20 ปี คาราวาน ประวัติศาสตร์ที่ยังคงหายใจของบทเพลงจากกองเกวียน

วง คาราวาน

เดือนที่ผ่านมาอาจจะเป็นแค่เพียงเดือนหนึ่ง ที่บ่งบอกว่าวันเวลาของปีใหม่กำลังใกล้จะมาถึง แต่สำหรับอีกคนหลายคนที่ผู้เขียนเชื่อว่า ถึงแม้ว่าวันและเวลาที่ฝากไปกับปีใหม่และผ่านกลายเป็นปีเก่าไปแล้วไม่ว่าจะกี่ปี ตุลาคมไม่ใช่เป็นเพียงแค่เดือนตุลาคม หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของพลังวีรชนคนหนุ่มสาวที่ร่วมในเหตุการณ์ ตุลาคม 2516 และ 2519 ตุลาคมคือบาดแผลที่ร้าวลึกในใจของดอกไม้สีขาวเหล่านั้น และเป็นแผลที่ร้าวรอนกว่าในดวงใจของผู้ที่สูญเสียดอกไม้ที่กล้าหาญไป ผู้เขียนเองถึงแม้จะไม่ทันที่จะอยู่ร่วมรับรู้ความเป็นไปของเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคิดเสียดายอยู่ว่าความจริงหลายหน้าของประวัติศาสตร์ที่เยาวชนหนุ่มสาวในยุคนี้ควรจะได้ศึกษานั้นขาดหายไปจากตำราเรียน เลยต้องมาเรียนรู้และค้นหาหนังสืออ่านกันเองสำหรับผู้สนใจ หากจะพูดว่าประวัติศาสตร์สร้างวีรบุรุษแล้วเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนได้สร้างนักคิด นักเขียน และศิลปินหลายคนเช่นกัน คาราวานคือผู้ที่เล่าขานถึงการต่อสู้เพื่อชีวิต เพื่อสังคม และเพื่อประชาชน และบทบันทึกการต่อสู้นั้นถูกเรียงร้อยอยู่ในบทเพลงของศิลปินกลุ่มนี้

คอนเสิร์ต 20 ปี คาราวาน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ของพลังวีรชนในครั้งนั้น ยังคงได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งกว่าอบอุ่นจากแฟนเพลงที่เคยเป็นพลังแห่งหนุ่มสาวในยุคนั้นและแฟนเพลงสาวๆหนุ่มๆในยุค 20 ปีให้หลัง บ่ายแก่ๆของเสาร์นั้นหน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดูคึกคักเป็นพิเศษ เมื่อผู้เขียนฝ่าการจราจรไปถึงสนามหลวงประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนเวลาแสดงนั้น มีผู้ชมกว่าครึ่งเดินเตร็ดเตร่รออยู่บริเวณนั้นแล้ว บ้างก็นั่งเล่นอยู่ใต้ร่มไม้ข้างหอประชุม บ้างก็กำลังคุยอย่างออกรสชาติกับเพื่อนฝูงที่บันไดหน้าหอ มีหลายคนอยู่เหมือนกันที่เดินดูหนังสือ เสื้อยืด และของที่ระลึกชิ้นอื่นๆอยู่หน้างาน ไม่มีการขายบัตรหน้างานเนื่องจากบัตรถูกจองหมดจนเกลี้ยงก่อนวันแสดง ประตูหอประชุมเปิดช้ากว่าเวลาที่แจ้งไว้เล็กน้อย ในรอบที่ผู้เขียนไปดูแฟนเพลงน่ารักมากทยอยกันเข้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ภายในเวลาสั้นๆหอประชุมใหญ๋ธรรมศาสตร์ก็แน่นขนัดทั้งชั้นบนและชั้นล่างที่มีการเสริมเก้าอี้ตลอดแนว ผู้เขียนคิดว่านอกจากคอนเสิร์ตของเบิร์ด ธงไชย เมื่อครั้งที่ผ่านมาที่ศูนย์วัฒนธรรมแล้ว คงจะมี แต่คอนเสิร์ท 20 ปี คาราวานเท่านั้นที่เรียกผู้ชมได้อย่างล้นรอบแบบนี้

ฉากบนเวทีถูกจัดไว้อย่างเรียบง่ายมีแต่จอไสล์ดสีขาวขนาดใหญ่ 2-3 อันแขวนอยู่ข้างๆ และด้านหลังเวทีถูกยกพื้นเล็กน้อยสำหรับวางเครื่องดนตรีและจัดแต่งเวทีให้เป็นรถบรรทุกเก่าๆ จากยุค 20 ปีก่อน รถบรรทุกคือการสัญจรเล่นดนตรีไปทุกที่ของคาราวานในครั้งนั้น คนที่เข้าไปฟังคาราวานไม่ได้แปลกใจกับความที่ไม่มีอะไรในการจัดฉาก และไม่ได้คาดหวังที่จะให้มีฉากที่หรูวิจิตรพดร้อมบรรดาแดนเซอร์อีกหลายชีวิตบนเวที เพราะคนที่รู้จักคาราวานดีย่อมตระหนักดีว่าความเรียบง่ายของฉาก สะท้อนถึงความเรียบง่ายของเพลงคาราวาน ความเรียบง่ายที่เนื้อหาสาระและท่วงทำนองที่ผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านมีพลังมากพอที่ไม่ต้องนำสิ่งอื่นมาประกอบ เป็นความเรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่อย่างถ่อมตนของคนที่รู้ว่ามีอะไรที่ดีกว่าที่จะมอบให้กับคนฟัง

ผู้สร้างตำนานเพลงเพื่อชีวิต 4 คน น้าหงา (สุรชัย จันทิมาธร) น้าหว่อง (มงคล อุทก) น้าอืด (ทองกราน ทานา) และ น้าแดง (วีระศักดิ์ สุนทรศรี) ขึ้นเวทีพร้อมเครื่องดนตรีประจำตัว กีตาร์ ไวโอลิน และพิณพื้นบ้านจากอิสาน นี่เองที่เป็นอาวุธเพียงอย่างเดียวของ คาราวานที่ใช้ต่อสู้กับระบอบการปกครองสมัยนั้น น้าหงารับหน้าที่เป็นพิธีกรของงาน เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นคนพูดคุยมากที่สุดเมื่อเทียบกับสมาชิกคนอื่นๆในวง

ในช่วงแรกคาราวานเริ่มเล่าเรื่องของเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยเพลงเก่าหลายเพลงที่เคยปลุกสำนึกและวิญญานของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็น จิตร ภูมิศักดิ์ วีรบุรุษที่ตายอยู่ข้างทางเกวียนหรือเพลงกุลาที่น้าหงาเล่าให้คนฟังว่าเป็นเพลงที่ทำให้สมาชิกทั้ง 4 คน ได้มาเจอกัน ฟังแล้วเห็นภาพของทุ่งกุลาที่มีฟ้าสีแห้งดินสีโหย ได้อย่างค่อนข้างชัดเจน เพลงนกสีเหลือง อีกเพลงหนึ่งที่ระลึกถึงวีรชนคนหนุ่มสาวที่เสียชีวิตไป ผู้ที่แต่งเพลงนี้คือหนึ่งในเพื่อนพ้อง คาราวาน (วินัย อุกฤษณ์) ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจจากเหตุการณ์มาก และแต่งเพลงนี้หลังออกจากโรงพยาบาลประส่ทให้กับนกสีเหลืองทุกตัวที่จากไป ในตอนท้ายๆของเพลงผู้ฟังได้ร้องคลอตามกับคาราวาน กางปีกหลีกบินจากเมือง เจ้านกสีเหลืองจากไป เจ้าคือวิญญานเสรี บัดนี้เจ้าชีวาวาย เพลงนี้จบด้วยบรรยากาศเงียบและอารมณ์เศร้า ๆที่ยังคงค้างในใจทั้งของผู้เล่นและผู้ฟัง จะมีภาพขาวดำของ คาราวานจากอดีตเมื่อวันวานฉายบนจอไสลด์เป็นระยะๆ คนภูเขาเพลงที่เป็นที่รู้จักกันดีอีกเพลงหนึ่งที่ วิสา คัญทัพ แต่งคำร้อง (ที่น้าหงาแอบแซวว่าเนื้อเพลงค้นเจอในซองกีตาร์) มีเสียงช่วยร้องคลอเบาๆกับ ร้อยดาวร้อยเดือนมา ร้อยดวงมาเรียงเป็นวง ตั้งแต่ต้นจนจบเพลง เพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายของช่วงแรกของการแสดงที่เล่นอะคูสติคตลอดจอไสลด์ในช่วงพักนี้แปลงสภาพมาเป็นจอหนังขาวดำ เป็นการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของบุคคลหลายหลากวงการเกี่ยวกับ คาราวาน

สำหรับช่วงแรกนี้มีความคิดเห็นของคนหนุ่มๆ สาวๆในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็จะชื่นชอบ คาราวานในฐานะที่เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่กลายเป็นอมตะไปแล้ว และ คุณ จิรพรรณ อังศวานนท์ได้พูดถึง คาราวาน ในแง่ดนตรีที่มีเนื้อหาและทำนองเดิมๆ แต่สำหรับผู้เขียนคิดว่าจุดนี้คือจุดที่ คาราวาน ได้แสดงให้เห็นถึงความมีอะไรๆของ คาราวานที่ทำให้เนื้อหาและทำนองเดิมๆนั้นยังอยู่ได้ในใจของผู้ฟังจนถึงปัจจุบัน ในช่วงสองเป็นการเล่นกับวงใหญ่มีกลองและเครื่องดนตรีไฟฟ้าร่วมบรรเลงด้วยเท่าที่ผู้เขียนจำได้ น้าหมานจากวง หินเหล็กไฟมาเล่นกลองให้เพลงในช่วงนี้เป็นเพลงที่น้าหงาบอกว่า เป็นเพลงใหม่ที่ยังไม่ค่อยคุ้นหูมากนัก เริ่มตั้งแต่เพลงเพลง เส้นทางเดิน ที่น้าอืดแต่ง เพลง สหาย ที่น้าหว่องแต่งและร้องเอง อาจจะเป็นเพราะใช้เครื่องดนตรีจากวงใหญ่เล่นด้วยเต็มวงก็ได้ เพลงสุดท้ายของช่วงสองนี้เป็นเพลงที่น้าหงาเล่าให้ฟังว่าเป็นเพลงที่เพื่อนๆเรียกว่าเพลง ภูเขาทลาย ซึ่งชื่อจริงๆของเพลงนี้ คือ วัฏสงสาร

บทสัมภาษณ์ช่วงสองเป็นการตีความ คาราวาน จากมุมมองของนักวิขาการที่รู้จักกันดี คุณ ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ ที่ให้คำจำกัดความของ คาราวาน ว่าเป็นทูตสันติภาพ จาก ประเทศไทยไปแสดงที่ญี่ปุ่นบ้าง ที่ลาวบ้างและล่าสุดที่เขมรตามคำขอวานของ คุณ ไกรศักดิ์ อีกท่านหนึ่งที่ให้ความเห็น คือ คุณ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ให้ความหมายของ คาราวาน ที่ผู้เขียนคิดว่า ถูกใจ ผู้เขียนที่สุด ( และอาจจะอีกหลายคน ) ที่ว่า คาราวาน คือ ความหลากหลายและลุ่มลึกทางวัฒนธรรม หลากหลายจากการเอาดนตรีและภาษาถิ่นพื้นบ้านมาใส่ในบทเพลง และลุ่มลึกในความหมายและท่วงทำนองที่กินลึกเข้าไปในอารมณ์และความรู้สึก คุณทอดด์ ทองดี หนุ่มอเมริกันคืออีกผู้หนึ่งที่ได้ให้ความคิเห็นเกี่ยวกับ คาราวาน สำหรับคุณ ทอดด์ ผลงานของคาราวานไม่ใช่ขนมที่ยัดเยียดให้คนฟังเหมือนเพลงตลาดทั่วๆไป แต่เป็นเพลงที่ทำให้คนคิดตาม เนื่อหาในเพลงนั้นสามารถเอามาถกเถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้

เพลงที่เล่นในช่วงสามนี้สะท้อนคำจำกัดความของคาราวาน ของคุณ ชาญวิทย์ได้อย่างเด่นชัดในแง่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรื่องราวของชาวบ้าน อิทธิพลทางด้านภาษา วิถีการดำเนินชีวิตและดนตรีของชนกลุ่มน้อยถูกบันทึกในบทเพลงที่เล่นในช่วงนี้ เช่น เพลง ไอปองปอนซาเป็นภาษาของชาวลัวะ ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ชายแดนจังหวัดน่าน เป็นเพลงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินของชาวลัวะ ที่มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่หาได้ตามป่า เพลงนี้น้าหงาแต่งขึ้นจากประสบการณ์และความประทับใจจากการที่ไปอยู่ป่าทางเหนือและได้รู้จักกับชาวบ้าน ผุ้เขียนชอบเสียงหวานจากไวโอลินฝีมือของน้าอืดในเพลงนี้มากเป็นพิเศษ ภาษาและสำนวนชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นคำง่ายๆแต่กินความหมายลึก เพลงใกล้ตาไกลตีน ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เอาสำนวนพื้นบ้านมาใช้เป็นชื่อเพลง

มาถึงช่วงศิลปินรับเชิญ ท่านแรก คือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนร่วมอุดมการณ์และร่วมต่อสู้มาด้วยกันกับ คาราวาน ให้เกียรติร่วมเป่าแคนในเพลงที่จัดให้อยู่ในระดับ คลาสสิคของเพลงเพื่อชีวิตไปแล้ว เดือนเพ็ญ บทเพลงของการอาลัยหาแผ่นดินเกิดที่ข้ามน้ำข้ามฟ้าและป่าเขามาจากแดนไกล คุณ ปู
พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ นักร้องเพลงเพื่อชีวิตรุ่นน้องที่กำลังมาแรงเป็นศิลปินรับบเชิญอีกคนหนึ่งทั้งช่วยร้องและเล่นกีตาร์ ในเพลง ดวงจำปา เพลงของอ้ายน้องชาวลาวและเพลง คืนรัง อีกเพลงของ คาราวานที่หลายคนชื่นชอบ

ในเนื้อเพลงที่ว่า โอ้ยอดรักฉันกลับมา จากขอบฟ้าที่ไกลแสนไกล จนถึง ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง… เพลงนี้คนฟังคงจะอย่างน้อยที่สุดอาจจะร่วมรับรู้การกลับคืนรังของคนที่เข้าป่านนั้น ต้องการกำลังใจและความเข้าใจมากแค่ไหนจากคนเมืองในยุคนั้น เพลงในช่วงสุดท้ายเป็นเพลงที่มีเนื่อหาค่อนข้างแรง มีจังหวะและทำนองที่หนัก และยิ่งใช้วิธีเล่นแบบเต็มวงใหญ่แล้ว ทำให้บรรยากาศในช่วงท้ายนี้รุนแรงและคึกคักอย่างเต็มเครื่อง เช่น คนกับควาย คนตีเหล็ก ถั่งโถมโหมแรงไฟ

คนฟังมีโอกาสได้ฟังเพลงชาติ (ไทย) ในแบบของ คาราวาน เมื่อใกล้ 6 โมงเย็น ก่อนที่จะจบการแสดงมีแขกรับเชิญมาว่ากลอนสดวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาบ้านเมืองรวมไปถึงการทำงานคณะรัฐบาล และเพลง คาราวาน บทเพลงของกองเกวียนคนทุกข์ที่ครั้งหนึ่งเคยปลุกพี่น้องผองเพื่อนชีวิต ตื่นเถิดมวลมิตรผู้ยังหลับไหลถูกใช้เป็นเพลง ปิดท้าย

สามชั่วโมงเศษกับการฟังดนตรีจาก คาราวาน เหมือนกับการได้ฟังส่วนหนึ่งในเรื่องราวชีวิตของผู้ที่ถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ เหมือนกับการได้รับรู้และสัมผัสบางส่วนเพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยที่แท้จริง วีรกรรมของวีรชนในยุคแสวงหาอาจจะกำลังถูกลืมและค่อยๆกลืนหายไปกับกระแสตามควมเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคนี้ถ้าเราไม่มี คาราวาน สำหรับผู้เขียนเป็นหนึ่งในเยาวชนหนุ่มสาวของยุคนี้ คาราวาน คือ ตำนานที่ยังมีชีวิตและ คาราวาน คือความจริงของประวัติศาสตร์ที่ยังคงหายใจอยู๋

ผู้เขียน: เจ้าชายน้อย

หนึ่งในสมาชิกทีมเวบไซต์บ้านเพลงเก่า เข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับทีมผู้จัดทำ นายเจ มอลลี่ พี่ดา เข้ามาเป็นคนสุดท้าย และก็เป็นผู้ดูแลเว็บบ้านเพลงเก่าในปัจจุบันนี้ ความรู้เรื่องเพลงเก่าอาจจะมีไม่มาก แต่ว่าจะพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลเท่าที่จะหาได้นะครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.