แม้ธุรกิจดนตรีไทยดูเหมือนจะยังไม่ฟื้นฟู เหมือนสมัยก่อน เพราะดูจากตัวเพลงฮิทติดปาก ชนิดที่คนร้องได้หมดทั้งในกรุงนอกกรุง ในผับหรูจนถึงเพิงขายส้มตำ ผสมคาราโอเกะ มีเพียง “สัญญาเมื่อสายัณห์” “ใจสั่งมา” “หัวใจกระดาษ” และ “แพ้ใจ” ที่ดังข้ามมาจากปีที่แล้ว เพลงดังอื่นๆ ก็ไม่ได้ครอบคลุมหมด หรืออาจจะเรียกว่าดังเป็นกลุ่มๆ ขณะที่สมัยก่อนมีเพลงฮิทระดับเดียวกับที่กล่าวมากกว่านี้เยอะ
……………….แต่วงการดนตรีก็ไม่ถึงกับสิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว ถึงจะมีของปลอมมาแย่งเงินไปก็ยังมีผลงานขายดีหลายชุด ซึ่งแน่นอนว่าคล้ายคลึงกับปีที่แล้ว คือผลงานที่ขายดีลำดับต้นๆ ของปี 2542 เป็นผลงานที่มาจาก 2 บริษัทเพลงยักษ์ใหญ่ – แกรมมี่ และอาร์เอส เหตุผลสำคัญก็ยังเป็นเพราะทั้ง 2 แห่งมีสรรพกำลังทางด้านการผลิต และโปรโมทที่ได้เปรียบกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็ก ซึ่งทุกวันนี้โอกาสแจ็คพ็อทสำหรับบริษัทขนาดกลาง และเล็กเหมือนยุคอัลเทอร์เนทีฟเฟื่องฟูแทบไม่มี แต่ทางบริษัทก็เดินไปได้เรื่อยๆ ด้วยการทำงานแบบควบคุมขนาด และมีศิลปินที่มีฐานแฟนเพลงอุดหนุนแน่นอนระดับหนึ่ง เช่น รถไฟดนตรี หรือกระบือ แอนด์ โค
……………….มาดูกันว่าใครเป็นใครในลำดับต้นๆ ของการขายในปี 2542 ข้อมูลที่ได้มาเหล่านี้ มาจากต้นสังกัดจริง แม้ไม่ลงไปถึงรายละเอียดตัวเลขเป็นเศษ แต่หากคลาดเคลื่อนก็คงไม่มากนัก และไม่น่าจะทำให้ลำดับต่างๆ เปลี่ยนแปลงเมื่อถึงสิ้นปี
……….1. “ดัง” พันกร บุญยจินดา (อาร์.เอส) อัลบั้มชุดแรกที่ออกเมื่อต้นปี ยอดประมาณ 1 ล้านเศษ
……….2. X – Venture รวมศิลปิน (อาร์.เอส) ยอดกว่า 800,000 ชุด
……….3. Rock & Roll โลโซ (แกรมมี่) ขึ้นไปถึง 800,000 ชุด และยังมีโอกาสไปได้อีก เพราะเพิ่งออกขายเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2542
……….4. “ตู้เพลงสามัญประจำบ้าน” ธงไชย แมคอินไตย (แกรมมี่) 800,000 ชุด เพิ่งออกขายเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2542
……….5. “บุษบาหน้าเป็น” นิโคล เทริโอ (แกรมมี่) 800,000 ชุด เพิ่งออกขายเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2542
……….6. “ไท พิเศษ (ระหว่างทาง) ไท ธนาวุฒิ (แกรมมี่) 700,000 ชุด
……….7. Ho – Le – Ho – Le บาซู (อาร์.เอส) 700,000 ชุด
……….8. “อนัน อันวา” อนัน อันวา (อาร์.เอส) กว่า 600,000 ชุด
……….9. “โป๊ง โป๊ง ชึ่ง” รวมศิลปิน (แกรมมี่) 600,000 ชุด
……….10. “คนธรรพ์ณธร” ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา (อาร์.เอส) 500,000 กว่าชุด สำหรับอัลบั้มชุดนี้ตัวเลขตัดแค่ 1 ธันวาคม 2542 ออกวางไล่ๆ กับ โลโซ
……………….จะสังเกตได้ว่าบางชุดยังมีโอกาสทำยอดสูงกว่าที่ลงไว้ เพราะเพิ่งออกวางจำหน่ายได้ไม่นาน และยังไม่สรุปการขาย
……………….สิ่งที่น่าดีใจพอสมควรคือ มีผลงานอัลบั้มระดับหลักแสนต้นๆ อีกมาก เพราะยุคนี้เขาพูดกันว่า “ห้าหมื่นก็หรูแล้ว”
……………….สำหรับสายลูกทุ่ง การผลิตอัลบั้มในแวดวงนี้ไม่ใช่ปีละชุด ศิลปินบางรายออกอัลบั้มถึง 5 ชุดใน 1 ปี และในสังกัดต่างๆ กัน ส่วนใหญ่นักร้องลูกทุ่งมักใช้วิธีเก่า คือลักษณะจ้างร้องเป็นชุดๆไป แต่ก็มีบ้างที่ผูกกับสังกัดหนึ่ง
……………….ในสายนี้ ไมค์ ภิรมย์พร นำหน้ามาด้วยยอดกว่า 1 ล้านชุด จากผลรวม 3 อัลบั้ม และที่ขายได้มากที่สุดคือ “ยาใจคนจน”
……………….อันดับ 2 คู่คี้กัน ยุ้ย ญาติเยอะ และจินตหรา พูนลาภ อยู่ระหว่าง 6-700,000 ชุด จากหลายอัลบั้ม ตามมาห่างๆ โดย เสรี รุ่งสว่าง ที่กลับมาแจ้งเกิดด้วยเพลง “เรียกพี่ได้ไหม?”
……………….ส่วนเพลงสากลในตลาดเมืองไทย คนฟังเพลงบ้านเรายังนิยมอัลบั้มรวมเพลง จะเห็นได้ว่าอัลบั้มขายดีอันดับต้นๆ ตามร้านขายแผ่นเสียงใหญ่ๆ มักจะเป็นอัลบั้มประเภทรวมเพลงที่นำหน้ามาก็เป็น Max 5 และที่ขายได้น่าตื่นเต้นคือ อัลบั้มซาวน์ดแทร็ค Notting Hill ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอีกครั้งที่อัลบั้มซาวน์ดแทร็คขายได้มากมาย หลังจาก Titanic ของปีที่แล้ว
……………….สำหรับอัลบั้มปกติของศิลปิน ลำดับต้นๆ ก็ไม่พ้น ริคกี้ มาร์ติน, มาไรอาห์ แครี่ย์ และเซลีน ดิออน สองรายหลังนี้ยังมีโอกาสเดินไปได้อีก เพราะเพิ่งวางขายไม่นาน
……………….เหล่านี้เป็นรายงานในกลุ่มที่ขายได้ลำดับบนๆ ส่วนประเภทที่ขายตกต่ำจนน่าแปลกใจไม่มี เพราะในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ถือเป็นเรื่องปกติ (ไม่ฮา)
บทความในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 11 ฉบับที่ 9 ธันวาคม 2542