Site icon บ้านเพลงเก่า

คิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ) – นายผี

“ถ้าผู้ชายคนหนึ่งเทใจทุ่มชีวิตให้กับอะไรสักอย่าง กระทั่งนิยามความถูกต้องดีงามไว้กับสิ่งนั้น ชัยชนะในเรื่องนี้ย่อมหมายถึงการเดินทางไปพบกับความครบถ้วนของตัวตนในเบื้องลึกของความรู้สึก ส่วนการพ่ายแพ้ ย่อมไม่อาจเป็นอื่นนอกจากการถอนราก ถอนโคนชีวิตของเขา…” เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พูดถึงนายผี

อัศนี พลจันทร เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2461 ที่บ้านท่าเสา ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี บิดาคือพระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) มารดา – สอิ้ง พลจันทร ซึ่งหากสืบเชื้อสายบิดาขึ้นไปจนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จะพบว่าต้นตระกูลคือ พระยาพล เดิมชื่อนายจันทร์ เคยรบกับพม่า จนได้ชัยชนะและเป็นผู้รั้งเมืองกาญจนบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จบชั้นมัธยม 5 แล้วศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2479 ความสนใจในศิลปวรรณคดีเริ่มต้ยจริงจังในช่วงที่ศึกษาที่ธรรมศาสตร์ นามปากกา ‘นายผี’ ถือกำเนิดในปี 2484 เมื่ออัศนีได้เป็นคนควบคุมคอลัมน์กวี ในนิตยสารรายสัปดาห์ ‘เอกชน’ และมีงานเขียน-บทกวี

เริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรี เมื่อ 21 กรกฎาคม 2484 ก่อนถูกกลั่นแกล้งเนรเทศให้ไปอยู่ปัตตานี เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดโดยไม่ไว้หน้าผู้มีอำนาจยามนั้น
ครั้นมาอยู่ปัตตานีได้ 2 ปี ก็ถูกสั่งย้ายอีก ด้วยทางการระแคะระคายว่าให้การสนับสนุนชนชาวมลายูต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งนี้ให้ไปที่สระบุรี ผ่านไป 4 ปีเศษ มีคำสั่งให้ย้ายไปอยู่อยุธยา เนื่องจากกรณีขัดแย้งกับข้าหลวง จากนั้นถูกสั่งให้กลับมาประจำกองคดี กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย เหตุเพราะความเป็นคนตรงไปตรงมา ก็ทำให้ผู้คนประจำกองฯ มากราย ผู้ถือตัวต้องเหม็นขี้หน้า เนื่องจากเขาจัดการยกเลิกอภิสิทธิ์ กรณีรับเงินเดือน ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจลาออกเมื่อสิ้นปี 2495 เขาตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในนาม “สหายไฟ” ต่อสู้จนเสียชีวิตที่ประเทศลาว และได้มีการนำกระดูกกลับสู่แผ่นดินแม่เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2540

ช่วงชีวิตของอัศนี มีงานเขียน บทกวี มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทกวีที่ชื่อ ‘อีศาน’ ที่ลงพิมพ์ในสยามสมัย นับเป็นบทกวีที่ลื่อเลื่อง จนกลายเสมือนเป็นตัวแทนนายผี และจิตร ภูมิศักดิ์ ยกย่องกวีบทนี้ว่า ตีแผ่ความยากเข็ญของชีวิตและปลุกเร้าวิญญาณการต่อสู้ของประชาชนได้อย่างเพียบพร้อม มีพลัง ทั้งเชิดชูนายผีเป็น “มหากวีของประชาชน

บทกวี : อีศาน
ในฟ้าบ่มีน้ำ
น้ำตาที่ตกราย
ในดินซ้ำมีแต่ทราย
ก็รีบซาบบ่รอซึม
แดดเปรี้ยงปานหัวแตก
แผ่นอกที่ครางครืม
แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม
ขยับแยกอยู่ตาปี
มหาห้วยคือหนองหาน
ย้อมชีพคือลำชี
ลำมูลผ่านเหมือนลำผี
อันตำแรกอยู่รีรอ
แลไปสะดุ้งปราณ
คิดไปในใจคอ
โอ! อีศาน, ฉะนี้หนอ
บ่อค่อยดีนี้ดังฤๅ?
พี่น้องผู้น่ารัก
ยืนนิ่งบ่ติงคือ
น้ำใจจักไฉนหือ?
จะใคร่ได้อันใดมา?
เขาหาว่าโง่เง่า
รักเจ้าบ่จางฮา!
แต่เพื่อนเฮานี่แหละหนา
แลเหตุใดมาดูแคลน
เขาซื่อสิว่าเซ่อ
ฉลาดทานเทียมผู้แทน
ผู้ใดเน้อจะดีแสน
ก็เห็นท่าที่กล้าโกง
กดขี่บีฑาเฮา
เที่ยววิ่งอยู่โทงเทง
ใครนะเจ้า? จงเปิดโปง
เที่ยวมาแคะให้ทรมาน
รื้อคิดยิ่งรื้อแค้น
เสียตนสิทนทาน
ละม้ายแม้นห่าสังหาร
ก็บ่ได้สะดวกดาย
ในฟ้าบ่มีน้ำ!
น้ำตาที่ตกราย
ในดินซ้ำมีแต่ทราย
คือเลือดหลั่ง! ลงโลมดิน
สองมือเฮามีแฮง
สงสารอีศานสิ้น
เสียงเฮาแย้งมีคนยิน
อย่าทรุด, สู้ด้วยสองแขน!
พายุยิ่งพัดอื้อ
อีศานนับแสนแสน
ราวป่าหรือราบทั้งแดน
สิจะพ่ายผู้ใดหนอ? ฯ

(สยามสมัย – ๒๔๙๔)

หากเพลง ‘คิดถึงบ้าน’ หรือ ‘เดือนเพ็ญ’ เป็นเพลงเพื่อชีวิต ก็สมควรจะเรียกได้ว่าเป็น สุดยอดเพลงเพื่อชีวิต ผมเชื่อว่าน้อยคนเหลือเกินที่ร้องเพลงนี้ไม่ได้ และน้อยคนเหลือเกินที่ได้ฟังเพลงนี้แล้วจะรู้สึกเฉยๆ กับความหมายที่กินใจที่เพลงสื่อออกมา เพราะ ‘มหากวีของประชาชน’ นายผีเขียนเพลงนี้เพราะความรู้สึกคิดถึงบ้านของตัวเขาเอง
เพลง ‘คิดถึงบ้าน’ หรือ ‘เดือนเพ็ญ’ อาจนับได้ว่าเป็นเพลงที่ถูกบันทึกเสียงและขับขานในวาระต่างๆ มากที่สุดในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งเป็นเพลงที่ทำให้ชื่อนายผี – อัศนี พลจันทร เป็นที่รู้จักและจดจำในวงกว้าง…

สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) เป็นคนนำเพลงนี้ออกมาจากราวป่า และบันทึกเสียงครั้งแรกในนามวงคาราวาน กับอัลบั้มชุด “บ้านนาสะเทือน” เมื่อปี 2526 ต่อมาในปี 2528 ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) นำมาบันทึกเสียงอีกครั้งในนามแอ๊ด คาราบาว กับอัลบั้มชุด “กัมพูชา” และได้เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น ‘เดือนเพ็ญ’ พร้อมทั้งสลับท่อนเนื้อร้องแต่เดิม หลังจากนั้นมีผู้นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งในอัลบั้มปกติและอัลบั้มบันทึกการแสดงสด อาทิ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์, คนด่านเกวียน, อัสนี-วสันต์ โชติกุล, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ,โฮป, คีตาญชลี, นรีกระจ่าง คันธมาศ, สายัณห์ สัญญา, สุนารี ราชสีมา, ยอดรัก สลักใจ, มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ฯลฯ

หงา คาราวาน บันทึกถึงที่มาของเพลงนี้ว่า “…ที่สนามรบก่อนเกิดศึกใหญ่ (หมายถึงยุทธการล้อมปราบในเขตน่านเหนือ) ผมได้พบญาติพี่น้องซึ่งเป็นสายทางเขา (นายผี) เพลง ‘คิดถึงบ้าน’ ถูกร้องให้ผมฟังโดยหมอตุ๋ย สหายหญิงผิวคล้ำคนภาคกลางแถบราชบุรีซึ่งเป็นญาติของเขา และบอกว่าเป็นเพลงที่นายผีแต่งขึ้นตั้งแต่พลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่ที่กรุงปักกิ่ง เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว”

รัตติกาล

Exit mobile version