โรงเรียนของหนู – พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ (ปู) เกิดวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 พื้นเพเป็นชาวจังหวัดหนองคาย พงษ์สิทธิ์ออกอัลบั้มชุดแรก ‘ถึงเพื่อน’ ปี 2530 กับค่ายแว่วหวาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้จากชุดแรกเขาห่างหาย ไปนานถึง 4ปี ระหว่างนั้น ก็ตระเวนเล่นทัวร์คอนเสิร์ต ต่างจังหวัดกับศิลปินแนวเพื่อชีวิตด้วยกัน และเล่นประจำตามผับเพื่อชีวิตต่างๆ
อัลบั้มชุดถัดมา ‘เสือตัวที่ 11’ ในปี 2533 สังกัดค่ายรถไฟดนตรี สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง เพลงที่ทำให้ชื่อของ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ พุ่งทะยานเป็นศิลปินเพื่อชีวิต เพลงที่มาแรงที่สุด คือเพลง ‘ตลอดเวลา’ เพลงเกี่ยวกับความรัก กำลังใจที่แสดงออก ผ่านเนื้อหาและท่วงทำนองที่อ่อนโยน ส่วนเพลง “โรงเรียนของหนู” อยู่ในอัลบั้ม ‘บันทึกการเดินทาง’ เป็นเพลงประจำรายการโรงเรียนของหนู ที่ออกอากาศทางช่อง 5 ส่วนที่มาของเพลงที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เล่าจากเรื่องที่ประสบมา จะจริง-เท็จประการไม่อาจรับรองได้ 100% แต่ก็คงไม่หนีจากนี้เท่าไรนัก และนี่คือเรื่องราวของเพลงโรงเรียนของหนู

ขอจงอ่านโดยระทึกใจพลัน :

ถ้าหากใครที่เคยออกค่ายฯ ครั้งที่ 4 กับชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ABAC ณ โรงเรียนบ้านขุนน้ำคับ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 คงจะรู้จักท่าน อาจารย์อำนาจ รักประกิจ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ อาจารย์อำนาจเป็นครูบ้านนอกที่มีอุดมการณ์สูงส่งคนหนึ่ง ผู้เสียสละชีวิตสุขสบายส่วนตัว เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ ตามชนบทที่ทุรกันดาร อาจารย์อำนาจ เล่าให้พวกเราฟังถึงเรื่องราวของแกสมัยที่ได้รับการบรรจุเป็นครูใหม่ ๆ โดยได้เข้ามาประจำเป็นครูคนเดียวที่โรงเรียนบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าอะไรผมจำไม่ได้แล้ว ชาวบ้านและเด็กๆจึงพูดไทยไม่ค่อยดีเท่าไรนัก สมัยนั้นการเดินทางไปยังหมู่บ้านลำบากมาก ต้องเดินเท้า หรืออย่างดีก็ใช้มอเตอร์ไซด์(ฮ่าง) ยิ่งหน้าฝน ยิ่งยากใหญ่หมดสิทธิ์ไป ถึงขนาดต้องอาศัยให้ทหาร ตชด. ใช้เฮลิคอปเตอร์ ขับไปส่งที่โรงเรียน เพราะทางสัญจรโดยน้ำท่วมหมด แล้วอาจารย์อำนาจก็ต้องอยู่ที่โรงเรียนตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ คือต้องค้างที่โรงเรียนเลย จะกลับบ้านก็ต้องรอให้ทหาร ตชด. ใช้เฮลิคอปเตอร์มารับ บางทีก็ต้องอยู่เป็นเดือนๆ หมู่บ้านแห่งนั้นจึงคล้ายๆว่า จะถูกตัดขาดจากสังคมเมือง ดังนั้นท่านอาจารย์จึงเปิดโรงเรียนสอน และจัดวัน-เวลาในการสอนเอง โดยไม่ยึดตามกำหนดเวลาทั่วไป คือสอนตอนเช้าถึงเที่ยง ช่วงเย็นก็ปล่อยให้เด็กๆ กลับมาสอนพ่อแม่ทำไร่ บางทีก็สอนเสาร์-อาทิตย์ด้วย เวลาที่โรงเรียนทั่วไปปิดเทอมแกก็เปิดสอน
ด้วยความน้อยใจในโชคชะตา (เรื่องความรัก คือแกอกหัก) ประกอบด้วยความอึดอัดกับระบบการศึกษาของหน่วยราชการ ที่วันๆนั่งสบายในห้องแอร์ คอยวางนโยบายที่ตัวเอง ไม่ได้เป็นคนปฏิบัติเอง อีกทั้งความเห็นอก เห็นใจ ชาวบ้าน-ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย ที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมกันทางโอกาสทางการศึกษา และโอกาสในชีวิต จากคนเมืองและราชการ สิ่งต่างๆ ในใจเหล่านี้ ทำให้เวลาว่างๆ อาจารย์อำนาจจึงชอบแต่งกลอน เขียนกลอน ระบายความรู้สึกต่างๆ ในใจไว้หลายบท แล้วนำบทกลอนเหล่านั้น แปะไว้ตามฝาอาคารเรียนเก่าๆ ตัวอย่างบทกลอนเหล่านั้น ก็มีดังนี้ เช่น

“โรงเรียนมีครูหนึ่งคน
อยากจะมีใครสักหนึ่งคน
อดทนอยู่ห่างไกล ความสบาย”

(ระบายความรู้สึกเรื่องชีวิตคู่ อยากมีแฟน)

“ใช่จะวอนให้เห็นใจ
ความสำนึกต่อเพื่อนไทย
ไทยกันไทยใยแตกต่างกัน”

(ความรู้สึกเห็นใจเด็กๆ ชาวไทยภูเขา ชนกลุ่มน้อย)

แล้ววันหนึ่ง รถของชุดสำรวจหาข้อมูลของคณะผู้จัดทำรายการโรงเรียนของหนู ก็สังเกตเห็นธงชาติไทย ที่ชูเด่นเป็นสง่า เป็นที่สะดุดตา ท่ามกลางป่าเขา ในเวลาที่โรงเรียนทั่วไปเขาปิดเทอมกัน ทางคณะสำรวจก็สนใจ สงสัยว่าหน่วยงานใด หรือโรงเรียนที่ไหนมาเปิดตรงนี้ เวลานี้ คณะสำรวจดังกล่าวจึงเข้าไปดู
หลังจากรับรู้เรื่องราวต่างๆ ของโรงเรียน ชาวบ้าน และชีวิตของอาจารย์อำนาจแล้ว และสภาพโรงเรียนก็เป็นที่น่าสนใจ ตรงกับเป้าหมายของรายการ โรงเรียนแห่งนี้จึงถูกนำเสนอในรายการโรงเรียนของหนู ในครั้งที่สองของการออกอากาศ ซึ่งบังเอิญว่าทางรายการได้จ้างวานให้พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ แต่งเพลงประจำรายการ พี่ปู คัมภีร์ จึงได้มีโอกาสดูเทปรายการ ในตอนที่ไปถ่ายที่โรงเรียนแห่งนี้ และเห็นได้บทกลอนต่างๆ ตามฝาโรงเรียนที่เล่าไปแล้วข้างต้น จึงนำบทกลอนเหล่านั้น และเรื่องราวนั้นๆ มาแต่งเพลง ‘โรงเรียนของหนู’ เป็นเพลงประจำรายการ และหลังจากที่ได้นำเพลง “โรงเรียนของหนู” มาใส่ไว้ในอัลบั้ม ‘บันทึกการเดินทาง’ พี่ปู คัมภีร์ ก็ส่งเงินจำนวน 60,000 บาท มาให้อาจารย์อำนาจ เป็นค่าลิขสิทธิ์ อาจารย์อำนาจจึงใช้เงินเหล่านั้น มาซ่อมแซมอาคารเรียน และพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ จึงสามารถพูดได้ว่าเพลงโรงเรียนของหนู มีที่มาจากครูเล็กๆ คนหนึ่ง
ปัจจุบันนี้อาจารย์อำนาจ คงจะเป็นครูสอนประจำอยู่โรงเรียนใด โรงเรียนหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามความตั้งใจของแก ที่เคยบอกว่า สักวันถ้าแกสามารถทำให้โรงเรียนบ้านขุนน้ำคับที่เราไปออกค่าย ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แกก็จะขอย้ายตัวเองไปสอนที่โรงเรียนห่างไกล แห่งใดแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียนแห่งนั้นและโรงเรียนต่อๆ ไป
สำหรับผมแล้ว ท่านอาจารย์อำนาจไม่ได้เป็นแค่พ่อพิมพ์ของชาติแค่นั้น แต่อุดมการณ์ของท่าน ทำให้ท่านเป็นมากกว่าตำนานที่มีชีวิต และเป็นเกียรติสำหรับผมที่ ครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มีโอกาสสัมผัส ได้พบเจอครูเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ทุกครั้งที่ได้ฟัง-ร้องเพลง “โรงเรียนของหนู” ก็ทำให้ผมหวนระลึกถึงเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ของแก และทำให้ผมมีกำลังใจ ในการที่จะทำอะไรเพื่อสังคม แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมทำก็เปรียบได้แค่ผงฝุ่น เมื่อเทียบกับสิ่งที่อาจารย์อำนาจได้ทำไว้

รัตติกาล

Avatar

ผู้เขียน: เจ้าชายน้อย

หนึ่งในสมาชิกทีมเวบไซต์บ้านเพลงเก่า เข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับทีมผู้จัดทำ นายเจ มอลลี่ พี่ดา เข้ามาเป็นคนสุดท้าย และก็เป็นผู้ดูแลเว็บบ้านเพลงเก่าในปัจจุบันนี้ ความรู้เรื่องเพลงเก่าอาจจะมีไม่มาก แต่ว่าจะพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลเท่าที่จะหาได้นะครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.