รู้รักษาตัวรอด เป็นยอด ดี.เจ.

เพลงไทยใกล้เคียงฝรั่งมากขึ้น  

แต่ได้เปรียบกว่าตรงที่เวลาฟังแล้วไม่ต้องเปิดดิกชันนารี 

 วัยรุ่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศก็หันมาฟังเพลงไทยกัน 

 ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้คนไทยหลายคนมีงานทำ  

ทั้งๆ ที่เป็นศิลปินและไม่ใช่ศิลปิน  รวมทั้งบรรดา ดี.เจ.ทั้งหลายด้วย

…………มาจะกล่าวบทไปถึง  บุคคลจำพวกหนึ่ง  ซึ่งมีความสำคัญกับวงการเพลงทุกๆ ประเทศ  เพราะถ้าไม่มีบุคคลเหล่านี้  บรรดาศิลปิน  นักร้อง  นักแต่งเพลง  ก็จะต้องแต่งเพลง  ร้องเพลงของตัวเองภายในครอบครัวของตัวเท่านั้น  จะมีคนกรี๊ดเฉพาะลูกๆ หรือญาติไม่กี่คน  เพราะไม่มีโอกาสที่จะให้ใครได้ฟังงานของตัวเอง

…………เมื่อสัก 30 ปีก่อน คนไทยไม่มีใครรู้จัก ดี.เจ.หรอก  รู้จักแต่เจดีย์ว่าเป็นสิ่งก่อนสร้างในวัดยอดแหลมๆ  ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรใดๆ กับวงการวิทยุ  แต่ถ้าพูดถึงวิทยุละก็  ใครๆก็รู้จัก  ทุกบ้านทุกช่องจะมีวิทยุทรานซิสเตอร์สักเครื่อง  จะทำอะไรก็ต้องเปิดวิทยุฟัง  ซักผ้า  เลี้ยงควาย  ทำไร่  ทำนา  ก็ต้องฟังละครวิทยุเรื่องรสสวาทแม่ยายกับลูกเขย  ฟังข่าวคุณนคร  มังคลายน  ฟังเพลงคุณสุรพล  คุณไวพจน์  หรือไม่ก็คุณสุเทพ  หรือสุนทราภรณ์  ซึ่งก็เป็นความบันเทิงที่มีคุณค่าแค่ถ่ายไฟฉาย 2 – 3 ก้อน

…………สถานีวิทยุสมัยนั้นก็ยังไม่เยอะนัก  และส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบเอเอ็ม  เรียกว่าฟังกันแบบถึงลูกถึงคน  ไม่มีมาพูดอ้อมแอ้มแบบเอฟเอ็มสมัยนี้  จนเดี๋ยวนี้วิทยุเอเอ็มที่โฆษณา  จัดรายการ  อ่านข่าว  เปิดเพลงลูกทุ่ง  พูดมันๆ ก็ยังมีอยู่  ผมก็ชอบฟัง  มันจริงใจดี  ประเภท  “ก็ว่ากันแหม…เจ้าประคุณรุนช่อง  อยากสวยอยากงามกันอย่างนางงามจักรวาล  ก็อย่าลืมครีมไข่มุกแท้กวนเองนะครับพ่อแม่พี่น้อง  เอ้า…ข่าวต่อไป  เมื่อเวลาหนึ่งนาฬิกาวานนี้  ร้อยตำรวจตรี  สมชายได้รับแจ้งว่า…”  อะไรอย่างนี้ฟังแล้วมันรูหูพิลึก

…………ส่วนพวกวิทยุเอฟเอ็มสเตอริโอมัลติเพล็กซ์  เพิ่งจะตามมาฮิตทีหลัง  แต่ก็ฮิตสู้เอเอ็มยังไม่ได้  จนกระทั่งวันนี้วิทยุเอฟเอ็มก็มีเฉพาะในกรุงเทพฯ  กับเมืองใหญ่ๆ หน่อยของแต่ละภาค  ส่งกระจายเสียงไม่คลุมกว้างเหมือนเอเอ็ม  เพราะคลื่นของเอฟเอ็มนั้นถี่มาก  เป็นหลักล้านครั้งต่อวินาที  ลูกคลื่นก็เลยเล็กกว่า  ไปเจอตึกเจอภูเขาก็พังแล้ว  จึงต้องใช้เสาอากาศช่วย  ส่วนเอเอ็มนั้นแม้เสียงจะดีไม่เท่าเอฟเอ็ม  เพราะความถี่น้อยกว่า  เป็นหลักพันครั้งต่อวินาที  แต่ลูกคลื่นใหญ่ว่า..เจออะไรขวางก็ผ่านได้หมด  จึงส่งได้ในระยะที่ไกลกว่า..โอ้โฮ..วันนี้เล็คเชอร์วิชาฟิสิกส์ด้วยแฮะ

…………จะพูดได้ละเอียดเสียทั้งหมดของทั้งเอเอ็มและเอฟเอ็มก็ชักท้อใจ  ด้วยว่าเรื่องมันเยอะเสียเหลือเกิน  จึงจะเอาเฉพาะเรื่องของการจัดรายการเพลงอย่างเดียวดีกว่า

…………มาพูดถึงบทบาทของนักจัดรายการเพลงสมัยก่อนนั้น  ก็เป็นอาชีพหนึ่งซึ่งมีหน้าที่เปิดเพลงไทยหรือเพลงฝรั่งแบบใดแบบหนึ่ง  มีน้อยมากที่จะมีการจัดทั้งเพลงไทยและเพลงฝรั่งควบกันไป  นักจัดรายการเพลงที่มีวัยรุ่นสมัยนั้นชื่นชม  ก็มักจะเปิดเพลงฝรั่งจึงจะเป็นที่นิยม  จำพวกสี่เต่าทอง  สีลิง (The Monkeys) หินกลิ้ง (The Rolling Stones)  ใหม่ขึ้นมาหน่อยก็พวกเดอะบีจีส์  อะไรทำนองนี้  ซึ่งจะเป็นเพลงป๊อบหรือเพลงป๊อปร็อคที่ไม่หนักหนาสากรรจ์นัก  มีอยู่เจ้าเดียวที่ยืนยงความร้อนแรงจำพวก Hard Rock ได้เป็นสิบๆ ปี คือ คุณวิฑูร  วทัญญู  ซึ่งสะใจจิ๊กโก๋มาก  คุณวิฑูรมีลีลาการพูดไม่เหมือนใคร  คือตื่นเต้นตลอดเวลา  น้ำเสียงดุดัน  มีการตั้งสมญานามศิลปินฝรั่งต่างๆ เช่น  เดอะเมาเท่น  จอมภูผา,  สกอร์เปี้ยน  แมลงป่องผยองเดช,  คณะลายสก็อต  เบย์ซิตี้โรลเลอร์  เป็นต้น  แต่ในที่สุด  ด้วยเหตุผมอันใดก็ไม่ทราบ  แกต้องหันมาจัดรายการเพลงไทย  อาจจะจำใจโอนอ่อนตามกระแสสังคม  ตั้งชื่อรายการได้ถูกใจผมมาก  คือรายการ “เพลงไทยชาตินิยม”  ไม่รู้ประชดใคร  แต่เวลาแกเปิดเพลงของคีรีบูนหรือรวมดาวนี่  แกก็ยังตืนเต้นพอๆ กับที่แกเปิด  Deep Purple  ยังไงยังงั้น

…………เปิดเพลงบ้าง  พูดบ้าง  อ่านลำนำเก๋บ้างเชยบ้าง  ตอบจดหมายบ้าง…ก็ตามแต่ใจของนักจัดรายการคนนั้นๆ  ไม่มีการถูกบังคับ  อยากเปิดเพลงไหนก็เปิด  ส่วนเบื้องหลังนั้นเล่า  ก็ต้องวิ่งตัวเป็นเกลียวเพื่อหาสปอนเซอร์เข้ามา  ให้ค่าเวลาแก่สถานี  ส่วนที่เหลือจึงเป็นรายได้ของนักจัดรายการ  แต่จะเหลือพอที่จะซื้อเม็ดกวยจี๊สัก 2 – 3 เม็ด  หรือซื้อบ้านสักหลังนั้น  ก็แล้วแต่รายการว่าฮิตหรือไม่ฮิต

…………ทุกวันนี้มีนักจัดรายการเพลงถูกเรียกว่า ดี.เจ.  ไปแล้วเพราะสั้นดี  ดูทันสมัยและดูเป็นฝรั่ง  คำว่า ดี.เจ.นั้นมาเห่อในบ้านเราก็พอดีช่วงตอนที่ดิสโก้เธ็คกำลังเป็นที่นิยม  ไนท์คลับหรือบาร์ที่มีวงดนตรีเล่นก็เริ่มตาย  หรือเปลี่ยนเป็นดิสโก้เธ็คกันหมด  เจ้าของกิจการก็ชอบ  ไม่ต้องจ้างนักดนตรีเยอะๆ  เจ้านายเบื๊อกเลือกแผ่นเสียงเปิดแค่คนเดียวก็สบาย  แล้วก็เรียกให้มันโก้อย่างฝรั่งว่า  ดี.เจ.ซึ่งย่อมาจาก  ดิสก์จ๊อกกี้ (Disk Jockey)  แปลว่าคนขี่แผ่น  ซึ่งฟังแล้วก็ไม่เห็นจะเข้าท่าตรงไหน  ฝรั่งโง่ๆ ก็มีถมไป

…………ตอนนี้ ดี.เจ.ในบ้านเราก็เต็มไปหมด  แต่ที่มีชื่อเสียงก็พอจะนับตัวกันได้  เริ่มมีบริษัทที่จะเอาดีทางวิทยุและมี ดี.เจ.เยอะๆ  เช่น  ไนท์สปอต  ซึ่งก็เป็นคนไทยเราทั้งนั้น  แต่ชื่อเป็นของฝรั่ง  เป็นหุ้นลมอยู่กระมัง  อันนี้ผมประชดเล่นนะฮะ

…………รายการเพลงที่นิยมในสมัยนี้กลับกลายเป็นเพลงไทย  เพราะกระแสคลื่นลมทางธุรกิจช่วยพัดพาให้คุณภาพของเพลงไทยใกล้เคียงฝรั่งมากขึ้น  แต่ได้เปรียบกว่าตรงที่เวลาฟังแล้วไม่ต้องเปิดดิกชันนารี  วัยรุ่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศก็หันมาฟังเพลงไทยกัน  ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้คนไทยหลายคนมีงานทำ  ทั้งๆ ที่เป็นศิลปินและไม่ใช่ศิลปิน  รวมทั้งบรรดา ดี.เจ.ทั้งหลายด้วย

…………บทบาทของ ดี.เจ.และรายการเพลงที่เป็นเพียงผู้ให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟัง  และยึดรายได้จากการหาสปอนเซอร์มาค้ำจุนตัวเองก็เปลี่ยนไปตามสภาพสตางค์ในกระเป๋า  สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่  สภาพการเพิ่มจำนวนของ ดี.เจ.  การแข่งขันกัน  ตลอดจนสภาพความเหนียวหนุบหนับของบรรดากระเป๋าของสปอนเซอร์ทั้งหลาย  ทำให้ ดี.เจ. ทั้งหลายเริ่มใกล้ขั้นโคม่า  มีหลายคนเริ่มเป็นโรคขาดสารอาหารด้วยสุภาษิตของท่านสุนทรภู่เตือนใจไว้ว่า  “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา  รู้รักษาตัวรอดเป็นยอด ดี.เจ.”  ทำให้มีคนหัวแหลมที่เห็นทางแจ่มใสคิดได้ว่า  “อันว่าบัดนี้วงการเทปก็ได้ตื่นตัว  ไม่มัวซัวเหมือนก่อน  บริษัทเทปก็ควรจะอ้อนวอน ดี.เจ. ให้เปิดเพลงให้บ้าง  เพลงจะได้กว้างขวางในหมู่ผู้ฟัง  ถ้า ดี.เจ. พากันขัดขวางเทปนั้นก็คงม้วย  บริษัทก็ควรจะช่วยมิให้ ดี.เจ.ม้วยมรณาแบ่งสตางค์ให้กันบ้างหนา  ดี.เจ.จะดีใจ”  สรุปก็คือ  บริษัทขายเทปก็เต็มใจที่จะจ่ายเงิน  จ้าง ดี.เจ.เปิดเพลงให้..ดี.เจ.ก็ดีใจ  เปิดเพลงไม่เสียงแรงเปล่า  และจะได้รอดพ้นจากอันตรายแห่งเศรษฐกิจด้วย

น.ห่อนาค

ในนิตยสาร  นะคะ (นะครับ) ฉบับ 21 พ.ย. 2529

Avatar

ผู้เขียน: เจ้าชายน้อย

หนึ่งในสมาชิกทีมเวบไซต์บ้านเพลงเก่า เข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับทีมผู้จัดทำ นายเจ มอลลี่ พี่ดา เข้ามาเป็นคนสุดท้าย และก็เป็นผู้ดูแลเว็บบ้านเพลงเก่าในปัจจุบันนี้ ความรู้เรื่องเพลงเก่าอาจจะมีไม่มาก แต่ว่าจะพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลเท่าที่จะหาได้นะครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.