เปนไท..ไท ธนาวุฒิ งานเบาๆ สบายๆ จากผู้ชายอารมณ์ดี

คนหนุ่มคนนี้ที่ชื่อ..ไท ธนาวุฒิ เชื่อแน่ว่าเขาเป็นศิลปินเดี่ยวอีกคนหนึ่งของวงการเพลงบ้านเรา ที่ผลงานและฝีไม้ลายมือของเขานั้น ได้รับการยอมรับในหมู่นักฟังเพลงบ้านเราพอสมควร ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากอานิสงฆ์ของงานชิ้นแรกที่ที่ส่งให้เพลง “ประเทีอง” และ “ใช่เลย” ดังกระหึ่มไปทั่วเมือง

หลังจากความสำเร็จของงานชิ้นแรก ดูเหมือนว่างานชิ้นที่ 2 ของเขาที่ออกมา กลับแผ่วเกินคาด แผ่วจนบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่างานชิ้นที่ 2 ของเขาชื่ออะไร และมีเพลงอะไรเด่นบ้าง (ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงตัวผมเองด้วย)

และวันนี้เขากลับมาแล้ว กลับมาพร้อมกับงานชิ้นล่าสุด ที่ชื่อว่า…เปนไท (ไท ธนาวุฒิ) ที่เชื่อแน่ว่า งานชิ้นนี้ของเขา ย่อมได้รับการจับตามองจากแฟนเพลงเก่าๆ อย่างแน่นอน ว่าครั้งนี้เขาจะกลับมาเรียกความนิยมของเขากลับคืนได้หรือไม่

งานโดยรวมของชิ้นนี้ โดยแนวเพลงแล้ว ออกมาในแนวของป็อปร็อค ตามแบบที่เขาถนัด มีเพลงหวานๆ อกหักๆ ที่น่าฟังอยู่พอสมควร ผสมผสานกับเพลงจังหวะสนุกๆ ที่ไม่ถึงกับรุนแรงมากนัก เอาแค่ครึกครื้นพอประมาณตามสไตล์ของเขานั่นเอง

งานอัลบั้มชิ้นนี้ของเขา หากจะถามว่าเด่นตรงไหน คงต้องบอกว่าเพลงช้าๆ หวานๆ แกมอกหักของเขานั้น อยู่ในระดับที่ใช้ได้ และฟังได้เลยทีเดียว มีงานเด่นๆ ที่น่าฟังหลายเพลงเหมือนกัน

เพลงที่คิดว่าน่าฟัง และลงตัวที่สุด ที่ไม่อยากให้พลาด ก็คือเพลงช้าๆ ที่ชื่อว่า “เจตนา” ที่ทำออกมาได้ค่อนข้างลงตัว ทั้งเนื้อหา ดนตรี และเสียงร้องเศร้าๆ ของคนร้องเรียกว่า ฟังทีไร เป็นต้องเคลิ้มตามทุกที ผมชอบเนื้อหาท่อนฮุคมากที่สุด ภาษาเขาและความหมายดีเหลือเกิน….เจตนา ที่แท้มันเป็นอย่างไร สักนิดถ้าเธอเข้าใจ …คงไม่ไปจากฉัน เจตนามันหึงจึงคอยกีดกัน เป็นเจ้าหัวใจอย่างนั้น เพราะว่าฉันรักเธอ” ฟังแล้วน่าสงสารดีเหลือเกิน ผู้ชายคนหนึ่ง ทำผิดพลาดกับคนรักเขา ต้นเหตุคือเขารักและหวงเธอ ฟังแล้วดโรแมนติกดีชะมัด

“เหนื่อย”…เพลงช้าๆ เศร้าๆ อีกเพลง ที่ทำออกมาได้น่าฟังดี อารมณ์เคลิ้มๆ เศร้าๆ เนื้อหาคล้ายรำพึงรำพันและปลอบใจตัวเอง ว่าเหนื่อยเหลือเกินหนอกับความรัก เพราะสุดท้ายก็อกหักทุกที ดูเจียมเนื้อเจียมตัวดีครับ

“คนทั้งคน”…เป็นเพลงช้าๆ อกหักอีกเพลง ที่โดยรวมแล้วถือว่าฟังได้ ถึงแม้จะไม่ดีมากมากนัก แต่ก็ไม่ถึงกับเสียอารมณ์ เรียกว่าถ้าใครชอบฟังเพลงอกๆ ต้องชอบเพลงๆ นี้แน่ครับ

“สามแยกปากหมา”..เพลงโปรโมทของงานชิ้นนี้ เด่นที่เนื้อหาแกมประชดประชันเล็กๆ ว่าไอ้ที่แซวๆ หรือปากหมาทั้งหมด ก็เพราะอยากรู้จัก อยากให้เธอสนใจก็เท่านั้น ส่วนในภาคดนตรีนั้น ก็เรียง่ายและเข้าถึงได้ไม่ยาก ประมาณว่าสอบผ่านก็แล้วกันครับ

ในส่วนของเพลงสนุกๆ นั้น ก็ถือว่าฟังได้อยู่เหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าชอบเพลงไหนมากที่สุด ผมยกให้ “วัวหาย” ครับ เพลงๆ นี้เป็นเพลงประเภทจังหวะโจ๊ะๆ สนุกๆ ฟังแล้วโยกหัวโยกตัวตามได้อย่างไม่ขัดเขิน อารมณ์ดนตรี ทำให้เนื้อหาอกหัก ดูน่ารักน่าชัง และไม่เศร้าจนเกินไป ใช้ได้ทีเดียวครับ

“ผิดแผน” เป็นเพลงสนุกๆ ที่เด่นด้วยมุขหักมุมน่ารักน่าชัง ประมาณว่าแอบรักผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วตั้งใจจะปรับตัวเพื่อเค้า แต่พอจะเริ่มจีบอย่างจริงจัง ถึงได้รู้ว่าเค้ามีแฟนแล้ว เรียกว่าอกหักตั้งแต่ยังไม่นับหนึ่ง ดูแปลกและแตกต่างดีครับ

โดยรวมของงานชิ้น ตามความรู้สึก หากให้เทียบกับงานชิ้นแรกที่ประสบความเร็จอย่างท่วมท้น คงต้องถือว่าเทียบไม่ได้ และค่อนข้างจะห่างไกลกันพอสมควร เพลงหลายๆ เพลงในงานชิ้นนี้ ดูเหมือนจะโอเค แต่ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างขัดๆ อยู่ ทำให้ไม่ได้ดีเท่าที่คาดหวังไว้

ถ้าถามว่าน่าซื้อฟังไหม ถ้าไม่ซีเรียสมากมายนัก ก็ถือว่างานชุด “เปนไท” ของไท ธนาวุฒิ อยู่ในข่ายที่พอฟังได้เหมือนกัน เรียกว่าไม่ถึงกับคุ้มค่าเงิน แต่ก็ไม่ถึงกับเสียดายตังค์ แค่สอบผ่านอย่างเส้นยาแดงผ่าแปดเท่านั้นครับ

แมว..Disorder งานดีๆ ถึงๆ ของขาร็อคตัวจริง

หากจะเอ่ยถึงศิลปินคนนี้ ที่ชื่อว่า แมว…จิรศักดิ์ ปานพุ่ม เชื่อว่าวันนี้ในวงการ เขาขยับฐานะขึ้นไปเป็นศิลปินร็อคระดับอ๋องของเมืองไทยไปเสียแล้ว ด้วยเหตุผลหลักๆ 2-3 ประการคือ อยู่ในวงการมานาน มีผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในฐานะเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และงานของเขายังได้รับการตอบรับในทางที่ดีระดับหนึ่งอีกด้วย

โดยส่วนตัวแล้ว แม้ผมจะยังทำใจไม่ได้ ที่จะยอมรับว่าเขาเป็นศิลปินร็อคตัวจริง เพราะภาพของเขานั้นออกมาดูป็อปจ๋าเสียเหลือเกิน (ยิ่งเป็นแฟนกับนิโคลด้วยแล้ว ยิ่งน่าหมั่นไส้เป็นอย่างยิ่ง) แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ เพราะงานของเขาที่ผ่านมายึดมั่นอยู่ในแนวทางสายร็อคนี้มาตลอดนั่นเอง

มาถึงงานชิ้นล่าสุดที่ชิ่อว่า Disorder ชุดนี้ ถือว่าเป็นงานที่น่าสนใจและน่าจับตามองอีกชิ้นหนึ่ง เพราะโดยภาพรวมแล้ว ผมว่างานชิ้นนี้ เป็นงานที่ค่อนข้างชัดเจนและลงตัวมากที่สุดของเขาเลยก็ว่าได้ ไม่กึ่งๆ กั๊กๆ เหมือนงานชิ้นอื่นๆ ที่ผ่านมา เรียกว่ากล้าและชัดเจนมากขึ้นกว่าก่อนมาก

ในงานชิ้นนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีงานที่เป็นร็อคหนักๆ อยู่หลายเพลง และส่วนใหญ่ก็ทำออกมาได้ในระดับที่รับได้เสียด้วย ส่วนเพลงป๊อปร็อคที่เขาเคยทำได้ดีมาตลอด ครั้งนี้เขาก็ทำได้ดีไม่แพ้งานชิ้นก่อนๆ เลยด้วยเหมือนกัน

หากจะถามว่าเพลงไหนดีที่สุด ผมว่าห้ามพลาดอย่างเด็ดขาดกับเพลงโจ๊ะๆ สนุกๆ ที่ชื่อ “ถ้าเธอไม่บอก” เป็นเพลงสนุกๆ กึ่งสามช่า กึ่งป๊อปร็อค ที่เขาสามารถนำมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ฟังแล้วสนุกสนาน คึกคัก และรื่นเริงได้อย่างไม่มีที่ติ เรียกว่าใครได้ฟัง รับรองต้องติดใจ และอดไม่ไหวที่จะต้องโยกย้ายส่ายเอวไปตามจังหวะอย่างแน่นอน

และไม่ใช่เพียงภาคดนตรีเท่านั้น ภาคเนื้อหา เพลงๆ ที่ภาษาที่ใช้ก็ไม่เลวเสียด้วย เรียบง่าย คล้องจอง เข้าถึงและเข้าใจได้ไม่ยาก จึงทำให้เพลงๆ นี้เป็นเพลงที่ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง คล้ายๆ กับเพลง “บางอกอก” อันลือลั่นจากงานชิ้นที่แล้วนั่นแหล่ะครับ ดีกรีประมาณเดียวกันเลยครับ

เพลงเด่นอีกเพลง ที่สนุกสนานและยียวนกวนโสตประสาทไม่เบา เรียกว่าใครได้ยิน มีโอกาสหลงเสน่ห์และติดอกติดใจเพลงๆ นี้ได้ไม่ยาก นั่นก็คือเพลงที่ชื่อว่า “รักเอาบุญ” ดนตรี ลีลานั่นโจ๊ะได้อย่างถึงลูกถึงคน เรียกว่าสนุกสนาน สุขเกษมเปรมปรีดิ์กันอย่างเต็มอิ่ม ยกนิ้วให้ในความสามารถจริงๆ ครับ

ในภาคของเพลงซอฟร็อค ในสไตล์จิกโก๋อกหักตามสูตรสำเร็จของเพลงยุคนี้นั้น ในงานชิ้นนี้ก็มีอยู่กับเขาเหมือนกัน และก็ทำได้ไม่เลว เรียกว่าน่าฟังและปักเข้าไปกลางใจวัยรุ่นจนกรี๊ดสนั่นไม่แพ้ใครๆ เสียด้วย นำขบวนโดย เพลงหวานๆ อย่าง “ทำไม” ที่แค่เพียงขึ้นอินโทร ก็หวานหยด และกรีดลึกเข้าไปปักกลางใจเสียแล้ว ยิ่งได้ฟังทั้งเพลง ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ระดับเพลงโปรโมทแบบนี้การันตีได้ว่ายังไงก็ไม่พลาด

ตามมาติด กับ “ฉันเสียเธอไปหรือยัง” ที่ทำออกมาได้ในดีกรีที่ไม่แตกต่างจาก “ทำไม” สักเท่าไหร่นัก แถมฟังไปฟังมา ยังดูเหมือนจะลงตัวและน่าฟังกว่าเสียด้วยซ้ำ ถูกใจจิ๊กโก๋อกหักเสียจริงๆ ต้องอย่างนี้ซิถึงจะเรียกว่าของจริง

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเพลงช้าๆ ที่ฟังได้อีก 2 เพลง อยู่ในงานชิ้นนี้ นั่นก็คือ “สิ้นคิด” กับ “ครั้งหนึ่งในหัวใจ” ที่ถือว่าอยู่ในระดับที่ฟังได้อีกเหมือนกัน เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ป๊อปเท่า 2 เพลงแรกก็เท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่โดดเด่น และถือว่าเป็นความกล้ามากที่สุดของงานชิ้นนี้ ก็คือ การนำเสนอเพลงร็อคหนักๆ ที่ดีกรีหนักหนาสาหัสเกินปกติอยู่พอสมควร บางเพลงไต่ขึ้นไปจนถึงระดับเฮฟวี่ เมททอลก็ยังมี แต่ก็ทำออกมาได้อย่างไม่น่าเกลียด และอยู่ในดีกรีที่รับได้ และฟังได้ ไม่สับสนวุ่นวายเหมือนพวกมือใหม่ๆ มักชอบทำกัน

ไล่มาตั้งแต่เพลงโปรโมทอย่าง “ไอ้น้องเอ๋ย” ที่เปิดมาก็โหมกระหน่ำด้วยเสียงแผดของกีต้าร์ไฟฟ้า ตามแบบฉบับของเฮฟวี่ ก่อนที่จะตามกันมาด้วยเสียงอิเลคโทรนิคและกลองอันหนักหน่วง ตามสไตล์ของเพลงแนวนี้ แต่ก็ถือว่าทำได้ลงตัวไม่เลว ใช้ได้และโชว์ความสามารถได้เกินคาดจริงๆ และไม่คิดมาก่อนเลยว่าเขาจะทำได้ขนาดนี้

หวดกระหน่ำกันต่อด้วย “ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ” เพลงๆ นี้ก็เรียกได้ว่าดีกรีหนักหนาสาหัสอีกเพลง ชนิดที่เรียกว่าถ้าอยู่หน้าเวที ถึงท่อนโซโล จะต้องกระโดดกันจนหัวสั่นหัวคลอนเลยก็แล้วกันแหละครับ….ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ไม่ใช่ก็ต้องใช่

ไม่เพียงเท่านั้น ยังโหมกระหน่ำมาด้วย “คนนะครับ” กับ “Leave Me Alone” ที่โชว์ลีลาและฝีมือได้อย่างสะใจขาร็อค แม้จะฟังยากสักหน่อย แต่ก็อยู่ในระดับที่พอใช้ได้

บทสรุปของงานชิ้นนี้ คงต้องขอยกนิ้วหัวแม่โป้งให้เลย กับฝีมือ ลีลา และความกล้าของผู้ชายคนนี้ชื่อแมว…จิรศักดิ์ ปานพุ่ม เรียกว่าเป็นงานที่ส่งเขา ขึ้นแท่นขาใหญ่แห่งวงการร็อคเมืองไทยอีกคนก็ไม่ผิดนัก เพราะงานระดับนี้ ฝีไม้ลายมือขนาดนี้ ถือว่าพัฒนาและก้าวหน้ากว่างานชิ้นก่อนๆ มาก อย่างนี้ซิ

เตปาป้า.. หน้าใหม่มาแรง มีดีเกินคาด อย่างนี้ซิ..ของจริงๆ

วงการเพลงในเมืองไทย คงต้องยอมรับว่าวันนี้กระแสเพลงลูกทุ่งนั้นมาแรงเหลือเกิน แรงจนเอาอะไรมาฉุดก็ไม่อยู่ แรงจนชนิดที่เรียกว่า ตลาดเพลงไทยสากลหรือเพลงสตริงสั่นคลอนไปพอสมควรทีเดียว แรงเสียจนค่ายเพลงใหญ่ๆ อดรนทนไม่ไหว ต้องกระโจนร่วมวงนี้ด้วย โดยการส่งศิลปินขาร็อคบ้าง ขาป็อปบ้าง ลงมาร่วมวงด้วยเป็นทิวแถว

ศิลปินที่ถูกส่วงลงมา ก็มีตั้งแต่เบอร์ต้นๆ ของค่าย เบอร์กลางๆ รวมถึงศิลปินหน้าใหม่ด้วย ก็มี โดยนำเสนอในหลายๆ วิธี เช่น เอามาประยุกต์เข้ากับเพลงของตน อย่างเช่นพี่เบิร์ด, จับเพลงลูกทุ่งเก่าๆ มาร้องใหม่ในแนวลูกทุ่ง แต่ทำดนตรีใหม่ให้ดูสตริงมากขึ้น อย่างเช่น พี่อี๊ด วงฟลาย และไปจนถึงปั้นนักร้องขึ้นมาใหม่ ให้ออกมากึ่งๆ สตริงๆ กึ่งๆ ลูกทุ่ง อย่างเช่นกลุ่มนักร้องกลุ่มที่กำลังจะพูดถึงนี้ ที่ใช้ชชื่อว่า …..เตปาป้า

เตปาป้า…เป็นนักร้องกลุ่มผู้หญิงล้วน ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากเวทีประกวดดนตรีของค่ายแกรมมี่ และเป็นศิลปินกลุ่มใหม่ ที่ถูกสร้างงานออกมาในแนว กึ่งๆ ลูกทุ่งผสมตริง คือทำนองเพลงและเนื้อหาง่ายๆ แต่อยู่บนพื้นฐานของดนตรีสตริงร่วมสมัย

เปิดตัวกันด้วยเพลง “ลูกทุ่งลิซึ่ม” เพลงสนุกๆ ในแนวดนตรีกึ่งสามช่า ด้วยลีลาและเนื้อหาง่ายๆ และตรงไปตรงมา ประกอบกับเสียงร้องของนักร้องนำที่ค่อนข้างโดดเด่นอย่างน่าสนใจ คือ เสียงใส น่าฟัง และดูไม่เสแสร้ง จึงทำให้เพลงๆ นี้แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพาชื่อเตปาป้า ศิลปินกลุ่มใหม่ล่าสุด ให้เป็นที่รู้จัก และได้รับเสียงตอบรับ ในระดับที่น่าพอใจไม่น้อยเลยทีเดียว

“สายัณห์ลืมสัญญา” …คือเพลงที่แจ้งเกิดให้กัลบศิลปินสาวน้อยกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มตัว กับเพลงดนตรีมีจังหวะจะโคนเล็กๆ ที่ฟังแล้วสามารถโยกหัวหรือชูไม้ชูมือตามได้ เนื้อหาก็ง่ายๆ พูดถึงคนรักที่จากไปคล้ายแนวเพลงลูกทุ่ง ยิ่งมาได้เสียงร้องที่ใสๆ และน่าฟังอย่างมีเอกลักษณ์ จึงทำให้เพลงๆ นี้ไต่ความนิยมได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรียกว่าแรงจนฉุดไม่อยู่เลยทีเดียวครับ ฟังที่ไร ต้องโยกหัวยักไหลตามทุกทีซิเอ้า แถมเนื้อหายังบาดใจลึกๆ อีกต่างหาก ยกหัวแม่โป้งให้สองข้างเลยครับ เป็นเพลงที่ฟังเมื่อไหร่ ฟังเท่าไหร่ก็ไม่มีเบื่อ

นอกจากสองเพลงแรก ที่ถือเป็นเพลงหัวหอกที่เปิดตัวเตปาป้าได้อย่างแรงเกินคาดแล้ว ในงานชุดนี้ยังมีเพลงอีกหลายๆ เพลงที่น่าสนใจ และน่าฟังไม่น้อยเหมือนกัน เพลงเด่นๆ ที่อยากแนะนำให้ฟังก็เช่น “อย่าลืมคนรอ” เพลงรักแนวอกหัก ช้าๆ เศร้าๆ ที่นำเสนอผ่านภาษาง่ายๆ ทำนองพื้นๆ แต่เด่นด้วยเสียงร้องและดนตรีที่ผสานกันได้อย่างลงตัวระหว่างลูกทุ่งกับสตริง จ้เป็นอีกเพลงหนึ่ง ที่เมื่อได้ฟังแล้วรู้สึกสัมผัสและเข้าถึงอารมณ์เพลงได้อย่างง่ายดาย ไม่เชื่อลองฟังกันดูก็แล้วกันครับ รับรองจะต้องชอบเหมือนที่ผมชอบแน่ๆ

“ฝันดีตอนบ่ายๆ” เป็นเพลงที่น่าฟังอีกเพลงหนึ่ง ที่อยู่ในอารมณ์เดียวกับเพลง “อย่าลืมคนรอ” แม้จะเป็นเพลงเศร้าๆ เหงาๆ แต่ก็ลงตัวทั้งภาษาของเนื้อหาและดนตรี ฟังสบายๆ เหงาๆ เพลินๆ อย่างบอกไม่ถูก และที่เด่นจริงๆ ก็คงต้องยกให้เสียงร้องอีกครั้ง ที่ร้องได้เข้าถึงอรมณ์เพลงดี ชอบอีกแล้วครับเพลงนี้ ไม่รู้เป็นอะไร

นอกจากนั้นแล้วยังมีเพลงๆ ดีๆ ที่อยู่ในข่ายไม่ขี้เหร่อย่าง “ว่าไงนะพี่” พี่ทำนองกระฉึกกระฉักขึ้นมาอีกนิด หรือ “ทะเลยามเช้า” เพลงหวานๆ ซึ้งๆ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในดีกรีที่ฟังได้อย่างสบายอารมณ์ และเพลินดีไม่น้อย

ส่วนเพลงอื่นๆ ที่เหลือ ก็ไม่ถือว่าขี้เหร่เท่าไหร่นัก เรียกว่าโดยรวมแล้ว ไม่มีเพลงๆ ไหน ที่ฟังแล้วรู้สึกเหมือนถูกยัดใส่มาให้เต็มอัลบั้มเลยสักเพลง เอาหยั่งงี้ก็แล้วกันครับ

อยากจะบอกเลยว่า งานของเตปาป้า ชุดนี้ ดีกว่าที่ผมคาดหวังไว้เยอะเลยทีเดียว แรกๆ ก็นึกว่าจะเป็นเพียงเพลงที่ทำออกมาขัดตาทับ ตามกระแสเท่านั้น แต่ที่ไหนได้ ฟังไปฟังมา ผมยิ่งชอบเพลงๆ หลายๆ เพลงในอัลบั้มชุดนี้เข้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเสียงร้องของนักร้องนำ ต้องชมกันอย่างจริงใจเลยครับ ว่าเสียงใส น่าฟัง และร้องออกมาได้อารมณ์เพลงมากๆ

แจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัวเลยครับ สำหรับงานชิ้นแรกของพวกเธอ …เตปาป้า อีกหนึ่งอัลบั้มประจำปีที่ดีเกินคาด และอยากให้สนับสนุนกันครับ

Peace Maker งานเพลงสบายๆ ที่ฟังได้ทุกวัย แถมคุณภาพสมตัว

ทุกวันนี้..วงการเพลงเมืองไทย มีตัวเลือกมากมายเหลือเกิน มีศิลปินหน้าใหม่ๆ และหน้าเดิมๆ ออกผลงานมาให้เลือกฟังกันจนฟังกันไม่ทัน ทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ ไปจนถึงไม่มีค่าย และที่สำคัญคือ มีงานเด่นๆ จากหน้าใหม่ๆ แจ้งเกิดได้อย่างสม่ำเสมอ

และในบรรดาศิลปินหน้าใหม่ ที่แจ้งเกิดกับงานชุดแรกของตนนี้ หากเป็นดนตรีแนว Easy Listening หรือเพลงฟังสบายๆ ผมเชื่อว่าชื่อของศิลปิน Duo คู่นี้ ที่ชื่อ Peace Maker น่าจะโดดเด่น และเข้าตาใครๆ หลายๆ คนมาบ้าง

Peace Maker แจ้งเกิดอย่างเต็มตัว กับผลงานเพลงที่ชื่อว่า “เหงา” เพลงรักเหงาๆ อกหักๆ ที่กำลังกระชากใจใครหลายคนอยู่ในขณะนี้ ด้วยลีลาดนตรีที่ค่อนข้างเรียบง่ายและน้อยชิ้น แต่ก็ทำออกมาได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะลูกเล่นของดนตรี ที่ล้อเล่นกับเนื้อหาได้อย่างลงตัว ในท่อนฮุคอันแสนเหงา ที่ว่า…”นี่คือเหงา นี่แหละเหงา นี่คือความจริง ที่ได้เจอ เจ็บปวดทรมานลึกลงข้างในใจ ดอ้ความเหงา มันช่างหนาว มันช่างยาวนานและทุกข์ทน รอคอยใครบางคน มาหยุด…มัน” มันกระชากใจคนเหงาได้อย่างฉับพลันทันทีเลยทีเดียวครับ

นอกจากเพลง “เหงา” แล้ว เพลงเด่นอีกเพลงที่อยากแนะนำให้ฟังกัน และเป็นเพลงที่กำลังเข้าถึงใจหลายๆ คนอยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือเพลงเหงาๆ เศร้าที่มีชื่อว่า “คิดถึง” ที่ฟังแล้วมันโหยหา และคิดถึงใครบางคน ที่เรารัก และอยู่ห่างไกลเหลือเกิน เนื้อหาของเพลง มันบ่งบอกได้อย่าดี ว่าอยากบอกคนนั้นเหลือเกิน ว่า…“ฉันคิดถึงเธอ”

“ไม่เคยถาม” เป็นเพลงอีกเพลง ที่จัดว่าเป็นเพลงเด่นของอัลบั้ม ลีลาและการนำเสนอยังคงฟังง่าย และเรียบง่ายเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเนื้อหา ที่คราวนี้แม้จะอกหัก แต่ก็ดูมีศักศรีและหยิ่งทรนง ว่าให้เธอคนนั้นกลับไปเสียเถอะ กลับไปหาเขาคนนั้น เพราะวันนี้ มันสายไป ที่จะกลับมา เพราะหัวใจที่เคยรักเธอวันนี้…มันเปลี่ยนไปแล้ว …ฟังแล้วสะใจดีพิลึกครับ

เพลงเด่นอีกเพลงคือเพลง “ที่ตรงนั้น” ซึ่งเป็นเพลงที่ท่วงทำนองดูมีจังหวะจะโคน และมีบีทของดนตรีขึ้นมาหน่อย เนื้อหาของเพลงแม้จะเด่นไม่เท่ากับเพลงแรกๆ ที่พูดถึง แต่ผมกับชอบลีลาดนตรีและท่อนฮุคของเพลง ลองฟังดูซิครับ…”ที่ตรงนั้นมีรักที่เข้าใจ คอยห่วงหาห่วงใยไม่เคยจะเปลี่ยน ถึงแม้วันคืนหมุนเวียนเปลี่ยนไปแค่ไหน………” ผมชอบครับบอกตรงๆ

ทั้ง 4 เพลง คือเพลงที่เด่นที่สุดของงานชุดนี้ แต่ก็ใช่ว่าเพลงอื่นๆ จะฟังไม่ได้นะครับ เพราะโดยรวมก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ฟังได้ และฟังเพลิน ฝีลายมือก็ถือว่าอยู่ในระดับใช้ได้ สำหรับศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการแบบนี้

หากใครที่เบื่อกับเพลงป๊อปทั่วๆ ไป อยากหาเพลงฟังสบายๆ ที่ฟังได้เรื่อยๆ ก็ลองมองหางานของศิลปินคู่ที่ชื่อ Peace Maker ไปฟังดูกันครับ ไม่แน่นะ คุณอาจจะชอบพวกเขา เหมือนที่ผมกำลังชอบผลงานขิงเขาหลายๆ เพลงในขณะนี้ก็ได้ครับ

อีกหนึ่งความลงตัว ที่อิ่มเอมและเปี่ยมล้น ในสไตล์ BUDOKAN

หากจะกล่าวถึงศิลปินกลุ่มหญิงล้วน ในวงการเพลงบ้านเรานั้น มีอยู่ไม่มากนัก และยิ่งถ้าถามหาถึงคุณภาพของงานเพลงด้วยแล้ว ยิ่งนับตัวได้ และหนึ่งในนั้น คือศิลปินกลุ่มที่มีชื่อว่า BUDOKAN นั่นเอง

จุดเด่นของศิลปินสาวกลุ่มนี้ คือเสียงร้องของอินทร์…นักร้องนำ (ร่างใหญ่) ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์เพลงรักเหงาๆ เศร้าๆ ออกมาได้กินใจดีเหลือเกิน และไม่เพียงเท่านั้น เพลงสนุกๆ เธอก็ยังก็ยังถ่ายทอดออกมาได้เหลือร้ายเช่นกัน ยิ่งมาประกอบกับแนวดนตรีป๊อปใสๆ สบายๆ ของพวกเธอด้วยแล้ว มันยิ่งสอดประสานรับกันได้อย่างสอดคล้องเอามากๆ เลยทีเดียว

หลายปีก่อน พวกเธอแจ้งเกิดด้วยเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” กับเนื้อหาเพลงที่แสนจะบาดลึกลงไปกลางหัวใจวัยรุ่นไทยทุกคน…”ไม่ต้องรักเท่าฟ้า แต่ขอให้รักเท่าเดิม ไม่ต้องมีเพิ่มเติม แต่รักไม่น้อยลงไป ไม่ต้องรักจนชั่วนิรันด์ ตราบที่ฉันนั้นยังหายใจ …ขอให้เหมือนเดิม” มันยังบาดลึกในใจใครหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้

พวกเธอหายไปหลายปี คล้ายกลับว่าจะลาวงการไปแล้ว แต่แล้ววันดีคืนดี พวกเธอก็กลับมาพร้อมกลับอัลบั้มให่ล่าสุด ที่ชื่อ ว่า “เย้…เย” ที่กำลังมาแรงแซงโค้ง และหลายเพลงกำลังก้าวเข้าสู่ความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในภาพรวมของงานชุดนี้ หากเทียบกับงานชิ้นแรก ผมว่ากลิ่นไอและลีลาค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก คือเป็นป๊อปใสๆ ดนตรีง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยลีลาและน้ำเสียงของนักร้องนำ…อินทร์ คนเดิมนั่นเอง

งานทั้งอัลบั้มนี้ โดยรวม ผมถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้ และทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว ดนตรีแม้จะดูง่ายๆ แต่ก็ไม่ถึงกับไม่มีอะไรเสียทีเดียว เพราะยังมีลีลา ลูกเล่นในแต่ละเพลงที่แตกต่างกันออกไป เรียกว่า “ง่ายแต่ไม่ธรรมดา” ครับ

เพลงที่ผมชอบที่สุดของงานอัลบั้มนี้ ผมยกให้เพลงเหงาๆ เศร้าๆ กึ่งให้กำลังใจอย่าง “เหนื่อยหรือเปล่า” แค่ขึ้นต้นด้วยเสียงร้องอันแสนเศร้าและเหงาดายของนักร้องนำ ผมก็ชอบเสียแล้วครับ เป็นน้ำเสียงที่ถ่ายทอดอารมณ์ห่วงหาและอาทรได้เป็นอย่างดี ดนตรีคลอช้าๆ และสอดประสานด้วยลูกเล่นเป็นระยะๆ พอไม่ให้ดูว้าเหว่าจนเกินไป เนื้อหาของเพลงก็แสนจะลงตัว และอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก ลองไปฟังดูเอาเองก็แล้วกันครับ ….“หยุดตรงนี้ก่อน อยากให้เธอผ่อนคลายให้ใจหายเศร้า จะกอดเธอไว้ ในยามเธอเหงา จะร้องเพลงรักเบาๆ กล่อมเธอ” อะไรมันโรแมนติกไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้วครับ

เพลงต่อมาที่อยากนำเสนอ คือเพลงที่ชื่อว่า “บางคน” เป็นเพลงที่เหงาๆ เศร้าๆ กับจังหวะดนตรีที่เนิบๆ แต่มีสีสันขึ้นมาหน่อย ด้วยลีดกีตาร์ท่อนสร้อยที่บาดลึกดีเหลือเกิน เพลงๆ นี้เด่นที่เนื้อหาของเพลง ที่เขียนออกมาได้อย่างเข้ากันกับสไตล์ของบูโดกัน ผมชอบเนื้อหาเพลงมากๆ …“แค่บางคน ฉันเป็นได้เพียงแค่นั้น แค่นั้นฉันรู้ตัวฉันดี แค่บางคน ฉันมาได้ไกลแค่นี้ แค่นี้ แค่รักเธอกว่าทุกคน แค่บางคน ที่รักเธอกว่าทุกคน” โอ้ว…ฟังแล้วอยากจะเคลิ้มเสียจริงๆ ครับ

อีกเพลงหนึ่งที่อยากแนะนำให้ฟัง และอยู่ในไลน์อารมณ์เดียวกันกับสองเพลงแรก ก็คือเพลง “ไม่เห็นใคร” เพลงๆ นี้แม้ว่าความน่าสนใจ และความลงตัวจะสู้ 2 เพลงแรกไม่ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นเพลงที่ทำออกมาได้น่าฟังเอามากๆ อีกเพลงหนึ่ง โดยเฉพาะภาคดนตรีที่โชว์ลูกเล่นของเสียงเปียโน ที่วิ่งล้ออารมณ์เหงาๆ เศร้าๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ข้ามมาฟากเพลงที่มีจังหวะจะโคนกันบ้าง เพลงเอกชื่อเดียวกับอัลบั้มอย่าง “เย้…เย” ก็ถือว่าอยู่ในข่ายเพลงน่าฟังและทำได้อย่างค่อนข้างลงตัวเหมือนกัน เสียงร้องใสๆ บรรยากาศเพลงโปร่งๆ โล่งๆ บ่งบอกถึงอารมณ์เบิกบานอันเนื่องมาจากความรักได้เป็นอย่างดี ฟังแล้วโลกดูสดใสขึ้นเป็นกองครับ

ตามมาด้วย “คนใจร้าย” ที่จัดได้ว่าเป็นเพลงที่จิ๊กโก๋สุดๆ ของงานอัลบั้มชุดนี้ ดนตรีสวิงนิดๆ ล้อกับลีลาออดอ้อนแกมประชดของเนื้อหา ส่งให้กลายเป็นเพลงที่มีน้ำมีนวล และน่าสนใจไปอีกแบบ ลงตัวทั้งลีลาดนตรี เนื้อหา และเสียงร้อง ผมชอบท่อนสร้อยจริงๆ ครับ กวนๆ ยวนๆ แกมประชดประชันดีครับ รวมไปถึงเสียงกีตาร์โซโลที่ติดกลิ่นไอละตินนั่นด้วย น่าฟังและกระตุกอารมณ์ได้ไม่น้อยเลยครับ

ไม่เพียงเท่านั้น เพลงๆ อื่นๆ ที่เหลือ ก็ล้วนแต่น่าฟังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “ร้องไห้ด้วยคน” “ใจ” หรือ “อย่าจากบ้านไปนาน” ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำออกมาได้นิ่มนวล น่าฟัง และจัดว่าไม่เสียฟอร์มบูโดกันก็แล้วกันครับ

โดยรวม ผมว่างานชิ้นนี้ เป็นอัลบั้มอีกอัลบั้มหนึ่ง ที่ทำออกมาได้ในระดับดีเลยทีเดียว ไม่เสียแรงที่หายไปนาน แฟนๆ บูโดกัน เชื่อว่าเมื่อได้ฟังแล้ว คงมีแต่เสียงปรบมือกันถ้วนหน้า คุณภาพ ลีลา และความเป็นบูโดกัน ยังอยู่ครบถ้วนครับ

ไม่มีบทสรุปอื่นใด นอกจากจะบอกว่า งานชิ้นนี้ของ “บูโดกัน” ถือว่าเป็นอัลบั้มที่ดีอีกชิ้นหนึ่งของวงการเพลงบ้านเราเลยทีเดียว ใครที่ชอบเพลงป๊อปง่ายๆ สบายๆ ผมว่านี่คือคำตอบที่คุณไม่ควรพลาดครับ

คิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ) – นายผี

“ถ้าผู้ชายคนหนึ่งเทใจทุ่มชีวิตให้กับอะไรสักอย่าง กระทั่งนิยามความถูกต้องดีงามไว้กับสิ่งนั้น ชัยชนะในเรื่องนี้ย่อมหมายถึงการเดินทางไปพบกับความครบถ้วนของตัวตนในเบื้องลึกของความรู้สึก ส่วนการพ่ายแพ้ ย่อมไม่อาจเป็นอื่นนอกจากการถอนราก ถอนโคนชีวิตของเขา…” เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พูดถึงนายผี

อัศนี พลจันทร เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2461 ที่บ้านท่าเสา ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี บิดาคือพระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) มารดา – สอิ้ง พลจันทร ซึ่งหากสืบเชื้อสายบิดาขึ้นไปจนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จะพบว่าต้นตระกูลคือ พระยาพล เดิมชื่อนายจันทร์ เคยรบกับพม่า จนได้ชัยชนะและเป็นผู้รั้งเมืองกาญจนบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จบชั้นมัธยม 5 แล้วศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2479 ความสนใจในศิลปวรรณคดีเริ่มต้ยจริงจังในช่วงที่ศึกษาที่ธรรมศาสตร์ นามปากกา ‘นายผี’ ถือกำเนิดในปี 2484 เมื่ออัศนีได้เป็นคนควบคุมคอลัมน์กวี ในนิตยสารรายสัปดาห์ ‘เอกชน’ และมีงานเขียน-บทกวี

เริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรี เมื่อ 21 กรกฎาคม 2484 ก่อนถูกกลั่นแกล้งเนรเทศให้ไปอยู่ปัตตานี เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดโดยไม่ไว้หน้าผู้มีอำนาจยามนั้น
ครั้นมาอยู่ปัตตานีได้ 2 ปี ก็ถูกสั่งย้ายอีก ด้วยทางการระแคะระคายว่าให้การสนับสนุนชนชาวมลายูต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งนี้ให้ไปที่สระบุรี ผ่านไป 4 ปีเศษ มีคำสั่งให้ย้ายไปอยู่อยุธยา เนื่องจากกรณีขัดแย้งกับข้าหลวง จากนั้นถูกสั่งให้กลับมาประจำกองคดี กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย เหตุเพราะความเป็นคนตรงไปตรงมา ก็ทำให้ผู้คนประจำกองฯ มากราย ผู้ถือตัวต้องเหม็นขี้หน้า เนื่องจากเขาจัดการยกเลิกอภิสิทธิ์ กรณีรับเงินเดือน ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจลาออกเมื่อสิ้นปี 2495 เขาตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในนาม “สหายไฟ” ต่อสู้จนเสียชีวิตที่ประเทศลาว และได้มีการนำกระดูกกลับสู่แผ่นดินแม่เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2540

ช่วงชีวิตของอัศนี มีงานเขียน บทกวี มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทกวีที่ชื่อ ‘อีศาน’ ที่ลงพิมพ์ในสยามสมัย นับเป็นบทกวีที่ลื่อเลื่อง จนกลายเสมือนเป็นตัวแทนนายผี และจิตร ภูมิศักดิ์ ยกย่องกวีบทนี้ว่า ตีแผ่ความยากเข็ญของชีวิตและปลุกเร้าวิญญาณการต่อสู้ของประชาชนได้อย่างเพียบพร้อม มีพลัง ทั้งเชิดชูนายผีเป็น “มหากวีของประชาชน

บทกวี : อีศาน

      ในฟ้าบ่มีน้ำ
น้ำตาที่ตกราย
ในดินซ้ำมีแต่ทราย
ก็รีบซาบบ่รอซึม
แดดเปรี้ยงปานหัวแตก
แผ่นอกที่ครางครืม
แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม
ขยับแยกอยู่ตาปี
      มหาห้วยคือหนองหาน
ย้อมชีพคือลำชี
ลำมูลผ่านเหมือนลำผี
อันตำแรกอยู่รีรอ
แลไปสะดุ้งปราณ
คิดไปในใจคอ
โอ! อีศาน, ฉะนี้หนอ
บ่อค่อยดีนี้ดังฤๅ? 
      พี่น้องผู้น่ารัก
ยืนนิ่งบ่ติงคือ
น้ำใจจักไฉนหือ?
จะใคร่ได้อันใดมา?
เขาหาว่าโง่เง่า
รักเจ้าบ่จางฮา! 
แต่เพื่อนเฮานี่แหละหนา
แลเหตุใดมาดูแคลน
      เขาซื่อสิว่าเซ่อ
ฉลาดทานเทียมผู้แทน
ผู้ใดเน้อจะดีแสน
ก็เห็นท่าที่กล้าโกง
กดขี่บีฑาเฮา
เที่ยววิ่งอยู่โทงเทง
ใครนะเจ้า? จงเปิดโปง
เที่ยวมาแคะให้ทรมาน
      รื้อคิดยิ่งรื้อแค้น
เสียตนสิทนทาน
ละม้ายแม้นห่าสังหาร
ก็บ่ได้สะดวกดาย
ในฟ้าบ่มีน้ำ!
น้ำตาที่ตกราย
ในดินซ้ำมีแต่ทราย
คือเลือดหลั่ง! ลงโลมดิน
      สองมือเฮามีแฮง
สงสารอีศานสิ้น
เสียงเฮาแย้งมีคนยิน
อย่าทรุด, สู้ด้วยสองแขน!
พายุยิ่งพัดอื้อ
อีศานนับแสนแสน
ราวป่าหรือราบทั้งแดน
สิจะพ่ายผู้ใดหนอ? ฯ

(สยามสมัย – ๒๔๙๔)

หากเพลง ‘คิดถึงบ้าน’ หรือ ‘เดือนเพ็ญ’ เป็นเพลงเพื่อชีวิต ก็สมควรจะเรียกได้ว่าเป็น สุดยอดเพลงเพื่อชีวิต ผมเชื่อว่าน้อยคนเหลือเกินที่ร้องเพลงนี้ไม่ได้ และน้อยคนเหลือเกินที่ได้ฟังเพลงนี้แล้วจะรู้สึกเฉยๆ กับความหมายที่กินใจที่เพลงสื่อออกมา เพราะ ‘มหากวีของประชาชน’ นายผีเขียนเพลงนี้เพราะความรู้สึกคิดถึงบ้านของตัวเขาเอง
เพลง ‘คิดถึงบ้าน’ หรือ ‘เดือนเพ็ญ’ อาจนับได้ว่าเป็นเพลงที่ถูกบันทึกเสียงและขับขานในวาระต่างๆ มากที่สุดในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งเป็นเพลงที่ทำให้ชื่อนายผี – อัศนี พลจันทร เป็นที่รู้จักและจดจำในวงกว้าง…

สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) เป็นคนนำเพลงนี้ออกมาจากราวป่า และบันทึกเสียงครั้งแรกในนามวงคาราวาน กับอัลบั้มชุด “บ้านนาสะเทือน” เมื่อปี 2526 ต่อมาในปี 2528 ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) นำมาบันทึกเสียงอีกครั้งในนามแอ๊ด คาราบาว กับอัลบั้มชุด “กัมพูชา” และได้เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น ‘เดือนเพ็ญ’ พร้อมทั้งสลับท่อนเนื้อร้องแต่เดิม หลังจากนั้นมีผู้นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งในอัลบั้มปกติและอัลบั้มบันทึกการแสดงสด อาทิ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์, คนด่านเกวียน, อัสนี-วสันต์ โชติกุล, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ,โฮป, คีตาญชลี, นรีกระจ่าง คันธมาศ, สายัณห์ สัญญา, สุนารี ราชสีมา, ยอดรัก สลักใจ, มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ฯลฯ

หงา คาราวาน บันทึกถึงที่มาของเพลงนี้ว่า “…ที่สนามรบก่อนเกิดศึกใหญ่ (หมายถึงยุทธการล้อมปราบในเขตน่านเหนือ) ผมได้พบญาติพี่น้องซึ่งเป็นสายทางเขา (นายผี) เพลง ‘คิดถึงบ้าน’ ถูกร้องให้ผมฟังโดยหมอตุ๋ย สหายหญิงผิวคล้ำคนภาคกลางแถบราชบุรีซึ่งเป็นญาติของเขา และบอกว่าเป็นเพลงที่นายผีแต่งขึ้นตั้งแต่พลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่ที่กรุงปักกิ่ง เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว”

รัตติกาล

นกเขาไฟ – พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

น้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หรือที่ใครๆ เรียกว่า “กวีศรีชาวไร่” เป็นสมาชิกคนหนึ่งของวงดนตรีเพื่อชีวิต คาราวาน ยุคเริ่มต้น ร่วมทั้งได้ “เข้าป่า” ไปพร้อมกับคาราวาน และนักศึกษาใน ยุค 6 ตุลา 2519 แต่ความเป็นศิลปินเพลงของเขา เริ่มต้นเมื่อกลับออกมาจากป่าแล้ว เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้ พงษ์เทพ มากที่สุด เห็นจะเป็น ‘ตังเก’ เพลงสามช่า สนุกๆ ที่อยู่ในอัลบั้ม คนจนรุ่นใหม่ แต่เพลงที่จะนำเสนอ ณ ที่นี้ เป็นเพลงในชุดแรก ช่วงแรกๆของชีวิตนักดนตรี ‘นกเขาไฟ‘ เพลงที่บางคนบอกว่า นี่คือ เพลงที่ดีที่สุด ลุ่มลึกที่สุดของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
หลังจากกลับออกมาจากป่า พงษ์เทพก็พักอาศัยอยู่กับ ‘วิสา คัญทัพ’ ที่แฟลตการเคหะ คลองจั่น โดยใช้เวลาที่ไม่มีอะไรทำ หัดเล่นกีตาร์ (ตอนเล่นกับคาราวาน เล่นตำแหน่งเพอร์คัสชั่น) โดยแกะทำนองเพลง ซอล่องน่าน ของชนชาติลัวะ จังหวัดน่าน ที่ได้ยินติดหูมาจากในป่า นำมาเป็นทำนอง แล้วแต่งเนื้อร้องลงไป ซึ่งก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในป่า เช่นกัน และเนื่องจากเป็นเพลงพื้นบ้าน เพลงชุดนี้จึงไม่มีความถูกต้อง ในแง่ของหลักทฤษฎีเพลงสากล เช่น ไม่มีท่อนแยก ท่อนหุก ท่อนร้อง1 ร้อง2 เป็นต้น และที่ว่าเป็นชุด ก็เพราะ พงษ์เทพ นำทำนองนี้แต่งเป็นเพลง 3 เพลง ได้แก่ นกเขาไฟ, ลิงทะโมน และจูบฟ้าฝากดิน
‘นกเขาไฟ’ พูดถึงประเพณีการหาคู่ ของคนลัวะ ซึ่งเขียนบรรยายไว้ค่อนข้างละเอียด และโดดเด่นทางวรรณศิลป์ ด้วยภาษาที่เข้าใจยาก บวกทำนองเพลงพื้นบ้าน เพลงจึงไม่ได้รับความนิยม ในช่วงที่เทปชุดแรกออกวางแผง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ศิลปะที่แท้จริงที่ย่อมมีคุณค่าในตัวเอง ก็แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของมัน

ที่นี้ ลองติดตามเรื่องราวของ ‘นกเขาไฟ’ กันครับ :

พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ     “กลับออกมาจากป่าปี 2524 เข้าไป 19 ได้เจอเรื่องหนึ่งที่ผมเขียน แล้วก็ได้การยอมรับพอสมควรในเรื่องเพลง นั่นก็คือ นกเขาไฟ (ปรบมือ)
ไปทำไร่อยู่จังหวัดน่าน ตอนนั้นพี่หงาอยู่น่านใต้ ผมอยู่น่านเหนือ คือ…ผู้หญิงที่นั้น เป็นคนแข็งแรง แข็งแรงมากๆ เลย แบบ…ข้าวเป็นถังๆ ใหญ่ๆ เป็นเปอะ ใส่หน้าผาก แล้วก็เดินขึ้นภูสูงๆๆ แข็งแรงจริงๆ ทำไร่ ฟัดไร่ ปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว เป็นผู้หญิงที่แข็งแรง ความแข็งแรงทำให้รู้สึก…รู้สึก มีอารมณ์ (ฮา) คือ..อารมณ์ที่จะมองว่าเธอทำไมถึงแข็งแรง (ฮา) ก็ได้ดูแล้วก็ ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจเธอว่า เธออยู่ได้เพราะความรัก เธออยู่ได้ด้วยการรัก รักตรงนี้ รักห้วยตัวนี้ รักป่าผืนนี้ รักต้นไม้ที่ให้ประโยชน์ต่อชีวิต ให้เป็นยาเป็นอะไร และรักคนคนหนึ่งที่ทำไร่อยู่ข้างๆ ทีนี้ไร่ของชาวบ้านมันอยู่ไกลกันนะครับ เป็นลูกเขา ลูกภูเลย ไอ้จะไปวิ่งจีบกันเหมือนศูนย์การค้า พลาซ่านั้นไม่ได้แน่ๆ ก็ใช่วิธีของธรรมชาติ ก็คือ เอาใบไม้ไปหักขวางทางไว้ให้รู้ว่า…มาน่ะ อย่างเงี๊ยะ ละก็…ทำอะไรทุกวิถีทางที่เกี่ยวกับธรรมชาติเอา เอามาสื่อ สื่อความหมายเป็นการเคาะไม่ไผ่ การเรียกกัน การอะไรต้องใช้ธรรมชาติทั้งหมด จนกระทั่ง มีประเพณีอันหนึ่งที่น่ารักคือ ผู้หญิงบอกรักผู้ชาย …สวยงามจริงๆ ผมขออนุญาตย้อนเล่า ผมเคยเล่าเมื่อสักปี 25-26 มาแล้ว
คือ คนลัวะจะบอกรักกัน คือ ผู้หญิงบอกรักผู้ชาย คือการมวนบุหรี่ให้ บุหรี่ของเธอนี่จะต้องปลูกยาสูบเอง ในไร่ที่เธอฟัดเอง แล้วเก็บยาสูบที่แก่แล้วเนี๊ยะ มาห่อใบตองตึงไว้ หมักด้วยน้ำผึ้ง ในมุมหนึ่งในห้องนอนของเธอ พอหมักน้ำผึ้งได้ที่ ก็ต้องเอามาตากน้ำค้างอีก เมื่อตากน้ำค้างเสร็จก็จะสอย สอยยาเอง สอยสวยๆสอยงามๆ พอสอยเสร็จ ยามวนจะต้องห่อด้วยใบสลอเปรา สลอเปรานี่เป็นต้นไม้ยืนต้นที่อยู่บนภูเขา ที่แข็งแแรง แล้วใบสลอเปราจะร่วงในขณะที่ยังเหลืองอยู่ ยังไม่แก่ ไม่แห้งร่วง พอเหลืองๆ ร่วงลงมาสักขณะหนึ่ง สองสามวันก็จะนุ่ม มวนบุหรี่ได้พอดี แล้วมันจะมีความหอมของไม้ตัวนี้
แล้วเธอก็รู้อีกว่า เมื่อมวนใบสลอเปราแล้ว บุหรี่ถ้าถือไว้มันก็จะคลี่คลายออก ต้องเอาด้ายแดงมามัด คือ สีแดง เป็นสีที่สุดยอดที่สุดของคนภูเขา แล้วด้ายสีแดงเนี๊ยะ ต้องทำมาจากต้นกัญชา ซึ่งคนบนเขาเรียกว่า กัญชง คือเขาจะปลูกคนกัญชา หรือกัญชงไว้เยอะๆ เพื่อทำเสื้อผ้า เพื่อถักทอเป็นธรรมชาติ แล้วก็เอาไอ้…เปลือกของต้นกัญชง หรือกัญชาน้อยนี่ ลอกจากต้นที่แก่แล้ว มัดเป็นมัด ปล่อยยาวๆ ไปทิ้งไว้ในสายแม่น้ำ ในห้วย เอาหินทับไว้ ให้น้ำในห้วยมันพัด พัดขัดเกลาเส้นใยที่อ่อนแอหลุดไปกับสายน้ำ เหลือเส้นที่แข็งแรงสู้กับแม่น้ำได้ เป็นเส้นที่เหนียวที่สุด นุ่มที่สุด ขึ้นมาแล้วถักเป็นเสันด้าย ฟั้นเป็นเส้นด้าย แล้วไปเอาเปลือกไม้ฝาด มาทุบๆๆ ยอมสี เป็นสีแดง แล้วก็พันบุหรี่ ยื่นให้ผู้ชาย โดยไม่ต้องพูดอะไร เขารู้ว่า ฉันรักเธอ
อืมฮืม…ทำไมเธอมีเวลาขนาดนั้น (ฮา) คือถ้าคนบ้านเราน่ะ ตายห่าไปก่อนแน่ ไม่ได้รักกัน ตายแน่ๆ เลย ถูกฉุดไปหมดแล้วป่านเนี๊ยะ (ฮา) นั่นหมายถึงความนุ่มนวล ความลึกซึ้งที่จะทำความรักให้เป็นเรื่องของสังคม เรื่องของครอบครัว ถ้าเธอสามารถอดทนได้ ทำได้ขนาดนี้ ผู้ชายรับรู้ และเข้าใจตรงนี้ได้ ครอบครัวนี้ต้องมีความสุขแน่ๆ เลย ผมคิดอย่างนะ เพราะงั้นเขาถึงเปรียบผู้หญิงที่นั่นว่าเป็น นกเขาไฟ เป็นนกที่แข็งแรง ปราดเปรียว เข้าใจภูเขา อดทนเมื่อมีความรัก….
เมื่อเวลาตีข้าว ก็จะซ้อนฟ่อนข้าว สาวๆก็จะเอาดอกไม้แดง ก็คือ ดอกหงอนไก่ ซ่อนไว้ที่ฟ่อนข้าว ที่นี่ พอผู้ชายคนไหนตีข้าวไปแล้ว ไปเจอดอกไม้แดง ก็จะเอาดอกหงอนไก่ไปให้ผู้หญิงที่อยู่ในวงตีข้าวนี่ นั่นก็หมายความว่า มีจิตใจผูกพัน อยากพูดด้วย อยากคุยด้วย แล้ววันนั้น เป็นประเพณี ก็คือถ้าผู้หญิงคนไหน ได้รับดอกไม้หรือดอกหงอนไก่จากผู้ชาย ผู้หญิงคนนั้นก็จะ ทำตัว ทำอารมณ์เข้าร่วม เหมือนกับจะแฟนกัน อะไรอย่างนี้ เพียงแต่วันนั้น วันต่อไปก็ค่อยสืบสาว ราวเรื่อง หาที่อยู่ที่กินกันไปแล้วแต่ เป็นประเพณีที่สวยงามจริง..
.”

รัตติกาล

นกเขาไฟ
คำร้อง, ทำนอง : พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟ พาใจเราม
ดอกไม้ มาแซมเสียบผม เด็ดดม ชมทั่วภูผา
เรียงร้อย เป็นถ้อยมาลา โปรดมา รับมาลัยแห้ง
ดอกไม้ มาลัยห้อยคอ แก้มหนอ ก็ทาสีแดง
ผ้าถุง นั้นอีหล้าฮักแห้ง เสื้อแดง แต่งแต้มลายดอก

ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟ บินร่ายเริงลม.
เจ้าฟ้อน ไม่อ่อนแต่สวย ผ้ามวยโพกสวยสุดสม
ผิวคล้ำ ผมดำ ตาตม เอวกลม ฟ้อนรอบกองไฟ
สูบยา พันด้ายสีแดง ลงแรง ถางดงพงไพร
ดอกเหงื่อ มันหอมหวลนวลใย สุขใจ ไร่ข้าวหอมกรุ่น

ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟ ลงไร่ปลายนา
ดอกไม้ มาแซมเสียบผม เด็ดดม ชมทั่วภูผา
เรียงร้อย เป็นถ้อยมาลา โปรดมา รับมาลัยแห้ง
ดอกไม้ ซ่อนในรวงข้าว หนุ่มสาว เจ้าช่วยออกแรง
ตีข้าว เอาดอกไม้แดง ญาติแย่ง ไปรอบลอมฟาง

ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล
ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ นกเขาไฟ ดวงใจชาวดอย
ภูผา เวลาเย็นย่ำ ถิ่นถ้ำ เสียงน้ำตกย้อย
หนุ่มสาว คลอเคล้าใจลอย เกี่ยวก้อย นกน้อยละเมอ
ภูผา เวลาย่ำค่ำ ถิ่นถ้ำ เสียงน้ำตกเพ้อ
นกน้อย ใจลอยละเมอ เกี่ยวเธอ ฟ้อนรอบกองไฟ
เกี่ยวเธอ ฟ้อนรอบกองไฟ
เกี่ยวเธอ ฟ้อนรอบกองไฟ

ฅนกับควาย – คาราวาน

ถ้าพูดถึง เพลงเพื่อชีวิต เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึงวง “คาราวาน” ต้นตำนานวงดนตรีแนวนี้ และถ้าพูดถึงวง “คาราวาน” ก็ต้องพูดถึงบทเพลงเพื่อชีวิต อมตะตลอดกาล ที่ถือได้ว่าเป็นปฐมบทแห่งบทเพลงเพื่อการต่อสู้ เรียกร้อง เพลงที่ถือได้ว่าเป็นเพลงชาติ ของประเทศเพื่อชีวิต นั้นก็คือเพลง “ฅนกับควาย

เพลง “ฅนกับควาย” อยู่ในผลงานแบบซิงเกิ้ลแผ่นแรกของคาราวาน ที่บันทึกในห้องอัดเสียงคิงซาวด์เมื่อปี พ.ศ. 2518 อัดออกมาไม่เกิน 500 แผ่น ราคาตกแผ่นละ 25 บาท ถือได้ว่าเป็น แผ่นเสียงแห่งประวัติศาสตร์เพลงเพื่อชีวิต (แผ่นเสียงต้นฉบับชุดนี้เป็นที่ต้องการมากในปัจจุบัน ราคาซื้อขายอยู่หลายพันบาท) บันทึกบทเพลงอมตะของคาราวานไว้ 4 เพลงคือ เปิปข้าว และคนกับควาย ในหน้าแรก นกสีเหลือง กับจิตร ภูมิศักดิ์ ในหน้าที่ 2 ทั้ง 4 เพลงขับร้องโดยสุรชัย จันทิมาธร (หงา), วีระศักดิ์ สุนทรศรี (แดง) เล่นกีตาร์, ทองกราน ทานา (อืด) เล่นกีตาร์ลีด ฟรุตและร้องประสาน มงคล อุทก (หว่อง), เป่าเมาท์ออร์แกน พิณ และร้องประสาน คนสุดท้าย พงษ์เทพ กระโดดชำนาญ (หมู) เป่าขลุ่ยและร้องประสานเสียง

เพลง “คนกับควาย” งานเขียนของ สมคิด สิงสง (นักหนังสือพิมพ์ เพื่อนพี่หงา) สะท้อนเอาชีวิตและหยาดเหงื่อ อันเต็มไปด้วยริ้วรอยแห่งการกดขี่ของชาวนา ได้อย่างตรงไปตรงมา ทำนองที่มีอิทธิพลจากบทเพลง Masters Of War ของบ๊อบ ดีแล่น แม้จะเรียบง่าย แต่ก็เหมาะสมกับเนื้อหา ที่ต้องการพุ่งตรงไปยังสำนึกของผู้ฟัง ด้วยภาษาง่ายๆ ที่ตรงไปตรงมา ทำให้บทเพลง คนกับควาย สามารถทิ่มแทงความรู้สึกของผู้ฟังได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชนชั้นชาวนา จึงไม่แปลกนัก ที่เพลงบทนี้ถูกสั่งห้าม ในเวลาต่อมา

วงดนตรีคาราวานมีบทบาททางประวัติศาสตร์ที่แน่นอน ยากจะลบล้างลงไปได้ในช่วงยุคมืดของบ้านเมือง (14 ตุลา, 6 ตุลา) และเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่โดดเด่นที่สุด ไม่มีใครปฏิเสธได้ ประวัติศาสตร์ของพวกเขา ถูกรื้อขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะที่วงอื่นๆ ปิดตัวเองไปแล้ว แต่ คาราวาน ยังอยู่ ทุกวันนี้ คาราวานได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เรียกร้อง เพื่อความเป็นธรรม งผู้ที่ทุกข์ยากไปเสียแล้ว หลายบทเพลงของ คาราวาน ให้แง่คิดดีๆ ให้กำลังใจ ให้ความรู้สึกที่หลากหลาย แต่เต็มไปด้วยพลัง “ฅนกับควาย” เป็นแค่หนึ่งในตัวอย่างของบทเพลงอันทรงคุณค่าเหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนจะพยายามหามานำเสนอให้พ่อแม่พี่น้องได้อ่าน ได้ศึกษากันเรื่อยๆ
….คาราวาน ไม่ใช่วงดนตรีเพื่อชีวิตธรรมดาวงหนึ่ง ที่ใครๆ สามารถไปซื้อเทปมาฟังแล้วเขียนวิจารณ์ว่าดียังงั้นหรือไม่ดีอย่างนี้ คาราวาน ไม่ใช่นักดนตรี ไม่ใช่ผู้สร้างความบันเทิงหรือที่เรียกกันว่าเอนเทอร์เทนเนอร์ สำหรับผมและคนอีกหลายคน คาราวาน คือ “วีรบุรุษ” ถึงแม้ว่าตัว คาราวานจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม

รัตติกาล

ทะเลใจ – แอ๊ด คาราบาว

ถ้าพูดถึง “แอ๊ด คาราบาว” คนส่วนมากคงจะต้องนึกถึงเพลง “ทะเลใจ” ซึ่งเป็นเพลงที่มีความไพเราะ และลุ่มลึกในเนื้อหา และลีลาดนตรี เป็นที่ชื่นชอบของหลาย ๆ คน รวมทั้งผู้เขียนด้วย เพลง “ทะเลใจ” ได้รับรางวัลสีสันอวอดส์ (ประจำปี พ.ศ.ไหนก็ไม่แน่ใจ) สาขาเพลงยอดเยี่ยมประจำปี ก็คงเป็นเครื่องรับรองถึงคุณภาพ ทางดนตรีพอสมควร แต่พวกเราเคยสงสัยบ้างไหมว่า เพลงอมตะเพลงนี้มีที่มาอย่างไร แอ๊ด คาราบาว คิดอะไร นึกถึงอะไร จึงแต่งเพลงเพลงนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงนี้อยู่ในอัลบั้ม “พฤษภา” ที่ออกมามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่พี่แอ๊ด คาราบาวได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ผู้เขียนมีบทสัมภาษณ์ของพี่แอ๊ด คาราบาว จากนิตยสาร WRITER (หนังสือดี ๆ ที่เจ๊งไปแล้ว) ที่กล่าวถึงที่มาของเพลงทะเลใจ

ขอจงอ่านโดยระทึกใจพลัน:

“ทะเลใจนี่เขียนไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เขียนให้พี่ตุ๋ยน่ะ (พล.อ.อิสรพงศ์ หนุนภักดี) คือค่อนข้างสนิทกันสมัยแกเป็นแม่ทัพภาค 2 ช่วงนั้นผมออกตระเวนสายอีสาน ได้ร่วมทำโครงการอีสานเขียว พี่ตุ๋ยนี่บางครั้งแกก็ขับรถมาหาผมเอง บางครั้งก็เรียกผมไป มีงานวันเกิดอะไรก็ต้องมีผม ความจริงโดยนิสัยแล้วแกดี ผมก็นับถือแก แต่พอเกิดเหตุการณ์พฤษภามันก็รู้ละว่าใครเป็นยังไง จากที่เคยมีคนมาบอกมาเล่าว่า นายทหารคนนี้มันดียังงั้น คนนั้นมันโกงอย่างนี้ ก็ได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง ตอนพฤษภาผมต้องหนีตายขึ้นไปเชียงใหม่ พอกลับลงมาวันนั้นก็เขียนเพลงนี้เลย มนุษย์เรานี่ความโลภเป็นตัวที่นำพาไปสู่หายนะ ถ้าเราสามารถก้าวพ้นความอยากของเราในใจอันนี้ได้ถึงจะมีความสุข มันก็อยู่ในใจเรานี่เอง แต่ช่างกว้างใหญ่อย่างกับทะเล ลึกเกินหยั่งถึง กว้างกว่าที่จะข้ามได้ แต่ถ้าทำได้เราก็ชนะ ผมเขียนเพลงนี้ออกมาได้ด้วยกีตาร์ตัวเดียว นั่งอยู่หน้าบ้าน ฮัมทำนองไปรอบสองรอบ เนื้อมันออกมาเลย รวดเดียวครึ่งชั่วโมงจบ”

เป็นยังไงบ้าง นึกไม่ถึงใช่ไหม เพลงดีๆยังมีอีกมากในวงการเพลงบ้านเรา ของจงเปิดสมองรับเพลงที่มีคุณค่าทั้งทางจิตใจ และทางศิลปะ อย่าปล่อยให้นายทุนค่ายเทปชี้นำอย่างเดียวเลยพี่น้อง “ทะเลใจ” น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี การรับรู้ที่มา คนแต่ง ประวัติเพลง ทำให้เราเข้าถึงจุดหมายของมัน เนื้อหาที่แท้จริงของมัน และนำไปใช้กับชีวิตของเราได้ โอกาสต่อไปจะพยายามหาเพลงดีๆมานำเสนอเรื่อยๆหรือพี่ๆน้องๆมีบทเพลงที่ดีจะนำเสนอก็บอกๆกันบ้างนะครับ ขอให้มีความสุข

“ทุกข์ที่เกิดซ้ำเพราะใจนำพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข”

รัตติกาล

 

โรงเรียนของหนู – พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ (ปู) เกิดวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 พื้นเพเป็นชาวจังหวัดหนองคาย พงษ์สิทธิ์ออกอัลบั้มชุดแรก ‘ถึงเพื่อน’ ปี 2530 กับค่ายแว่วหวาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้จากชุดแรกเขาห่างหาย ไปนานถึง 4ปี ระหว่างนั้น ก็ตระเวนเล่นทัวร์คอนเสิร์ต ต่างจังหวัดกับศิลปินแนวเพื่อชีวิตด้วยกัน และเล่นประจำตามผับเพื่อชีวิตต่างๆ
อัลบั้มชุดถัดมา ‘เสือตัวที่ 11’ ในปี 2533 สังกัดค่ายรถไฟดนตรี สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง เพลงที่ทำให้ชื่อของ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ พุ่งทะยานเป็นศิลปินเพื่อชีวิต เพลงที่มาแรงที่สุด คือเพลง ‘ตลอดเวลา’ เพลงเกี่ยวกับความรัก กำลังใจที่แสดงออก ผ่านเนื้อหาและท่วงทำนองที่อ่อนโยน ส่วนเพลง “โรงเรียนของหนู” อยู่ในอัลบั้ม ‘บันทึกการเดินทาง’ เป็นเพลงประจำรายการโรงเรียนของหนู ที่ออกอากาศทางช่อง 5 ส่วนที่มาของเพลงที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เล่าจากเรื่องที่ประสบมา จะจริง-เท็จประการไม่อาจรับรองได้ 100% แต่ก็คงไม่หนีจากนี้เท่าไรนัก และนี่คือเรื่องราวของเพลงโรงเรียนของหนู

ขอจงอ่านโดยระทึกใจพลัน :

ถ้าหากใครที่เคยออกค่ายฯ ครั้งที่ 4 กับชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ABAC ณ โรงเรียนบ้านขุนน้ำคับ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 คงจะรู้จักท่าน อาจารย์อำนาจ รักประกิจ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ อาจารย์อำนาจเป็นครูบ้านนอกที่มีอุดมการณ์สูงส่งคนหนึ่ง ผู้เสียสละชีวิตสุขสบายส่วนตัว เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ ตามชนบทที่ทุรกันดาร อาจารย์อำนาจ เล่าให้พวกเราฟังถึงเรื่องราวของแกสมัยที่ได้รับการบรรจุเป็นครูใหม่ ๆ โดยได้เข้ามาประจำเป็นครูคนเดียวที่โรงเรียนบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าอะไรผมจำไม่ได้แล้ว ชาวบ้านและเด็กๆจึงพูดไทยไม่ค่อยดีเท่าไรนัก สมัยนั้นการเดินทางไปยังหมู่บ้านลำบากมาก ต้องเดินเท้า หรืออย่างดีก็ใช้มอเตอร์ไซด์(ฮ่าง) ยิ่งหน้าฝน ยิ่งยากใหญ่หมดสิทธิ์ไป ถึงขนาดต้องอาศัยให้ทหาร ตชด. ใช้เฮลิคอปเตอร์ ขับไปส่งที่โรงเรียน เพราะทางสัญจรโดยน้ำท่วมหมด แล้วอาจารย์อำนาจก็ต้องอยู่ที่โรงเรียนตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ คือต้องค้างที่โรงเรียนเลย จะกลับบ้านก็ต้องรอให้ทหาร ตชด. ใช้เฮลิคอปเตอร์มารับ บางทีก็ต้องอยู่เป็นเดือนๆ หมู่บ้านแห่งนั้นจึงคล้ายๆว่า จะถูกตัดขาดจากสังคมเมือง ดังนั้นท่านอาจารย์จึงเปิดโรงเรียนสอน และจัดวัน-เวลาในการสอนเอง โดยไม่ยึดตามกำหนดเวลาทั่วไป คือสอนตอนเช้าถึงเที่ยง ช่วงเย็นก็ปล่อยให้เด็กๆ กลับมาสอนพ่อแม่ทำไร่ บางทีก็สอนเสาร์-อาทิตย์ด้วย เวลาที่โรงเรียนทั่วไปปิดเทอมแกก็เปิดสอน
ด้วยความน้อยใจในโชคชะตา (เรื่องความรัก คือแกอกหัก) ประกอบด้วยความอึดอัดกับระบบการศึกษาของหน่วยราชการ ที่วันๆนั่งสบายในห้องแอร์ คอยวางนโยบายที่ตัวเอง ไม่ได้เป็นคนปฏิบัติเอง อีกทั้งความเห็นอก เห็นใจ ชาวบ้าน-ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย ที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมกันทางโอกาสทางการศึกษา และโอกาสในชีวิต จากคนเมืองและราชการ สิ่งต่างๆ ในใจเหล่านี้ ทำให้เวลาว่างๆ อาจารย์อำนาจจึงชอบแต่งกลอน เขียนกลอน ระบายความรู้สึกต่างๆ ในใจไว้หลายบท แล้วนำบทกลอนเหล่านั้น แปะไว้ตามฝาอาคารเรียนเก่าๆ ตัวอย่างบทกลอนเหล่านั้น ก็มีดังนี้ เช่น

“โรงเรียนมีครูหนึ่งคน
อยากจะมีใครสักหนึ่งคน
อดทนอยู่ห่างไกล ความสบาย”

(ระบายความรู้สึกเรื่องชีวิตคู่ อยากมีแฟน)

“ใช่จะวอนให้เห็นใจ
ความสำนึกต่อเพื่อนไทย
ไทยกันไทยใยแตกต่างกัน”

(ความรู้สึกเห็นใจเด็กๆ ชาวไทยภูเขา ชนกลุ่มน้อย)

แล้ววันหนึ่ง รถของชุดสำรวจหาข้อมูลของคณะผู้จัดทำรายการโรงเรียนของหนู ก็สังเกตเห็นธงชาติไทย ที่ชูเด่นเป็นสง่า เป็นที่สะดุดตา ท่ามกลางป่าเขา ในเวลาที่โรงเรียนทั่วไปเขาปิดเทอมกัน ทางคณะสำรวจก็สนใจ สงสัยว่าหน่วยงานใด หรือโรงเรียนที่ไหนมาเปิดตรงนี้ เวลานี้ คณะสำรวจดังกล่าวจึงเข้าไปดู
หลังจากรับรู้เรื่องราวต่างๆ ของโรงเรียน ชาวบ้าน และชีวิตของอาจารย์อำนาจแล้ว และสภาพโรงเรียนก็เป็นที่น่าสนใจ ตรงกับเป้าหมายของรายการ โรงเรียนแห่งนี้จึงถูกนำเสนอในรายการโรงเรียนของหนู ในครั้งที่สองของการออกอากาศ ซึ่งบังเอิญว่าทางรายการได้จ้างวานให้พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ แต่งเพลงประจำรายการ พี่ปู คัมภีร์ จึงได้มีโอกาสดูเทปรายการ ในตอนที่ไปถ่ายที่โรงเรียนแห่งนี้ และเห็นได้บทกลอนต่างๆ ตามฝาโรงเรียนที่เล่าไปแล้วข้างต้น จึงนำบทกลอนเหล่านั้น และเรื่องราวนั้นๆ มาแต่งเพลง ‘โรงเรียนของหนู’ เป็นเพลงประจำรายการ และหลังจากที่ได้นำเพลง “โรงเรียนของหนู” มาใส่ไว้ในอัลบั้ม ‘บันทึกการเดินทาง’ พี่ปู คัมภีร์ ก็ส่งเงินจำนวน 60,000 บาท มาให้อาจารย์อำนาจ เป็นค่าลิขสิทธิ์ อาจารย์อำนาจจึงใช้เงินเหล่านั้น มาซ่อมแซมอาคารเรียน และพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ จึงสามารถพูดได้ว่าเพลงโรงเรียนของหนู มีที่มาจากครูเล็กๆ คนหนึ่ง
ปัจจุบันนี้อาจารย์อำนาจ คงจะเป็นครูสอนประจำอยู่โรงเรียนใด โรงเรียนหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามความตั้งใจของแก ที่เคยบอกว่า สักวันถ้าแกสามารถทำให้โรงเรียนบ้านขุนน้ำคับที่เราไปออกค่าย ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แกก็จะขอย้ายตัวเองไปสอนที่โรงเรียนห่างไกล แห่งใดแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียนแห่งนั้นและโรงเรียนต่อๆ ไป
สำหรับผมแล้ว ท่านอาจารย์อำนาจไม่ได้เป็นแค่พ่อพิมพ์ของชาติแค่นั้น แต่อุดมการณ์ของท่าน ทำให้ท่านเป็นมากกว่าตำนานที่มีชีวิต และเป็นเกียรติสำหรับผมที่ ครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มีโอกาสสัมผัส ได้พบเจอครูเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ทุกครั้งที่ได้ฟัง-ร้องเพลง “โรงเรียนของหนู” ก็ทำให้ผมหวนระลึกถึงเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ของแก และทำให้ผมมีกำลังใจ ในการที่จะทำอะไรเพื่อสังคม แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมทำก็เปรียบได้แค่ผงฝุ่น เมื่อเทียบกับสิ่งที่อาจารย์อำนาจได้ทำไว้

รัตติกาล