพลงที่นำหน้ามาก็เป็น  Max 5  และที่ขายได้น่าตื่นเต้นคือ  อัลบั้มซาวน์ดแทร็ค  Notting Hill  ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอีกครั้งที่อัลบั้มซาวน์ดแทร็คขายได้มากมาย  หลังจาก Titanic ของปีที่แล้ว

……………….สำหรับอัลบั้มปกติของศิลปิน  ลำดับต้นๆ  ก็ไม่พ้น  ริคกี้  มาร์ติน,  มาไรอาห์  แครี่ย์  และเซลีน ดิออน  สองรายหลังนี้ยังมีโอกาสเดินไปได้อีก  เพราะเพิ่งวางขายไม่นาน

……………….เหล่านี้เป็นรายงานในกลุ่มที่ขายได้ลำดับบนๆ  ส่วนประเภทที่ขายตกต่ำจนน่าแปลกใจไม่มี  เพราะในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ถือเป็นเรื่องปกติ (ไม่ฮา)

บทความในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 11  ฉบับที่ 9  ธันวาคม  2542

มหันตภัยของวงการเพลง

มันจุกอกเป็นแถว  ไม่ใช่เฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างเดียวที่ทำให้วงการดนตรีไทย เดินไปอย่างเซื่องๆ ซึมๆแต่ปัญหาใหญ่คือเทปและซีดีปลอม

……………….กลายเป็นเรื่องตลอกเพราะท่ามกลางความเซื่องซึม  ปัญหาเทปและซีดีปลอมได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหว  อย่างคึกคักของบรรดาบริษัทเพลงต่างๆ  ถึงขนาดมีการรวมตัวกันเข้าไปร้องเรียนรัฐบาล  และที่ตลกกว่าคือ  เมื่อมีการจับซีดีปลอมรายใหญ่  กลางเป็นกิจการที่มีคนในรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง

……………….ทุกวันนี้  บริษัทเพลงต้องสูญสัดส่วนในตลาดไปมากเพราะเทปปลอม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

……………….ใครเป็นคนทำเทปและซีดีปลอมนั้น  คนในวงการค้าขายเพลงรู้ๆ กันอยู่  แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่จะจับให้มั่นคั้นให้ตาย  แหล่งผลิตเทปและซีดีปลอมมีอยู่ทั่วไป  และเลยไปไกลถึงคินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน  ว่ากันว่าหลายแห่งมีความเกี่ยวกันกับบริษัทจัดจำหน่ายรายใหญ่  หรือยี่ปั๊วบางราย  และการจับเทปหรือซีดีปลอมหลายครั้งก็มีอิทธิพลบีบให้ต้องปล่อย

 ……………….ตอนนี้เทปและซีดีปลอมยิ่งแพร่หลายหนักหน่วงกว่าเดิม  ไม่ใช่เฉพาะแหล่งขายเดิมที่คนซื้อรู้กันเท่านั้น  แต่กระจายไปทั่วประเทศ  ผู้บริหารบริษัทเพลงใหญ่รายหนึ่งเล่าว่า  การเปิดตลาดนัดตามที่ต่างๆ ก็เป็นตลาดที่สำคัญอย่างยิ่งของเทปและซีดีปลอม  และตลาดนัดสมัยนี้ไม่ใช่นานๆเปิดที  แต่เปิดเป็นประจำทุกวันหยุด  คนซื้อเทปยินดีคอตลาดนัดเพื่อซื้อเทปในราคา  40  บาท  มากกว่าราคา  80  บาทแน่นอน

……………….อีกสัดส่วนการขายที่ลดลงมาจากเครื่องเสียงที่ทันสมัย  ทำให้มีการก็อปปี้เทปแจกจ่ายหรือขายกันในหมู่เพื่อนฝูงได้ง่าย  คนฟังที่ไม่ได้ชื่นชอบศิลปินเป็นพิเศษ  ถึงขนาดต้องซื้อเทปหรือซีดีของจริงเก็บเป็นคอลเล็คชั่น  ย่อมไม่ปฏิเสธการฟังเพลงที่ไม่ต้องดูหน้าตาหรือรายละเอียดบนปก  อีกส่วนหนึ่งก็สามารถเลือกเพลงได้  โดยไม่ต้องจำกัดอยู่กับศิลปินรายใดรายหนึ่ง

……………….นอกจากนี้  ความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์  ทำให้เกิดระยย MP3  ซึ่งสามารถฟังเพลงได้หลายร้องเพลงจากคอมพิวเตอร์  และอาจมีการลักลอบบันทึกนำออกมาขายอีกต่อหนึ่ง

……………….จากทั้งหมดที่ไล่เรียงมานี้  ผู้บริหารบริษัทเพลงอีกอห่งถึงกับบอกว่า  ทุกวันนี้สัดส่วนของปลอมกับของจริงในตลาดอาจถึงครึ่งต่อครึ่ง

……………….แรงกระทบนี้ในที่สุดก็ถึงศิลปินอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น  แต่ไม่ได้หมายความว่าจัดการจริงๆ  ไม่ได้  เพียงแต่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ  (ถูกกฏหมาย)นี้  ต้องร่วมกันสู้ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ  และพอสะดุดตอเข้าหน่อยก็แหยง

……………….ถ้าแค่นั้นก็สวัสดีลาก่อน

บทความในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 11  ฉบับที่ 9  ธันวาคม  2542

ศิลปะแห่งการหยิบยืม

มีคนทำเพลงหลายประเภท  แต่ก็มีประเภทหนึ่งซึ่งไม่ชอบคิดเอง

แต่ไปยืมของชาวบ้านอื่นเมืองอื่นเขามา  มีคนฟังเพลงหลายประเภท

แต่ก็มีประเภทหนึ่งคอยแต่นั่งจับว่าคนไหนทำเพลงไม่ได้คิดเอง

แต่ไปยืมของชาวบ้านอื่นเมืองอื่นเขามา

……….มีคนทำเพลงหลายประเภท  แต่ก็มีประเภทหนึ่งซึ่งไม่ชอบคิดเอง  แต่ไปยืมของชาวบ้านอื่นเมืองอื่นเขามา  มีคนฟังเพลงหลายประเภท แต่ก็มีประเภทหนึ่งคอยแต่นั่งจับว่าคนไหนทำเพลงไม่คิดเอง  แต่ไปยืมของชาวบ้านอื่นเมืองอื่นเขามา

……….ปัญหาก็คือ  อะไรคือคล้ายคลึงเพลงจีน  อะไรคือเพลงฝรั่ง  อะไรคือลอก  อะไรคือยืม  อะไรคือดัดแปลง  อะไรคือได้แรงบันดาลใจ  อะไรคือศิลปะ  อะไรคือธุรกิจ  และอะไรเป็นอะไร

……….ตั้งแต่ระยะที่ผ่านมานี้  ใครๆ  ก็อยากอัดเทป  ใครๆ  ก็อยากเป็นศิลปิน  พยายามทุกอย่าง  ตั้งแต่สมัครประกวดร้องเพลงทั้งหลาย  จนกระทั่งใช้เส้น  ก็เพราะเงินมันดี  ชื่อมันดัง  ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ตัวนักร้องเท่านั้น  ผมพูดรวมไปถึงบริษัทโปรโมทเทปและธุรกิจข้างเคียงอื่นๆ  ในแต่ละเดือนเงินหมุนกันเป็นสิบล้านร้อยล้าน  รวยกันจริง

……….เพราะฉะนั้นเมื่อกลิ่นแบงก์หอมกว่ากลิ่นเนื้อสาวไหนๆ ก็ตาม  ธุรกิจเป็นใหญ่  ยิ่งมีปริมาณเทปออกมายิ่งมากก็ยิ่งดี  ยิ่งรวย

……….ในประเทศนอกนั้น  ศิลปินเพลงคนไหน  กลุ่มไหนออกเทป  ออกแผ่น  อัดอัลบั้มอะไรก็ไม่รู้ละ  ยิ่งใช้เวลานานก็ยิ่งเป็นระดับยิ่งใหญ่  คือเป็นโปรเฟสชันนัล(ภาษาไทยก็มี แปลว่า อาชีพ)  ใครออกปีละ 2 ชุด  ถือว่ากำลังดี  ใครออกปีละชุด  เริ่มไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง  ส่วนใครออก 2 – 3 ปีชุดนี่  ทางบริษัทเทปถือเป็นตัวกาลกิณี

……….เพราะฉะนั้นในประเทศนี้  ยิ่งมีเพลงมากยิ่งดี  เมื่อมีคนทำเพลงเท่าเดิม  สมองเท่าเดิม  แต่จะเอาเพลงมากขึ้น  มีนักร้องมากขึ้น  คนทำเพลงก็เริ่มมีขนาดศีรษะโตขึ้น  พูดจาไม่รู้เรื่อง  จนถึงขั้นลืมญาติสนิทเอาได้ง่ายๆ  ยาแก้อาการนี้ที่ชะงัดก็คือ  ยาดีต้นตำรับจากญี่ปุ่น  คือ  เปิดเค็ตตาล็อกของชาวบ้านอื่นเมืองอื่น  ชอบใจอันไหนก็ชี้เอาแล้วก็ทำตาม  เหมือนเลือกแบบบ้านในหนังสือฝรั่งให้ผู้รับเหมาสร้างตามยังไงยังงั้น  และนี่คือที่มาของเรื่องที่พยายามจะคุยในครั้งนี้ไงล่ะครับ

……….ปฏิกิริยาที่ผู้ฟังเพลงจะเกิดเมื่อได้ยินเสียงเพลงนั้นก็มีหลายแบบ  บางท่านก็กระดิกเท้า  บางท่านก็หัวเราะ  บางท่านก็บอกว่าเพราะ  บางท่านก็บอกไม่เพราะ  แต่มีปฏิกิริยาอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ  และเป็นจุดที่สนุกสนานมากเมื่อได้รู้สึกสนุกกว่าการได้ฟังเพลงนั้นอีก  ก็คือ “เอ๊ะไอ้เพลงนี้มันคุ้นหูนะ”  “อ๋าย….ไอ้นี่มันลอกเพลงฝรั่งมาทั้งดุ้นเลย”  โอ้โห…ดนตรี..แม่ม…ไอ้พอล  ยัง  ชัดๆ”  หรือ  “เฮ้ย  มีงฟังสิ…ตรงนี้บ๊อบ  มาเล่ย์  ตรงนี้คาสิโอเปีย  ตรงนี้สดใส  ร่มโพธิ์ทอง ว่ะ”  ฯลฯ

……….ทีนี้ก็จะเกิดความเป็นปฏิปักษ์กันในสองฝ่ายสำหรับเรื่องนี้  ก็คือคนทำเพลงกับคนฟังเพลง  ส่วนผมในฐานะนักวิจารณ์ก็ต้องทำตัวเป็นกรรมการโดยไม่ต้องมีใครเชิญ  เพราะจริงๆ   แล้วก็รำคาญและเห็นใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย…เมื่อพูดหยั่งงี้ ผมก็จะต้องให้ข้อมูลที่ผมกุขึ้นเองเกี่ยวกับเรื่อง  “ศิลปะแห่งการหยิบยืม”  มาเสียหน่อย

……….มีใครก็ไม่รู้คิดคำเก๋ๆ  ขึ้นมาได้วลีหนึ่งว่า  “การยืมความคิดของใครมาแต่เพียงเจ้าเดียวคือการลอก  แต่การยืมความคิดของหลายๆ เจ้าคือการค้นคว้า”  นั้นแสดงว่าการลอกเลียนหรือการหยิบยืมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ  มีมานานเต็มทีแล้ว  และดูเหมือนจะมีทุกแขนงด้วย  ตั้งแต่การลอกเลียนธรรมชาติของคน  เลียนเสียงสัตว์  เสียงฟ้าผ่า  ลมพัด  จนกระทั่งมีภาษามีวัฒนธรรม  ก็มีการเชื่อมโยง  แลกเปลี่ยนกันใช้  อย่างเรื่องภาษานี่  ถ้าคนไทยสมัยพ่อขุนรามคำแห่งมาฟังภาษาเดี๋ยวนี้  ประเภท  อภิเชษฐ์  หรือซ่าส์  อะไรพวกนี้  ควรจะคิดว่าเกิดผิดประเทศ  เพราะภาษาไทยเราเองก็ยืมเจ๊ก  แจก  ฝรั่ง  เขมร  โปรตุเกส  ฯลฯ  เอามาแทบทั้งนั้น

……….เอาให้ตรงเป้า  ก็เรื่องดนตรีเรื่องเพลงนี่  ทุกประเทศมีการหยิบยืมกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ  (Inport & Export)  ผมเชื่ออย่างนั้น  ชั่วแต่ว่าจะหยิบยืมอย่างมีศิลปะแค่ไหน…เอาไปใช้ดื้อๆ  หรือดัดแปลงใช้  เช่นเพลงไทยเดิมของเราก็เอาอารมณ์ของพม่า  ลาว  จีน  แขก  ฯลฯ มาผสมผนวกได้อย่างสวยงาม  เป็นต้น  หรือ..ให้ชัดๆหนักก็เช่น  เพลงไทย “ม่านไทรย้อย”  นี่ก็เป็นทำนองของเพลงคลาสสิกเพลงหนึ่ง  ซึ่งเมื่อฟังเพลงไทยแล้วก็เป็นได้แนบเนียน  ไม่เคอะเขิน  ฟังเพราะดีเสียอีก  และก็เป็นเพลงอมตะพอๆ กับเพลง  “จันทร์กระจ่างฟ้า”  ที่ใช้ทำนองยิปซีมูนของฝรั่ง  ซึ่งก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร  เพราะว่าเมื่อเสร็จออกมาแล้ว  มันมีศิลปะในการหยิบยืมอยู่นั่นเอง  แม้กระทั่งเมื่อเร็วๆนี้  ก็มีคนเอามานินทาให้ฟังว่า  เพลงชาติไทยเรานี่แหละ  เหมือนเพลงมาร์ชอะไรสักอย่างของฝรั่งเศสหรือออสเตรียแถวๆนี้  ผมก็เลยอ่อนใจ  ไม่รู้จะแคลงใจหรือเห็นใจคุณพระเจนดุริยางค์ท่านดี

……….กลับมาเรื่องศิลปะการหยิบยืม  มันก็มีระดับต่างกันไป  ตั้งแต่มีศิลปะที่สุด  จนถึงไร้สติและหิริโอตตัปปะที่สุด  ซึ่งจากที่ผมคิดเอง  (ใครไม่เชื่อก็ช่าง….ใครเชื่อก็ไม่มีประโยชน์…เอ้อ..)ก็มีดังนี้

……….1.การได้แรงบันดาลใจอย่างไม่ตั้งใจ  เกิดจากประสบการณ์ลึกๆ ของผู้แต่งที่ได้ยินมาได้ฟังมา   แล้วก็ออกมาในงานเพลงอย่างไม่รู้ตัว  ทำให้คนฟังเกิดอาการคล้ายๆ คุ้นๆ  แต่นึกไม่ออกซะทีว่ามันคล้ายเพลงอะไรนั่นแหละครับ  ซึ่งมักจะเกิดบ่อยกับแนวเพลงป๊อป  ไม่ว่าจะเป็นบ้านเราหรือบ้านเขา  เพราะเพลงป๊อปมีโจทย์ตายตัวอยู่ว่า  ต้องเป็นเพลงที่เข้ากับหูคนฟังส่วนใหญ่  จะได้ไม่ต้องฟังดูแปลกประหลาดจนรับไม่ได้  ซึ่งการเขียนเพลงป๊อปนี้ไม่มีทฤษฏีสอนกันไว้ว่าเป็นแบบไหน  เพลงทุกๆแนวก็มีสิทธิ์จะเป็นเพลงป๊อป   ก็คือการเดาใจคนฟัง  ก็ต้องอาศัยประสบการณ์การฟังของหูผู้แต่งเท่านั้น  เพลงไหนยิ่งฮิตก็ยิ่งจะมีอาการฟังแล้วคุ้นหู  จำง่าย  เพราะเคยชิน  บางทีก็เดาทำนองออกได้เลย  บางครั้งก็ถึงขั้นคล้ายจะเคยฟังมาจากไหน  แต่จริงๆแล้ว  มันก็คือประสบการณ์ที่สะสมอยู่ในหูของเราตั้งแต่เกิดมานั่นเองแหละครับ  ไม่เชื่อก็ลองไปฟังดู

……….2.พวกที่ตั้งใจยืมมาเลย  แต่พยายามดังแปลง  บางครั้งการขอยืมทำนองเจ๊ก  แขก  ฝรั่ง  มาอย่างชัดๆ ไม่ว่าจะทั้งท่อน  ทั้งเพลง  หรือบางช่วง  ก็เป็นการทดลองอะไรบางอย่าง  ตั้งแต่ทดลองเพื่อหาความรวย  แต่จะออกมาดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่ความแนบเนียนอย่างที่ว่าแหละครับ   รวมทั้งความประณีตในการลอกสรร  การตกแต่งให้สละสลวยเหมาะสำหรับผู้ร้อง  ไม่ใช่พยายามขืนให้เหมือนต้นฉบับทั้งดุ้น  และสุดท้าย  คือ  ควรยอมรับและประกาศว่าตนเองเอาต้นฉบับมาจากไหนอย่างหน้าชื่นตาบาน  ไม่ใช่หน้าทนประกาศว่าฉันคิดเอง  ทำนองขอฉัน…อย่างนี้ก็จัดว่าเป็นคนไม่น่าคบ

……….การยืมในลักษณะนี้อาจจะยืมในลักษณะโครงสร้างของเพลง  ทางเดินของคอร์ด  โครงสร้างของทำนอง  จังหวะสีสันของดนตรี  รวมทั้งสำเนียงที่ออกมา…อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด…แต่มีข้อแม้ว่า  ฟังแล้วให้มันดีก็แล้วกัน  และอีกอย่างคือ  ให้ดูว่ามีฝีมือในการดัดแปลงเท่านั้นก็พอ

……….3.พวกลอกลูกเดียว  พวกนี้ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงมากนักหรอก  เพราะวัตถุประสงค์  คือ  เพลงฝรั่ง  จีน  อันไหนฮิตก็ชัดเลย  เอาตีหัวเข้าบ้านลูกเดียว  พวกนี้กระจอกครับ

……….ทีนี้ประเภทของคนทำเพลงและคนฟังเพลงก็มีอยู่มากมาย  ทั้งที่น่าคำคาญและน่าเห็นใจ  อย่างที่บอกมาแล้วอย่างที่น่ารำคาญก็เช่น  คนทำเพลงประเภทสุดท้ายนั่นแหละ  คือทำให้วงการเพลงไทยเราเกิดมลภาวะ  เพราะความมักง่าย  ส่วนคนฟังเพลงประเภทที่ผทรำคาญ  คือ  คอยแต่จับผิดและอวดรู้ว่า  ฮี่โธ่เอ๊ย  ไอ้เพลงนั้นมันเอามาจากเพลงนี้นี่…ข้ารู้  ซึ่งบางทีก็กลายเป็นเรื่องบ่องตื้น

……….อย่างที่น่าเห็นใจก็คือ  คนทำเพลงที่เป็นประเภทที่สอง…ประเภทแรกนั่นน่าเห็นใจกว่า  เพราะเขียนเพลงขี้นมาหวังจะให้คนชอบอย่างบริสุทธิ์ใจ  จะไปพ้องกับใครบ้างก็ถูกหาว่าลอก…โธ่…โน้ตเพลงในโลกนี้มีอยู่เจ็ดตัว  ส่วนเพลงมีเป็นล้านๆ  มันไม่ซ้ำกันบ้างก็บ้าละ  ทีนี้ยิ่งเป็นแนวป๊อปก็ยิ่งมีแนวการเรียงร้อยโน้ตอยู่ไม่กี่แนวหรอกที่คนฟังจะชอบใจ

……….ประเภทที่สองก็ไม่ถึงกับน่าเห็นใจ  แต่ก็ไม่ถึงกับน่าถูกตำหนิ  โดยเฉพาะพวกที่ยอมรับว่าตัวเองลอกเขามา  ไม่ว่าเพื่อลองความรู้ใหม่ๆ  หรืออยากได้เงินก็ตาม

……….ส่วนคนฟังเพลงส่วนใหญ่นั้นน่าเห็นใจอยู่แล้ว  เพราะคือผู้รับที่ปฏิเสธไม่ได้  สิ่งแวดล้อมด้วยเสียงเพลงนั้นกรอกหูอยู่ทุกวัน  ถ้าเป็นเพลที่น่ารำคาญและไม่ก้าวหน้าเสียทั้งหมด  คนฟังก็จะเป็นอยู่ 2 อาการ  คือ..ไม่บ้าก็โง่..ไม่มีทางเลือกอื่น

……….ถ้าขอจากสวรรค์ได้  ก็จะขอให้ไม่มีการลอกเลียนเพลงจากต่างประเทศ  แต่มันก็เป็นไปได้ยาก  ก็พอแต่เพียงว่า  ถ้าจะลอกหรือยืมมาก็ทำให้มันมีศิลปะหน่อย  ส่วนคนฟังก็ขอเพียงอย่าฟังเพลงในแง่ร้ายเกินไป  จะได้ไม่คิดอะไรมาก

……….แต่อย่างไรก็ตาม  คนฟังที่เขาอยากจะคอยจับผิดก็คงทำอยู่ร่ำไป  ใครจะทำไม  คนทำเพลงที่จะลอกเขามาก็ยังทำต่อไป..ใครจะทำไม  และผมก็ต้องทั้งรำคาญและทั้งเห็นใจอยู่ต่อไป….

……….อ้าว….ใครจะทำไม

น.  ห่อนาค  

ในนิตยสาร นะคะ (นะครับ) ฉบับ 26 เม.ย.  ปี 2530

รักคนที่มีเจ้าของเพลงฮิตตลอดกาล

รักคนที่มีเจ้าของเพลงฮิตตลอดกาล

        จัดรายการวิทยุเพลงเพื่อชีวิตที่ต่างจังหวัดมาราว 2 – 3 ปี พบว่าเพลงที่ผู้ฟังขอมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดคือเพลง “รักเขาทำไม” ของพี่หงา สุรชัย จันธิมาทร แต่งโดย สมหวัง อนุศักดิ์เสถียร ซึ่งมีเนื้อหาคือ ไปรักคนที่เขามีเจ้าของ มีคู่อยู่แล้ว แถมมีลูกด้วย ตั้งคำถามว่า  “ไปรักเขาทำไม” สรุปว่าให้กลับตัวกลับใจเลิกเหอะ ยอมรับเป็นผู้แพ้ไป ฟ้าคงอภัยให้เธอ ……….คอเพลงเพื่อชีวิตต้องรู้จักเพลงนี้แน่นอน เกือบทุกสัปดาห์ต้องมีขอเพลงนี้เข้ามา เปิดจนแผ่นเสียงตกร่อง แรก ๆ ก็มีคนแซวว่าเป็นชีวิตจริงคนเปิดหรือเปล่าทำไมเปิดบ่อย ต้องปฏิเสธว่าเปิดตามคำขอจริง ๆ หลังๆมี   ยิว คนเขียนเพลง มาร้องใหม่ , สีเผือกมาร้องใหม่ เป็น ซี.ดี. เสียงชัดกว่าแผ่นเสียง ออริจินนอลเวอร์ชั่น จึงเปิดของยิวบ่อย พยายามหาซื้อ “รักเขาทำไม” ในอัลบั้ม รัตติกาล ของอ.ธนิสร์ และพี่หงา ที่เป็น ซี.ดี. ก็หาซื้อไม่ได้เลย

       เอ้า …กลับมาเนื้อหาของเพลงประเภทนี้ วันก่อนมีคนเพจมาท้วงติงว่าการเปิดเพลงประเภทนี้ บ่อย ๆ (เช่น “ชู้” ของหลง ลงลาย , “หัวใจเกเร” ของ เชน ชาโดว์รวมทั้งรักเขาทำไม ) ผู้ฟังมีหลายระดับอาจจะคล้อยตามไปรักคนที่มีเจ้าของแล้วก็ได้ นายชีวิตก็ตอบไปว่า เนื้อเพลงจริง ๆ ถ้าฟังแล้วจะเห็นว่า สอนให้คนรู้จักยับยั้งชั่งใจ  ยกเว้นเพลงชู้ ที่ค่อนข้างบรรยายความรู้สึกล้วน ๆ ก็เป็นวิจารณญาณ ของผู้ฟังที่จะแยกแยะ บางคนก็บอกว่าคิดมากไปหรือเปล่าฟังเพลงสบาย ๆ อย่าซีเรียส ไม่มีอะไรหรอก   ต่างคนก็ต่างมุมมองกันไป  แต่ส่วนตัวนายชีวิตเองก็เห็นว่าเนื้อหาของเพลง มีส่วนซึมลึกเป็นพฤติกรรมได้

ก็ขอบคุณผู้ฟังที่เพจมา จะพยายามหลีกเลี่ยงการเปิดเพลง “ชู้” ก็แล้วกัน กลัวจะมีส่วนในการให้คนไปรักคนที่เขามีเจ้าของแล้ว

       จำได้ว่าปีแรก ๆ ที่จัดรายการ มีผู้ฟังโทร.มาเล่าเรื่องประเภทนี้ให้ฟังหลายสายเหมือนกัน คือไปรักคนที่เขามีเจ้าของ บางคนก็บอกด้วยว่าอยู่ที่ไหน รักใคร แล้วก็ปรึกษาว่าควรทำอย่างไร นายชีวิตก็ชักงง ๆ ไม่รู้จะตอบอย่างไรเพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เลยไปถามผู้เชี่ยวชาญคือ น.พ.ธรณินทร์ กองสุข (ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชเลย จ.เลย) ได้สรุปทางออกให้เลือก เท่าที่จำได้นะ ถ้าจำผิดต้องขออภัยคุณหมอด้วย 3 ทาง คือ ……….1.เลิกคบกับคนที่มีเจ้าของนั้นอย่างเด็ดขาด ไม่ต้องติดต่อกัน……….2.เลิกคบในลักษณะชู้สาวแต่ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันอยู่ ……….3.แย่งมาให้เป็นของเราเลย ลองคิดข้อดีข้อเสียแต่ละข้อ ตามปัจจัยของแต่ละคน ไม่มีใครสามารถจะตัดสินให้ได้ นอกจากตัวคุณเอง แต่คุณหมอก็ได้สรุปว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา คนที่เลือกข้อ 3 คือแย่งมาเป็นของเราส่วนใหญ่ก็อยู่กันได้ไม่นานต้องเลิกรากันไปในที่สุด

……….เนื้อที่หมดแล้วอยากให้ผู้อ่านแสดงความเห็นเข้ามาบ้าง จะได้แลกเปลี่ยนกัน แล้วเจอกันใหม่นะครับ

นายเพื่อชีวิต

รู้รักษาตัวรอด เป็นยอด ดี.เจ.

เพลงไทยใกล้เคียงฝรั่งมากขึ้น  

แต่ได้เปรียบกว่าตรงที่เวลาฟังแล้วไม่ต้องเปิดดิกชันนารี 

 วัยรุ่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศก็หันมาฟังเพลงไทยกัน 

 ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้คนไทยหลายคนมีงานทำ  

ทั้งๆ ที่เป็นศิลปินและไม่ใช่ศิลปิน  รวมทั้งบรรดา ดี.เจ.ทั้งหลายด้วย

…………มาจะกล่าวบทไปถึง  บุคคลจำพวกหนึ่ง  ซึ่งมีความสำคัญกับวงการเพลงทุกๆ ประเทศ  เพราะถ้าไม่มีบุคคลเหล่านี้  บรรดาศิลปิน  นักร้อง  นักแต่งเพลง  ก็จะต้องแต่งเพลง  ร้องเพลงของตัวเองภายในครอบครัวของตัวเท่านั้น  จะมีคนกรี๊ดเฉพาะลูกๆ หรือญาติไม่กี่คน  เพราะไม่มีโอกาสที่จะให้ใครได้ฟังงานของตัวเอง

…………เมื่อสัก 30 ปีก่อน คนไทยไม่มีใครรู้จัก ดี.เจ.หรอก  รู้จักแต่เจดีย์ว่าเป็นสิ่งก่อนสร้างในวัดยอดแหลมๆ  ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรใดๆ กับวงการวิทยุ  แต่ถ้าพูดถึงวิทยุละก็  ใครๆก็รู้จัก  ทุกบ้านทุกช่องจะมีวิทยุทรานซิสเตอร์สักเครื่อง  จะทำอะไรก็ต้องเปิดวิทยุฟัง  ซักผ้า  เลี้ยงควาย  ทำไร่  ทำนา  ก็ต้องฟังละครวิทยุเรื่องรสสวาทแม่ยายกับลูกเขย  ฟังข่าวคุณนคร  มังคลายน  ฟังเพลงคุณสุรพล  คุณไวพจน์  หรือไม่ก็คุณสุเทพ  หรือสุนทราภรณ์  ซึ่งก็เป็นความบันเทิงที่มีคุณค่าแค่ถ่ายไฟฉาย 2 – 3 ก้อน

…………สถานีวิทยุสมัยนั้นก็ยังไม่เยอะนัก  และส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบเอเอ็ม  เรียกว่าฟังกันแบบถึงลูกถึงคน  ไม่มีมาพูดอ้อมแอ้มแบบเอฟเอ็มสมัยนี้  จนเดี๋ยวนี้วิทยุเอเอ็มที่โฆษณา  จัดรายการ  อ่านข่าว  เปิดเพลงลูกทุ่ง  พูดมันๆ ก็ยังมีอยู่  ผมก็ชอบฟัง  มันจริงใจดี  ประเภท  “ก็ว่ากันแหม…เจ้าประคุณรุนช่อง  อยากสวยอยากงามกันอย่างนางงามจักรวาล  ก็อย่าลืมครีมไข่มุกแท้กวนเองนะครับพ่อแม่พี่น้อง  เอ้า…ข่าวต่อไป  เมื่อเวลาหนึ่งนาฬิกาวานนี้  ร้อยตำรวจตรี  สมชายได้รับแจ้งว่า…”  อะไรอย่างนี้ฟังแล้วมันรูหูพิลึก

…………ส่วนพวกวิทยุเอฟเอ็มสเตอริโอมัลติเพล็กซ์  เพิ่งจะตามมาฮิตทีหลัง  แต่ก็ฮิตสู้เอเอ็มยังไม่ได้  จนกระทั่งวันนี้วิทยุเอฟเอ็มก็มีเฉพาะในกรุงเทพฯ  กับเมืองใหญ่ๆ หน่อยของแต่ละภาค  ส่งกระจายเสียงไม่คลุมกว้างเหมือนเอเอ็ม  เพราะคลื่นของเอฟเอ็มนั้นถี่มาก  เป็นหลักล้านครั้งต่อวินาที  ลูกคลื่นก็เลยเล็กกว่า  ไปเจอตึกเจอภูเขาก็พังแล้ว  จึงต้องใช้เสาอากาศช่วย  ส่วนเอเอ็มนั้นแม้เสียงจะดีไม่เท่าเอฟเอ็ม  เพราะความถี่น้อยกว่า  เป็นหลักพันครั้งต่อวินาที  แต่ลูกคลื่นใหญ่ว่า..เจออะไรขวางก็ผ่านได้หมด  จึงส่งได้ในระยะที่ไกลกว่า..โอ้โฮ..วันนี้เล็คเชอร์วิชาฟิสิกส์ด้วยแฮะ

…………จะพูดได้ละเอียดเสียทั้งหมดของทั้งเอเอ็มและเอฟเอ็มก็ชักท้อใจ  ด้วยว่าเรื่องมันเยอะเสียเหลือเกิน  จึงจะเอาเฉพาะเรื่องของการจัดรายการเพลงอย่างเดียวดีกว่า

…………มาพูดถึงบทบาทของนักจัดรายการเพลงสมัยก่อนนั้น  ก็เป็นอาชีพหนึ่งซึ่งมีหน้าที่เปิดเพลงไทยหรือเพลงฝรั่งแบบใดแบบหนึ่ง  มีน้อยมากที่จะมีการจัดทั้งเพลงไทยและเพลงฝรั่งควบกันไป  นักจัดรายการเพลงที่มีวัยรุ่นสมัยนั้นชื่นชม  ก็มักจะเปิดเพลงฝรั่งจึงจะเป็นที่นิยม  จำพวกสี่เต่าทอง  สีลิง (The Monkeys) หินกลิ้ง (The Rolling Stones)  ใหม่ขึ้นมาหน่อยก็พวกเดอะบีจีส์  อะไรทำนองนี้  ซึ่งจะเป็นเพลงป๊อบหรือเพลงป๊อปร็อคที่ไม่หนักหนาสากรรจ์นัก  มีอยู่เจ้าเดียวที่ยืนยงความร้อนแรงจำพวก Hard Rock ได้เป็นสิบๆ ปี คือ คุณวิฑูร  วทัญญู  ซึ่งสะใจจิ๊กโก๋มาก  คุณวิฑูรมีลีลาการพูดไม่เหมือนใคร  คือตื่นเต้นตลอดเวลา  น้ำเสียงดุดัน  มีการตั้งสมญานามศิลปินฝรั่งต่างๆ เช่น  เดอะเมาเท่น  จอมภูผา,  สกอร์เปี้ยน  แมลงป่องผยองเดช,  คณะลายสก็อต  เบย์ซิตี้โรลเลอร์  เป็นต้น  แต่ในที่สุด  ด้วยเหตุผมอันใดก็ไม่ทราบ  แกต้องหันมาจัดรายการเพลงไทย  อาจจะจำใจโอนอ่อนตามกระแสสังคม  ตั้งชื่อรายการได้ถูกใจผมมาก  คือรายการ “เพลงไทยชาตินิยม”  ไม่รู้ประชดใคร  แต่เวลาแกเปิดเพลงของคีรีบูนหรือรวมดาวนี่  แกก็ยังตืนเต้นพอๆ กับที่แกเปิด  Deep Purple  ยังไงยังงั้น

…………เปิดเพลงบ้าง  พูดบ้าง  อ่านลำนำเก๋บ้างเชยบ้าง  ตอบจดหมายบ้าง…ก็ตามแต่ใจของนักจัดรายการคนนั้นๆ  ไม่มีการถูกบังคับ  อยากเปิดเพลงไหนก็เปิด  ส่วนเบื้องหลังนั้นเล่า  ก็ต้องวิ่งตัวเป็นเกลียวเพื่อหาสปอนเซอร์เข้ามา  ให้ค่าเวลาแก่สถานี  ส่วนที่เหลือจึงเป็นรายได้ของนักจัดรายการ  แต่จะเหลือพอที่จะซื้อเม็ดกวยจี๊สัก 2 – 3 เม็ด  หรือซื้อบ้านสักหลังนั้น  ก็แล้วแต่รายการว่าฮิตหรือไม่ฮิต

…………ทุกวันนี้มีนักจัดรายการเพลงถูกเรียกว่า ดี.เจ.  ไปแล้วเพราะสั้นดี  ดูทันสมัยและดูเป็นฝรั่ง  คำว่า ดี.เจ.นั้นมาเห่อในบ้านเราก็พอดีช่วงตอนที่ดิสโก้เธ็คกำลังเป็นที่นิยม  ไนท์คลับหรือบาร์ที่มีวงดนตรีเล่นก็เริ่มตาย  หรือเปลี่ยนเป็นดิสโก้เธ็คกันหมด  เจ้าของกิจการก็ชอบ  ไม่ต้องจ้างนักดนตรีเยอะๆ  เจ้านายเบื๊อกเลือกแผ่นเสียงเปิดแค่คนเดียวก็สบาย  แล้วก็เรียกให้มันโก้อย่างฝรั่งว่า  ดี.เจ.ซึ่งย่อมาจาก  ดิสก์จ๊อกกี้ (Disk Jockey)  แปลว่าคนขี่แผ่น  ซึ่งฟังแล้วก็ไม่เห็นจะเข้าท่าตรงไหน  ฝรั่งโง่ๆ ก็มีถมไป

…………ตอนนี้ ดี.เจ.ในบ้านเราก็เต็มไปหมด  แต่ที่มีชื่อเสียงก็พอจะนับตัวกันได้  เริ่มมีบริษัทที่จะเอาดีทางวิทยุและมี ดี.เจ.เยอะๆ  เช่น  ไนท์สปอต  ซึ่งก็เป็นคนไทยเราทั้งนั้น  แต่ชื่อเป็นของฝรั่ง  เป็นหุ้นลมอยู่กระมัง  อันนี้ผมประชดเล่นนะฮะ

…………รายการเพลงที่นิยมในสมัยนี้กลับกลายเป็นเพลงไทย  เพราะกระแสคลื่นลมทางธุรกิจช่วยพัดพาให้คุณภาพของเพลงไทยใกล้เคียงฝรั่งมากขึ้น  แต่ได้เปรียบกว่าตรงที่เวลาฟังแล้วไม่ต้องเปิดดิกชันนารี  วัยรุ่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศก็หันมาฟังเพลงไทยกัน  ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้คนไทยหลายคนมีงานทำ  ทั้งๆ ที่เป็นศิลปินและไม่ใช่ศิลปิน  รวมทั้งบรรดา ดี.เจ.ทั้งหลายด้วย

…………บทบาทของ ดี.เจ.และรายการเพลงที่เป็นเพียงผู้ให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟัง  และยึดรายได้จากการหาสปอนเซอร์มาค้ำจุนตัวเองก็เปลี่ยนไปตามสภาพสตางค์ในกระเป๋า  สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่  สภาพการเพิ่มจำนวนของ ดี.เจ.  การแข่งขันกัน  ตลอดจนสภาพความเหนียวหนุบหนับของบรรดากระเป๋าของสปอนเซอร์ทั้งหลาย  ทำให้ ดี.เจ. ทั้งหลายเริ่มใกล้ขั้นโคม่า  มีหลายคนเริ่มเป็นโรคขาดสารอาหารด้วยสุภาษิตของท่านสุนทรภู่เตือนใจไว้ว่า  “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา  รู้รักษาตัวรอดเป็นยอด ดี.เจ.”  ทำให้มีคนหัวแหลมที่เห็นทางแจ่มใสคิดได้ว่า  “อันว่าบัดนี้วงการเทปก็ได้ตื่นตัว  ไม่มัวซัวเหมือนก่อน  บริษัทเทปก็ควรจะอ้อนวอน ดี.เจ. ให้เปิดเพลงให้บ้าง  เพลงจะได้กว้างขวางในหมู่ผู้ฟัง  ถ้า ดี.เจ. พากันขัดขวางเทปนั้นก็คงม้วย  บริษัทก็ควรจะช่วยมิให้ ดี.เจ.ม้วยมรณาแบ่งสตางค์ให้กันบ้างหนา  ดี.เจ.จะดีใจ”  สรุปก็คือ  บริษัทขายเทปก็เต็มใจที่จะจ่ายเงิน  จ้าง ดี.เจ.เปิดเพลงให้..ดี.เจ.ก็ดีใจ  เปิดเพลงไม่เสียงแรงเปล่า  และจะได้รอดพ้นจากอันตรายแห่งเศรษฐกิจด้วย

น.ห่อนาค

ในนิตยสาร  นะคะ (นะครับ) ฉบับ 21 พ.ย. 2529

ทำไมไม่ชอบชวน ฟังแล้วชักชอบชวน เลยชวนไปฟัง

ไทยอัลบั้ม ส่งแผ่นตัดเทียรี่ชุดใหม่มาให้ฟัง  หลงดีใจนึกว่าใจดี  ที่ไหนได้บอกให้ช่วยวิจารณ์ด้วย  แล้วก็ทวงมาเป็นระยะๆ  ท่ามกลางอากาศร้อนในภาคอิสานของวันนี้ เลยลองเขียนตามความรู้สึก   ถือว่าเป็น ความเห็นละกัน  คงไม่บังอาจไปวิจงวิจารณ์  เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ  ชุดใหม่ของ  สุทธิยงค์ (เทียรี่) เมฆวัฒนา  ตัดมาให้ฟัง 5 เพลง คือ ทำไมไม่ชอบชวน , ความรัก , เพียงใครสักคน , ก.เอ๋ย ก.ไก่ และ หัวใจลูกจ้าง

…………โดยรวมแล้วก็เห็นว่า แต่ละเพลงน่าจะเป็นเพลงที่ ตลาดยอมรับได้  ทั้งทำนองเดิมๆประเภทฟังก็รู้ว่า “เทียรี่” และเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ๆ ไม่ต้องแปลความมากมาย

เทียรี่

…………เพลงที่ชื่อเดียวกับชื่อชุด ทำไมไม่ชอบชวน  เป็นการเล่นคำไทยที่เก๋มาก เทียรี่และเกียรติเขียนได้ดี ตั้งแต่ฟังเพลงมา ไอ้ประเภทเล่นคำแบบนี้ได้ดีคงไม่พ้น อัสนี-วสันต์ ซึ่งตอนนี้ พี่ป้อมเราก็กลายเป็นเสี่ยมอร์มิวสิคไปแล้ว จำได้มั้ย อย่าง “…อยากจะเป็นสับปะรดดูสักที….” เพราะเวลาใครทำอะไรไม่ได้เรื่องก็จะชอบพูดว่า “ไม่เป็นสับปะรดเลยเอ็งนี่”  เฮียป้อมเลยอยากจะเป็นสับปะรดดู นัยว่าตรงข้ามกับไม่ได้เรื่อง คือได้เรื่อง เป็นสับปะรดนั่นเอง คิดได้ไงไม่รู้ เจ๋งจริง หรือ ร.เรือหายไป กุ้มใจไม่มี ล.ลิง เพราะคนชอบพูดตกคำควบกล้ำ เป็นต้น  เพลงนี้เล่นคำว่า “ชวน” ซึ่งฟังผิวเผินทีแรกนึกว่าหมายถึง คุณชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ที่แท้หมายถึง “ชวน”  ที่เป็นคำกิริยา หมายถึง จูงใจ,  ให้ทำตาม เช่น  ชวนไปเที่ยว ชวนไปดูหนัง ชวนแล้วไม่ไป ตอนหลังเลยไม่ชอบชวน  น่าน… เป็นสไตล์ของเทียรี่ ที่ไม่เสียดสีหนัก ๆ เหมือนพี่แอ็ด เอาพอหอมปากหอมคอ ฟังแล้วแสบ ๆ คัน ๆ ดี ลีลา 3 ช่า โจ๊ะ ๆ น่าจะติดตลาดได้ แต่นายชีวิตเปิดมา หลายสัปดาห์แล้ว ยังไม่เห็นมีใครขอมาเลย

…………เพลงความรัก  หวานแบบพี่รี่นั่นแหละ  เนื้อหาคือไม่มีใครนิยามความรักได้เลย  ขึ้นอยู่กับแต่ละคน จะให้ความหมายความสำคัญแตกต่างกันออกไป ดนตรีไม่มีอะไรใหม่ สไตล์  แม่สาย,  รักขึ้นสมอง เพลงเพียงใครสักคน เป็นเพลงรักที่ไม่ต่างจากเพลงป็อปทั่วไป เฝ้ารอใครสักคนที่ใช่เลย มาคอยปลอบใจให้ความหวัง เพลง ก.เอ๋ยก.ไก่ นี่เข้าท่าดี กล้าเอาบทกลอนที่เราท่องตั้งแต่เด็ก ๆ มาร้องเป็นเพลงให้ฟัง ตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก แล้วสรุปว่า เราเป็นคนไทยมีภาษาของตัวเอง ควรพูดภาษาไทยให้ชัดถ้อยชัดคำ  น่าจะเป็นเพลงที่ให้เด็ก ๆ เอาไปร้องได้ดีนะ สุดท้ายหัวใจลูกจ้าง ที่ทำงานแบบไม่ได้พักซักที ไม่ว่าเทศกาลไหน ๆ นายจ้างก็เอาเปรียบเรื่อย สะท้อนสังคมในลักษณะเสียดสีนิด ๆ ฟังแบบสบาย ๆ ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นงั้นจริงนายจ้างคนนั้นก็เป็นคนเห็นแก่ตัวมากทีเดียว

…………ถ้าชอบเทียรี่ ชุดนี้ก็น่าจะรองรับการรอคอยได้พอสมควร เพราะดูตั้งใจทำเอาใจตลาด เด็กฟังได้ ผู้ใหญ่ฟังดี ชวนกันฟังดูซี แล้วจะรู้ว่าทำไมถึงชอบชวน

นายชีวิต

14-3-43