Site icon บ้านเพลงเก่า

เพลงเพื่อชีวิตเกิดวันไหน “ความเห็นที่แตกต่าง

* เพลงเพื่อชีวิตเกิดวันไหน “ความเห็นที่แตกต่าง” *

ความเห็นที่แตกต่างมีในทุกครอบครัว ทุกสังคม ทุกบริษัท ทุกหน่วยงาน แต่ “ความแตกต่าง” ไม่ใช่ “ความแตกแยก” ยกเว้นว่าเรา “อยากจะให้เป็น” คำว่า “พบกันครึ่งทาง” หรือ เหตุผลใครดีกว่าก็ยอมรับกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดี สิ่งที่พูดนี้ใช้ได้ในทุกวงการเลยนะ กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ตอนนี้ก็มีความแตกต่างในแง่กฎหมายเยอะแยะ, กระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เห็นต่างกันในเรื่องการรวมบัญชี, เอ.ดี.บี. กับองค์กรพัฒนาเอกชนก็เห็นต่างกันในการช่วยเหลือคนจน แฮ่ ๆ …ชักไปกันใหญ่ กำลังจะบอกว่าวงการเพลงเพื่อชีวิตก็มีเรื่องที่เห็นแตกต่างเหมือนกันน่ะ ที่อยากเล่าวันนี้ เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์

ใครที่เปิด thaialbums.com ในช่อง shewit จะพบ “ปฐมบทของบทเพลงเพื่อชีวิต”  เรียบเรียงโดย กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต มีความเห็นว่า ต้นกำเนิดของเพลงเพื่อชีวิตของไทยเราน่าจะเริ่มจาก ครูแสงนภา บุญราศรี ต่อมาด้วย ครูคำรณ สัมบุณณานนท์ เพราะมีบทเพลงที่นำเรื่องชีวิตของผู้ทุกข์ยากของสังคมมาตีแผ่เป็นเพลง กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ฟันธงลงไปว่าต้องเป็นครูแสงนภา หากแต่ฝากคำถามไว้ให้คิดว่า ต้นกำเนิดเพลงเพื่อชีวิตน่าจะเริ่มจากจุดนี้หรือไม่ แต่ความเห็นของคุณวิสา คัญทัพ กลับไม่เห็นเช่นนั้น แถมยังบอกว่า “ผิดความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์” ด้วย คุณวิสาเห็นว่า ความจริงแล้ว เพลงเพื่อชีวิตในเมืองไทย มีต้นกำเนิดช่วงต้นปี 2516 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา เริ่มจากหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต…ศิลปะเพื่อประชาชน” ซึ่งมีเนื้อหารับใช้ชีวิตชนชั้นผู้เสียเปรียบในสังคม ต่อสู้กับนายทุน จักรวรรดินิยมอเมริกา และชนชั้นปกครองอย่างตรงไปตรงมา แล้วมีสุรชัย จันทิมาธร วีระศักดิ์ สุนทรศรี เป็นตัวเชื่อมสายธารวรรณกรรมมาเป็น “เพลงเพื่อชีวิต” เริ่มจาก วันที่สุรชัย  จันทิมาธร , สมคิด สิงสง , วีระศักดิ์ สุนทรศรี และ วิสา คัญทัพ ซึ่งพักอยู่บ้านเช่าแถวสะพานควายด้วยกัน ร่วมกันทำเพลง “คนกับควาย” ขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ และได้ไปบรรเลงครั้งแรกในงานแต่งงานของ วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ นักเขียนกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ที่โรงแรมนารายณ์ (อ่านรายละเอียดได้ในหนังสือ “ชีวสัจจะจากใจ ฝากไฟฝากหวัง” วิสา คัญทัพ) หลังจากนั้นสุรชัยก็เริ่มโชว์เพลงบนเวทีเรียกร้องต่าง ๆ เกิดเป็นคาราวาน ต่อมาก็ก่อกำเนิด กรรมาชน , กงล้อ , คุรุชน , ฟ้าใหม่ , ต้นกล้า ฯลฯ และเกิดการเรียกขานบทเพลงเหล่านี้ว่า “เพลงเพื่อชีวิต” คุณวิสาเห็นว่า นี่คือต้นธารอีกสายหนึ่ง ไม่ได้ต่อเนื่องกับครูคำรณเลย สมัยก่อนนั้นก็ไม่มีใครใช้คำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” มาเริ่มเอาตอนหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิตฯ” ของ ทีปกร หรือจิตร ภูมิศักดิ์ นี่แหละ

นายชีวิตเองมองว่า ความเห็นที่แตกต่างอาจจะมาจากไม้บรรทัดในการตีความแตกต่างกัน กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต ตีความบนพื้นฐานของ “เนื้อหา” ว่าเมืองไทยมีเพลงที่รับใช้ชนชั้นล่าง รับใช้สังคม เริ่มต้นตั้งแต่ ครูแสงนภา บุญราศรี, ครูคำรณ สัมบุณณานนท์ แต่ คุณวิสา ตีความบนพื้นฐานของ “ตัวอักษร” ว่าคำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” เริ่มใช้ครั้งแรกในวงการเพลงคือ คาราวานนะ ก่อนหน้านั้นไม่มีใช้ ดังนั้นจะไปบอกว่าเพลงของครูคำรณเป็นเพลงเพื่อชีวิตจึงไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับใครใช้ไม้บรรทัดอันไหนในการตีความ ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด

ส่วนตัวนายชีวิต มีความชอบไม้บรรทัด “เนื้อหา”  มากกว่า เมื่อจัดเพลงเพื่อชีวิตทุกวันนี้จึงเปิด TEEN & KIM เพลง “พ่อให้พอ” เพราะเพลงนี้สอนคนให้รู้จักพอเพียง, ผมเปิด จอห์น รัตนเวโรจน์ เพลง “คน หุ่นยนต์ ต้นข้าว” เพราะกล่าวถึงชาวนา คนส่วนใหญ่ของแผ่นดิน ที่คนเมืองมักหลงลืม, เปิดธงไชย แม็คอินไตย์ เพลง “ทูนหัว” เพราะสอนเด็กๆ ให้เป็นคนดี ฯลฯ แทรกไปกับเพลงของ คาราวาน, คาราบาว, คนด่านเกวียน ฯลฯ ตามความเหมาะสม นายชีวิตเห็นว่าเนื้อหาเพลงเหล่านี้ก็รับใช้สังคมเหมือนกัน ไม่ว่าผู้ถ่ายทอดจะเป็นใคร ในป่ามีแมลงหลากหลายชนิด พืชนานาพรรณ สัตว์มากประเภท จัดสมดุลในธรรมชาติได้ เพราะความแตกต่างแต่สามัคคี หากมีพืชชนิดเดียว แมลงแบบเดียว โลกคงขาดสีสัน ดุจความคิดของคนเช่นกัน พัฒนาโลกได้นั้นเพราะแตกต่างแต่ต้องสมดุล

ที่มา นายเพื่อชีวิต : ไทยอัลบั้ม

Exit mobile version