เบเกอรี่ มิวสิค

เบเกอรี่ มิวสิค

บริษัท เบเกอรี่มิวสิค จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2537

moderndog

จากความร่วมมือของสี่ผู้บุกเบิกนั้นคือ กมล สุโกศล แคลป, บอย โกสิยพงษ์, สมเกียรติ อริยชัยพานิชย์, และสาลินี ปันยารชุน จุดประสงค์แรกในการก่อตั้งคือ เพื่อแนะนำดนตรีแนว Alternative เข้าสู่วงการเพลงไทย สามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 600,000 ตลับ โดยไม่ต้องพึ่งพาการโปรโมท หรือ โฆษณาเกินจริง และจากงานชุดนี้ ก็ทำให้ โมเดิร์นด๊อก ได้รับรางวัล “วงดนตรียอดเยี่ยมประจำปี” “เพลงยอดเยี่ยมประจำปี” และ”โปรดิวเซอร์ยอดเยี่ยม” 3 รางวัลในปีเดียวกัน จากงาน “สีสัน อะวอร์ด ครั้งที่ 6” ซึ่งเป็นรางวัลที่พิสูจน์ได้ถึงความเป็นตัวจริง

และในปีเดียวกันนี้เองที่วงการเพลงไทยก็ได้ต้อนรับ ผู้ชายโรแมนติก บอย โกสิยพงษ์ ที่กลับมาจากอเมริกาพร้อมด้วยซิงเกิ้ล “รักคุณเข้าแล้ว” เพลงเก่าที่นำมา อเร้นจ์ ใหม่ในแนว R&B ที่เขาถนัด และด้วยยอดขายที่มีจำนวนถึง 800,000 ตลับ ในอัลบั้ม “RHYTHM&BOYD” เมื่อปี 2538 คงเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี ถึงงานคุณภาพ และการต้อนรับที่อบอุ่นจากบรรดาแฟนเพลง ดังนั้นคงจะไม่ผิดนัก ถ้าจะกล่าวว่าอัลบั้มนี้คืออัลบั้มที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการเพลงไทย กับดนตรีแนวใหม่ จากค่ายเพลงเล็กๆ ที่ในขณะนั้นแทบจะไม่มีใครรู้จักเลย

ปีถัดมา Joey Boy หนุ่มแร็พจรวด ก็ออกมาเปิดตัวครั้งแรกกับมินิอัลบั้มที่ใช้ชื่อว่า “Joey Boy” จนได้รับความนิยมไปทั้วประเทศกับเพลง “เอ-โพด” ในแนวเพลงสไตล์ Hip Hop ที่ได้กลายมาเป็นสีสันใหม่ให้วงการเพลงไทย และในปีต่อมา  พ.ศ. 2540 โจอี้ บอยก็ได้สร้างปรากฏการใหม่ให้กับวงการเพลงไทยอีกครั้งด้วยการสามารถนำอัลบั้ม Fun Fun Fun ทำยอดขายพุ่งถึง 1 ล้านตลับซึ่งสำหรับค่ายเพลงอินดี้แล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก

และที่ขาดไม่ได้อีกหนึ่งคนคือ โปรดิวเซอร์ชั้นนำในดนตรีแนวป๊อป ก็คือ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ คนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เป็นผู้บุกเบิกแนวเพลงแดนซ์ ให้วงการเพลงบ้านเรา จนได้รับฉายาว่า เป็น “พ่อมดเพลงแดนซ์” แห่งวงการไปแล้ว

กว่า 70 อัลบั้มเพลงคุณภาพ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายอัลบั้มที่มียอดขายกว่า 5 แสน ตลับ คงพอจะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถ และความร่วมแรงร่วมใจของทีมงานทุกคน ได้เป็นอย่างดี และไม่เพียงมุ่งแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดเท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใด ทีมงานทุกคนต่างพยายามที่จะแข่งขันกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา และนี้ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ค่ายเพลงแห่งนี้แข็งแกร่ง และประสบความสำเร็จเจริญเติบโตต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และจากผลงานที่หลากหลายรูปแบบนี้เอง เบเกอรี่ มิวสิค จึงทำการจัดแบ่งแนวเพลงของตัวเองออกเป็นหมวดหมู่ โดยการใช้กลุ่มคนฟังดนตรีในสไตล์ต่างกันมาเป็นตัวแบ่ง และแยกตราแผ่นเสียงลูกออกมา ได้แก่

E – Z Baked (อีซี เบก), Bakery Classic (เบเกอรี่ คลาสสิค), Bakery International (เบเกอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล) และ Dojo City Corporation (โดโจซีตี้ คอร์ปอเรชั่น) ซึ่งถือได้ว่า เบเกอรี่ มิวสิค เป็นบริษัทดนตรีรายแรกของประเทศไทย ที่แยกกลุ่มคนฟังเพลงตามสไตล์ดนตรีออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด

E – Z Baked เป็นแนวเพลงที่กลุ่มคนที่ชอบฟังเพลงสบายๆ

Bakery Classic เป็นเพลงประเภทที่มีลักษณะรูปแบบ เฉพาะตัวที่ค้อนข้างซับซ้อนและร่วมสมัย

Bakery International นำเพลงในรูปแบบต่างๆ จากต่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งที่นำมาจำหน่าย และร่วมงานกับทีมงานต่างประเทศผลิตผลงาน

Dojo City Corporation เจาะกลุ่มเฉพาะ Pre – teen เน้นกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 9 – 13 ปี

และในเดือนพฤษภาคมปี 1997 , เบเกอรี่ มิวสิคได้ก่อตั้งบริษัทจัดจำหน่ายของตัวเองขึ้น เรียกว่า Taxi Distribution  ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่ามันเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วย ในการเจริญเติบโตและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด 59% จากผลกำไรที่ Taxi Distribution ได้รับจากผู้ค้าส่ง และ 41% จากผู้ค้ารายย่อยต่างๆ ซึ่งทางบริษัทคาดหวังไว้ว่า Taxi Distribution จะได้รับความนิยมเป็นอันดีบสามรองมาจาก MGA และ ONPA ภายในปี 1999

ที่มา : เบเกอรี่ มิวสิค

อาร์.เอส.โปรโมชั่น 1992

อาร์.เอส.โปรโมชั่น 1992

ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2519

……….โดยคุณ เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ พี่ชายคนโตของตระกูล ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นลูกจ้างร้าน โอเดียนแผ่นเสียง และ รามาแผ่นเสียง ก่อนที่จะมาทำธุรกิจตู้เพลง และอัดเพลงจากแผ่นเสียงลงเทป โดยเริ่มต้นด้วยเงินทุนเพียง 50,000 บาท และใช้ชื่อตราดอกกุหลาบ เป็นการเริ่มต้น ต่อมาจึงเปลี่ยนการดำเนินงานเป็นรูปแบบบริษัท โดยใช้ชื่อว่าบริษัท ROSE SOUND

……….เมื่อธุรกิจการอัดเทปเริ่มซบเซา คุณเกรียงไกร เริ่มหันไปดำเนินธุรกิจอื่นซึ่งใกล้เคียงกัน ……….นั่นก็คือการตั้งบริษัทเพลงใช้เงินทุนเบื้องต้น ประมาณ 2 – 3 ล้านบาท และใช้ชื่อบริษัท RS.SOUND ศิลปินวงแรกคือ “อินทนิล” และตามมาติดๆด้วย คีรีบูนฟรุ๊ตตี้,ซิกเซ้นท์ ฯลฯ และมาโด่งดังสุดขีดกับ อัลบั้ม”รวมดาว”(อัลบั้มที่ศิลปินวัยรุ่นในยุคนั้นนำ เพลงสมัยสุนทราภรณ์มาขับร้องใหม่)

ย้ายสำนักงาน จากสำนักงานเดิมที่อยู่แถวโรงภาพยนตร์โคลี่เซี่ยม คุณเกรียงไกร ทุ่มทุนก้อนใหญ่นับ 300 ล้านบาท สร้างอาคาร เชษฐโชติศักดิ์ อาคาร 6 ชั้น บนเนื้อที่ 1 ไร่เศษ บริเวณลาดพร้าว ซอย 15 เป็นที่ทำงานใหม่ของ RS. ที่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท RS PROMOTION 1992 จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท พร้อมกับปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงาน ซึ่งแต่เดิมเป็นระบบครอบครัว ให้เป็นระบบการบริหารงานที่สมบูรณ์แบบ เพื่อรองรับกับการเจริญเติบโตของธุรกิจ โดยมี คุณเกรียงไกร ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ และ คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ น้องชาย ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ

ปัจจุบัน บริษัท อาร์ เอส โปรโมชั่น นับเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบันเทิงแบบครบวงจร นอกจากจะผลิตผลงานเพลงทั้งเพลงสตริง และลูกทุ่ง ที่มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงผลิตรายการโทรทัศน์ เพื่อใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ผลงานของบริษัทแล้ว ยังมีการแตกบริษัทลูกเพื่อรองรับการขยายตัวในธุรกิจละคร และภาพยนตร์ รวมไปถึงผลิตรายการวิทยุ

ธุรกิจละคร ได้ดำเนินการก่อตั้ง

บริษัท ชาโดว์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด

มี คุณบุณฑณิก บุลย์สิน เป็นกรรมการผู้จัดการ

บริษัท เมจิค แอ็ดเวอร์เทนเม้นท์ จำกัด

มี คุณสุวัฒน์ เชษฐโชติศักดิ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ

ธุรกิจภาพยนตร์ ก่อตั้ง

บริษัท อาวอง จำกัด มี ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล เป็นกรรมการผู้จัดการ

บริษัท เรดร็อกเก็ต จำกัด มี คุณอุดม อุดมโรจน์ เป็นกรรมการผู้จัดการ

ส่วน บริษัท สกายไฮ เน็ตเวิร์ค จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจผลิตรายการวิทยุนั้น มอบหมายให้ คุณมณฑาณี ตันติสุข เป็นกรรมการผู้จัดการ

……….นอกจากนั้นแล้ว อาร์ เอส ยังได้จัดสร้างสตูดิโอครบวงจรหลังใหญ่ มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท รวมไปถึงอาคารสำนักงานหลังใหม่ เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนบุคลากร และทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการขยายงานอย่างรวดเร็วนั่นเอง

ที่มา : อาร์.เอส. โปรโมชั่น 1992

แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์

แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์

ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 11พฤศจิกายน พ.ศ.2526

……….โดยมีสภาพเป็นนิติบุคคล ภายใต้ชื่อ บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 500,000 บาท โดยการรวมตัวกันจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในด้านการตลาด ด้านการส่งเสริมการขาย การดนตรี และจัดการแสดงประเภทต่างๆ โดยมีบุคคลผู้ก่อตั้ง ประกอบด้วย นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นายเรวัต พุทธินันทน์ นายกิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ และนาวสาวบุษบา ดาวเรือง ในขณะนั้น

……….ในช่วงปี 2527 – 2531 บริษัทได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและทางสังคม และจากความเพียรพยายามที่ต้องการที่จะให้รายการโทรทัศน์ และผลงานทางดนตรีของบริษัทมีมาตรฐานเทียบเทียมต่างประเทศ ทำให้บริษัทได้สร้างศิลปินและผลิตผลงานที่มีคุณภาพออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ชื่อของ “แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์” เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา และจากการผลักดันเพื่อยกระดับมาตรฐานทางด้านงานดนตรีให้สูงขึ้น กอปรกับการทำตลาดและส่งเสริมการขายที่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้มีผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรายได้ของผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ดีขึ้น ศิลปินจึงสามารถปรับฐานะของตนให้เป็นนักร้องและนักดนตรีอาชีพได้อย่างเต็มตัว แทนที่จะเป็นเพียงแค่งานกึ่งอาชีพอย่างในอดีต นอกจากนี้บริษัทยังมีส่วนแบ่งการตลาดของเทปเพลงไทยสร้างส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า เทปเพลงสากล ซึ่งทำให้บริษัทต่างประเทศเริ่มหันมาสนใจเพลงไทยมากขึ้น โดยมีการนำทำนองเพลงไทยที่ทางบริษัททำการตลาดไปดัดแปลง เนื้อร้องเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ.2529

……….ในช่วงปี 2531 – 2536 ธุรกิจด้านสื่อต่างๆ การขยายตัวค่อนข้างสูง บริษัทได้มีการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนด้านสื่อ โดยทำการเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจด้านสื่อบันเทิงที่มีศักยภาพ และเปิดโอกาสให้ผู้เป็นเข้าของเดิมก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร เพื่อเป็นการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป

……….และในช่วงปี 2537 – 2539 ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ในการรวมกลุ่มของบริษัทให้มีความเป็นหนึ่งเดียวในการบริหารงาน และก่อให้เกิดความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ จึงได้แปรสภาพจากนิติบุคคล เป็นบริษัท แกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2537 โดยได้มีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 10 ล้านหุ้นให้แก่ประชาชนผู้สนใจในราคาหุ้นละ 165 บาท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ตามมาเกี่ยวกับการ ปรับโครงสร้างขององค์กรมากมาย กล่าวคือในส่วนของค่ายเพลงมีการแบ่งกลุ่มสร้างสรรค์ผลงานเพลงออกเป็น 6 ค่ายภายใต้การดูแลของแกรมมี่ฯ (แกรมมี่ แกรนด์, แกรมมี่ โกลด์, แกรมมี่ บิ๊ก, แกรมมี่ QX, กรีนบีนส์, จีนี่ เร็คคอร์ด) และ 2 บริษัทในเครือ บริษัท มอร์มิวสิค จำกัด และบริษัท เมกเกอร์เฮด จำกัด เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารงาน

……….ในส่วนของรายการโทรทัศน์ มีการแบ่งกลุ่มรับผิดชอบในการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อให้ครอบคลุม รายการประเภทต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัดของทีมงานฝ่ายผลิต ซึ่งประกอบด้วย

บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด อำนวยการและรับจ้างผลิตละคร,

บริษัท แมส มอนิเตอร์ จำกัด อำนวยการและรับจ้างผลิตรายการวาไรตี้แกมส์โชว์,

บริษัท เลมอนกราส โปรดักชั่น จำกัด อำนวยการผลิตรายการเด็ก และรับจ้างผลิตละคร,

บริษัท ทีนทอล์ก จำกัด อำนวยการผลิตรายการวาไรตี้วัยรุ่น,

บริษัท เอ็กซ์ทรอกาไนเซอร์ จำกัด อำนวยการผลิต รายการเพลง,

บริษัท แกรมมี่ เทเลวิชั่น จำกัด บริหารการตลาดและหาช่องทางการจำหน่ายให้กับบริษัทในกลุ่ม เป็นต้น

……….ปี 2540 – 2541 บริษัทมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน สำหรับการแข่งขันและเป็นผู้ครอบครองส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจเพลงรายใหญ่ในประเทศ จึงได้มีทิศทางขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการนำศักยภาพของบริษัท ที่มีอยู่ก้าวเข้าสู่ระดับสากลมากขึ้น โดยเบื้องต้นมีการลงทุนในประเทศสาธารณรัฐ ไต้หวัน และประเทศฮ่องกง เพื่อเป็นการลงทุนและจัดทำผลิตภัณฑ์ในการ ให้บริการเกี่ยวกับสื่อบันเทิงและสันทนาการในรูปแบบต่างๆ

โดยสามารถแบ่งธุรกิจต่างๆ ของบริษัทในเครือ แกรมมี่ฯ ให้เห็นได้ดังนี้

ธุรกิจเพลง

1.ค่ายเพลงมีการแบ่งกลุ่มสร้างสรรค์ผลงานเพลงออกเป็น 6 ค่ายภายใต้การดูแลของแกรมมี่ฯ

แกรมมี่ แกรนด์,

แกรมมี่ โกลด์,

แกรมมี่ บิ๊ก,

แกรมมี่ QX,

กรีนบีนส์,

จีนี่ เร็คคอร์ด

และ 2 บริษัทในเครือ

บริษัท มอร์มิวสิค จำกัด

และบริษัท เมกเกอร์เฮด จำกัด

2.การผลิตและจัดจำหน่าย

บริษัท เอ็มจีเอ จำกัด เป็นผู้ดูแล โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านผู้ค้าส่ง, ร้านค้าทั่วไป และร้านค้าปลีกของบริษัท (Star Shop, All Star, Imagine) เพื่อกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค

ธุรกิจโทรทัศน์

ประกอบไปด้วย

บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด อำนวยการและรับจ้างผลิตละคร,

บริษัท แมส มอนิเตอร์ จำกัด อำนวยการและรับจ้างผลิตรายการวาไรตี้แกมส์โชว์,

บริษัท เลมอนกราส โปรดักชั่น จำกัด อำนวยการผลิตรายการเด็ก และรับจ้างผลิตละคร,

บริษัท ทีนทอล์ก จำกัด อำนวยการผลิตรายการวาไรตี้วัยรุ่น,

บริษัท เอ็กซ์ทรอกาไนเซอร์ จำกัด อำนวยการผลิต รายการเพลง,

บริษัท แกรมมี่ เทเลวิชั่น จำกัด บริหารการตลาดและหาช่องทางการจำหน่ายให้กับบริษัทในกลุ่ม

ธุรกิจวิทยุ

ประกอบไปด้วย

บริษัท เรดิโอ คอนเซ็ป จำกัด

บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด

โดยผลิตรายการลักษณะต่างกัน ดังนี้

1.สถานี FM 88.0 Mhz (Radio No Problem)

เป็นรายการวิทยุที่มีรูปแบบรายการเดียวที่เป็นศูนย์รวม ของคำถามและคำตอบในทุกๆเรื่องราว กลุ่มเป้าหมายหลัก คือกลุ่มวัยรุ่นทั้งชายและหญิง อายุ 18 ปีขึ้นไป

2.สถานี FM 91.5 Mhz (Hot Wave)

เป็นรายการวิทยุที่มีรูปแบบการจัดที่ทันสมัย รวบรวมเรื่องราวร้อนสุดๆ สำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ กลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มวัยรุ่นทั้งชายและหญิง อายุ 12 – 25 ปี

3.สถานี FM 93.5 Mhz (Radio Vote Satellite)

เป็นรายการวิทยุที่มีรูปแบบที่มีผู้ฟังมากสุดทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบรายการวิทยุบันเทิงที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหว ในแวดวงบันเทิงทั้งไทย และ ต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ด้วยระบบดาวเทียมอันทันสมัย ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มวัยรุ่นทั้งชายและหญิง, นิสิต, นักศึกษา, หนุ่มสาววัยทำงาน และผู้ใหญ่ทันสมัย

4.สถานี FM 106.5 Mhz (Green Wave)

เป็นรายการวิทยุรายการเดียวที่ทำหน้าที่ของคลื่นสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ด้วยการใส่เนื้อหาและความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มเป้าหมายหลักคือ กลุ่มคนทำงาน อายุ 18 – 35 ปี ทั้งชายและหญิง

ธุรกิจอื่นๆ

ธุรกิจภาพยนตร์โฆษณา ภายใต้การดูแลของ บริษัท อัพเพอร์ คัท จำกัด

ธุรกิจส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดและรับจัดคอนเสิร์ต ภายใต้การดูแลของ บริษัท เอ็กซ์ทรอไนเซอร์ จำกัด

ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ ภายใต้การดูแลของ บริษัท แกรมมี่ ภาพยนตร์ จำกัด

ธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์ ภายใต้การดูแลของ บริษัท อิมเมจ พับลิซซิ่ง จำกัด

ธุรกิจบริหารงานศิลปิน ภายใต้การดูแลของ บริษัท อราทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด

ที่มา : Grammy Entertainment Annual Report 1998

AV Studio

AV Studio

ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 สิงหาคม พ.ศ.2537 โดย มีคุณ อินทร์ถนอม เชิดบุญชัย เป็นกรรมการผู้จัดการ

AV STUDIO เป็นบริษัทที่ก้าวเข้ามาทำธุรกิจทางด้านเสียงเพลง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตผลงานเพลง แต่งเพลง รวมไปจนถึงการโปรโมชั่น ซึ่งแต่เดิมนั้นตั้งใจจะทำออกมาในลักษณะเป็นห้องอัดเสียงให้เช่า แต่ทว่าในช่วงนั้นตลาดของวงการเพลงเริ่มถีบตัวสูงขึ้น การเป็นบริษัทที่บริษัทที่ผลิตเสียงเพลงจึงน่าจะเหมาะสมกว่า จึงได้รวบรวมเพื่อนฝูงก่อตั้งบริษัทขึ้นมาโดยมี คุณอรุณ และดร. วีณา เชิดบุญชัย และคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

นโยบาย

นโยบายที่เด่นชัด และจุดมุ่งหมายที่จะผลิตศิลปินที่มีคุณภาพจริงๆ ออกสู่สาธารณชน และในส่วนของศิลปินนั้นเราเน้นที่น้ำเสียงเป็นสำคัญ และพร้อมกันนั้นยังได้เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาแสดงความสามารถ และที่สำคัญต้องมีความมั่นใจในน้ำเสียงของตนเองว่าดีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย

จาก “AV STUDIO” สู่ “MUSIC AVENUE”

MUSIC AVENUE เป็นบริษัทในเครือของ AV ที่มีขั้นตอนในการทำงานในส่วนของการผลิตแยกออกจาก AV อย่างชัดเจน ก็คือศิลปินที่อยู่ในสังกัด AV นั้นจะเป็นงานสร้างที่ AV ทำเองทุกขั้นตอนโดยบุคลากรที่มีในสังกัด AV ซึ่งรวมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการโปรโมชั่น

ในส่วนของ MUSIC AVENUE นั้นจะเป็นงานสำเร็จรูปที่ศิลปินสำเสร็จเป็นมาสเตอร์แล้วนำมาเสนอให้ AV ทำโปรโมชั่นให้ต่อไป

แต่ถึงอย่างไรทั้งสองบริษัทก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีความสามารถได้มาแสดงฝีมือ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับคนฟังเพลงที่ต้องหนีความซ้ำซากจำเจ และเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะพัฒนาวงการเพลงไทยของเรา

Submarine Record Oh! My God group

Submarine Record Oh! My God group

ก่อตั้งด้วยความร่วมมือของผู้บริหาร Oh! My God ไม่ว่าจะเป็นคุณ ปานสรวง – ปวงสรร ชุมสาย ณ อยุธยา คุณตุ่น “พนเทพ สุวรรณะบุณย์”กับ Producer มือดีที่เคยทำงานให้กับศิลปินดังๆมาแล้วมากมายคือคุณ จักรี เปรมานนท์

ด้วยศักยภาพความพร้อมทางด้านการผลิตเพลงออกสู่ตลาดเพลงตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ที่ผ่านมาของ Oh! My God ได้นำเสนองานคุณภาพไม่ว่าจะเป็น ปุ๊ “อัญชลี จงคดีกิจ” ปั่น “ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” ป้อม เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” เดอะมัสต์, เมธวิน ฯลฯ พร้อมกับภาพของ Oh! My God ที่ชัดเจนกับกลุ่มเป้าหมายในระดับคนทำงานจนถึงผู้ใหญ่

แต่ขณะเดียวกันความพร้อมที่จะผลิตงานเพลงในรูปแบบวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา นอกจากนี้ยังมีศิลปินเพลงที่สามารถทำผลงานเพลงของตัวเองได้ดี มาเสนองานไว้กับ Oh! My God เป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ความร่วมมือร่วมใจที่จะขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้กลุ่มเป้าหมายเดิมสับสน ก็มาลงตัวที่การเปิดบริษัท Submarine Record จำกัด

มิวสิค บั๊กส์ (บริษัท เพาเวอร์ เทรเชอร์ จำกัด)

มิวสิค บั๊กส์ (บริษัท เพาเวอร์ เทรเชอร์ จำกัด)

ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 17 มกราคม พ.ศ.2539 

โดยคุณธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ศิลปินและนักคิดที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงไทยยาวนาน โดยมีผลงานคุณภาพที่สร้างชื่อมาแล้วตั้งแต่อัลบั้ม “แดนศิวิไลซ์”, “คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต”, “กดปุ่ม” และ “ร็อคกระทบไม้” หลังจากนั้นก็ทำห้องอัดเสียงเพื่อใช้ทำงานเพลงของตัวเองและน้องชาย เพราะต้องการห้องอัดที่สะดวก โดยไม่ต้องมีเวลามากำหนดมากนัก ประกอบกับ เพื่อนๆ น้องๆ หลายคนในวงการ เชียร์ให้เปิดบริษัทเพลง คุณธเนศก็เลยตัดสินใจเปิดค่ายเพลง จึงเกิด MUSIC BUGS ขึ้น

คำว่า “Music Bugs” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “แมลงดนตรี” มาจากความตั้งใจของคุณธเนศ ที่จะเปิดบริษัทผลิตผลงานดนตรีที่มีหลากหลายแนวทาง ไม่จำกัดรูปแบบดนตรี และ “แมลง” ในที่นี้ใช้สื่อแทนความหมายของความหลากหลายได้ชัดเจน เพราะแมลงคือสิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธ์มากที่สุดในโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท และคอนเซ็บต์ของการทำงานในการเปิดบริษัท จากนั้นจึงได้เริ่มประเดิมศิลปินเบอร์แรกของค่าย Music Bugs คือ จิโรจ วรากุลนุเคราะห์ ในแนว Blues Rock และมีผลงานดนตรีจาก Music Bugs ในปี 2539 – 2542 ดังนี้

1. จิโรจ วรากุลนิเคราะห์ อัลบั้ม แม่แรง วางแผง 22 สิงหาคม 2539

มณฑล จิรา (โปรดั๊กชั่นพิเศษ) อัลบั้ม มณฑล จิรา วางแผง 2539

2. ละอ่อน อัลบั้ม ละอ่อน วางแผง 27 กุมภาพันธ์ 2540

3. Friday I’m In Love อัลบั้ม Friday I’m In Love วางแผง 31 กรกฏาคม 2540

4. Big Ass อัลบั้ม Not Bad วางแผง 27 พฤศจิกายน 2540

5. ละอ่อน อัลบั้ม เพลงประกอบละคร “เทพนิยายนายเสนาะ” วางแผง 26 มีนาคม 2541

6. Labanoon อัลบั้ม นมสด วางแผง 27 สิงหาคม 2541

7. Girl อัลบั้ม Girl วางแผง 10 มิถุนายน 2542

ในช่วงการดำเนินงานผลิตงานดนตรีระหว่างสปี 2539 – 2542 นั้น บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นอย่างดี สำหรับการทำดนตรีที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม โดยผลงานของศิลปินในสังกัดแต่ละชุดได้รับการยอมรับจากทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น จิโรจ วรากุลนิเคราะห์ กับฝีมือการสไลด์กีต้าร์อย่างยอดเยี่ยม, ละอ่อน – กลุ่มดนตรีพลังเด็กรุ่นใหม่ รางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ด, วง Big Ass – ศิลปินคุณภาพซึ่งได้รับรางวัลศินปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม จากสีสันอวอร์ด ปี 2540

ต่อจากนั้นในปี 2541 Music Bugs โดยคุณธเนศก็ได้หันไปจับมือกับน้องชาย คุณ ศรันยู วงศ์กระจ่าง ผลิตละครมินิซีรี่ส์ให้กับช่อง 3 เรื่อง เทพนิยายนายเสนาะ” ละครแนวแฟนตาซีคอมมาดี้ ประเดิมเวลาใหม่ช่อง 3 ซึ่งศิลปินวง “ละอ่อน” ขวัญใจวัยรุ่นได้รับเลือกให้ได้รับบทสำคัญในละคร พร้อมกับการร้องเพลงประกอบละครเรื่องนี้ด้วย โดยสามารถดึงเรตติ้งช่วงใหม่ที่มีกลุ่มเด็กวัยรุ่นชมมากที่สุดให้กับช่อง 3 หลังจากจบละครเรื่องนี้ บริษัทฯก็กลับมาปั้นกลุ่มศิลปินวงน้องใหม่ วง “Labanoon” ชุด “นมสด” ที่เคยผ่านการประกวดฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ด ซึ่งการทำงานในครั้งนี้ได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จอย่างสูงจากกลุ่มคนฟังทั่วประเทศ ทำยอดขายทะลุล้านตลับในเวลาอันรวดเร็ว สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการเพลง อีกทั้งศิลปินกลุ่มนี้ยังได้รับรางวัลที่สำคัญต่างๆ มากมายจากหลายหน่วยงาน คือ รางวัลเยาวชนดีเด่น สาขาจริยธรรม จากกรมการศาสนา กระทรวงศีกษาธิการ ในวันเด็ก ปี 2541 และล่าสุด รางวัลเยาวชนดีเด่น สาขาศิลปินนักร้องประเภทกลุ่ม จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ(สยช.)ประจำปี 2542 สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทฯและศิลปินวง “ลาบานูน” เป็นอย่างดี ส่วนในปีถัดมา Music Bugs ก็เดินเครื่องผลิตศิลปินกลุ่มคุณภาพอีกลุ่มคือวง “Girl” ได้รับความสำเร็จไม่แพ้กัน ทำให้ชื่อของบริษัทฯ ติดอยู่ในกลุ่มนักฟังเพลงทั้วประเทศ และคอยติดตามผลงานของบริษัทฯเรื่อยมา สำหรับการดำเนินงานในปี 2543 คุณ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ยังเดินหน้า โดยได้วางแผนการผลิตผลงานของศิลปินในสังกัดไว้คร่าวๆ ดังนี้

1. Peak อัลบั้ม  Peak วางแผง มีนาคม 2543

2. Labanoon วางแผง เมษายน 2543

3. Girl วางแผง พฤษภาคม 2543

4. ตูนเภา วางแผง กรกฏาคม 2543

5. Big Ass วางแผง สิงหาคม 2543

6. จิโรจ วรากุลนุเคราะห์ วางแผง กันยายน 2543

7. Friday I’m In Love วางแผง กันยายน 2543

8. Labanoon (Special) วางแผง ตุลาคม 2543

9. ละอ่อน วางแผง พฤศจิกายน 2543

10. รวมฮิต (2 ชุด) วางแผง ธันวาคม 2543