ศิลปะแห่งการหยิบยืม

มีคนทำเพลงหลายประเภท  แต่ก็มีประเภทหนึ่งซึ่งไม่ชอบคิดเอง

แต่ไปยืมของชาวบ้านอื่นเมืองอื่นเขามา  มีคนฟังเพลงหลายประเภท

แต่ก็มีประเภทหนึ่งคอยแต่นั่งจับว่าคนไหนทำเพลงไม่ได้คิดเอง

แต่ไปยืมของชาวบ้านอื่นเมืองอื่นเขามา

……….มีคนทำเพลงหลายประเภท  แต่ก็มีประเภทหนึ่งซึ่งไม่ชอบคิดเอง  แต่ไปยืมของชาวบ้านอื่นเมืองอื่นเขามา  มีคนฟังเพลงหลายประเภท แต่ก็มีประเภทหนึ่งคอยแต่นั่งจับว่าคนไหนทำเพลงไม่คิดเอง  แต่ไปยืมของชาวบ้านอื่นเมืองอื่นเขามา

……….ปัญหาก็คือ  อะไรคือคล้ายคลึงเพลงจีน  อะไรคือเพลงฝรั่ง  อะไรคือลอก  อะไรคือยืม  อะไรคือดัดแปลง  อะไรคือได้แรงบันดาลใจ  อะไรคือศิลปะ  อะไรคือธุรกิจ  และอะไรเป็นอะไร

……….ตั้งแต่ระยะที่ผ่านมานี้  ใครๆ  ก็อยากอัดเทป  ใครๆ  ก็อยากเป็นศิลปิน  พยายามทุกอย่าง  ตั้งแต่สมัครประกวดร้องเพลงทั้งหลาย  จนกระทั่งใช้เส้น  ก็เพราะเงินมันดี  ชื่อมันดัง  ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ตัวนักร้องเท่านั้น  ผมพูดรวมไปถึงบริษัทโปรโมทเทปและธุรกิจข้างเคียงอื่นๆ  ในแต่ละเดือนเงินหมุนกันเป็นสิบล้านร้อยล้าน  รวยกันจริง

……….เพราะฉะนั้นเมื่อกลิ่นแบงก์หอมกว่ากลิ่นเนื้อสาวไหนๆ ก็ตาม  ธุรกิจเป็นใหญ่  ยิ่งมีปริมาณเทปออกมายิ่งมากก็ยิ่งดี  ยิ่งรวย

……….ในประเทศนอกนั้น  ศิลปินเพลงคนไหน  กลุ่มไหนออกเทป  ออกแผ่น  อัดอัลบั้มอะไรก็ไม่รู้ละ  ยิ่งใช้เวลานานก็ยิ่งเป็นระดับยิ่งใหญ่  คือเป็นโปรเฟสชันนัล(ภาษาไทยก็มี แปลว่า อาชีพ)  ใครออกปีละ 2 ชุด  ถือว่ากำลังดี  ใครออกปีละชุด  เริ่มไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง  ส่วนใครออก 2 – 3 ปีชุดนี่  ทางบริษัทเทปถือเป็นตัวกาลกิณี

……….เพราะฉะนั้นในประเทศนี้  ยิ่งมีเพลงมากยิ่งดี  เมื่อมีคนทำเพลงเท่าเดิม  สมองเท่าเดิม  แต่จะเอาเพลงมากขึ้น  มีนักร้องมากขึ้น  คนทำเพลงก็เริ่มมีขนาดศีรษะโตขึ้น  พูดจาไม่รู้เรื่อง  จนถึงขั้นลืมญาติสนิทเอาได้ง่ายๆ  ยาแก้อาการนี้ที่ชะงัดก็คือ  ยาดีต้นตำรับจากญี่ปุ่น  คือ  เปิดเค็ตตาล็อกของชาวบ้านอื่นเมืองอื่น  ชอบใจอันไหนก็ชี้เอาแล้วก็ทำตาม  เหมือนเลือกแบบบ้านในหนังสือฝรั่งให้ผู้รับเหมาสร้างตามยังไงยังงั้น  และนี่คือที่มาของเรื่องที่พยายามจะคุยในครั้งนี้ไงล่ะครับ

……….ปฏิกิริยาที่ผู้ฟังเพลงจะเกิดเมื่อได้ยินเสียงเพลงนั้นก็มีหลายแบบ  บางท่านก็กระดิกเท้า  บางท่านก็หัวเราะ  บางท่านก็บอกว่าเพราะ  บางท่านก็บอกไม่เพราะ  แต่มีปฏิกิริยาอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ  และเป็นจุดที่สนุกสนานมากเมื่อได้รู้สึกสนุกกว่าการได้ฟังเพลงนั้นอีก  ก็คือ “เอ๊ะไอ้เพลงนี้มันคุ้นหูนะ”  “อ๋าย….ไอ้นี่มันลอกเพลงฝรั่งมาทั้งดุ้นเลย”  โอ้โห…ดนตรี..แม่ม…ไอ้พอล  ยัง  ชัดๆ”  หรือ  “เฮ้ย  มีงฟังสิ…ตรงนี้บ๊อบ  มาเล่ย์  ตรงนี้คาสิโอเปีย  ตรงนี้สดใส  ร่มโพธิ์ทอง ว่ะ”  ฯลฯ

……….ทีนี้ก็จะเกิดความเป็นปฏิปักษ์กันในสองฝ่ายสำหรับเรื่องนี้  ก็คือคนทำเพลงกับคนฟังเพลง  ส่วนผมในฐานะนักวิจารณ์ก็ต้องทำตัวเป็นกรรมการโดยไม่ต้องมีใครเชิญ  เพราะจริงๆ   แล้วก็รำคาญและเห็นใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย…เมื่อพูดหยั่งงี้ ผมก็จะต้องให้ข้อมูลที่ผมกุขึ้นเองเกี่ยวกับเรื่อง  “ศิลปะแห่งการหยิบยืม”  มาเสียหน่อย

……….มีใครก็ไม่รู้คิดคำเก๋ๆ  ขึ้นมาได้วลีหนึ่งว่า  “การยืมความคิดของใครมาแต่เพียงเจ้าเดียวคือการลอก  แต่การยืมความคิดของหลายๆ เจ้าคือการค้นคว้า”  นั้นแสดงว่าการลอกเลียนหรือการหยิบยืมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ  มีมานานเต็มทีแล้ว  และดูเหมือนจะมีทุกแขนงด้วย  ตั้งแต่การลอกเลียนธรรมชาติของคน  เลียนเสียงสัตว์  เสียงฟ้าผ่า  ลมพัด  จนกระทั่งมีภาษามีวัฒนธรรม  ก็มีการเชื่อมโยง  แลกเปลี่ยนกันใช้  อย่างเรื่องภาษานี่  ถ้าคนไทยสมัยพ่อขุนรามคำแห่งมาฟังภาษาเดี๋ยวนี้  ประเภท  อภิเชษฐ์  หรือซ่าส์  อะไรพวกนี้  ควรจะคิดว่าเกิดผิดประเทศ  เพราะภาษาไทยเราเองก็ยืมเจ๊ก  แจก  ฝรั่ง  เขมร  โปรตุเกส  ฯลฯ  เอามาแทบทั้งนั้น

……….เอาให้ตรงเป้า  ก็เรื่องดนตรีเรื่องเพลงนี่  ทุกประเทศมีการหยิบยืมกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ  (Inport & Export)  ผมเชื่ออย่างนั้น  ชั่วแต่ว่าจะหยิบยืมอย่างมีศิลปะแค่ไหน…เอาไปใช้ดื้อๆ  หรือดัดแปลงใช้  เช่นเพลงไทยเดิมของเราก็เอาอารมณ์ของพม่า  ลาว  จีน  แขก  ฯลฯ มาผสมผนวกได้อย่างสวยงาม  เป็นต้น  หรือ..ให้ชัดๆหนักก็เช่น  เพลงไทย “ม่านไทรย้อย”  นี่ก็เป็นทำนองของเพลงคลาสสิกเพลงหนึ่ง  ซึ่งเมื่อฟังเพลงไทยแล้วก็เป็นได้แนบเนียน  ไม่เคอะเขิน  ฟังเพราะดีเสียอีก  และก็เป็นเพลงอมตะพอๆ กับเพลง  “จันทร์กระจ่างฟ้า”  ที่ใช้ทำนองยิปซีมูนของฝรั่ง  ซึ่งก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร  เพราะว่าเมื่อเสร็จออกมาแล้ว  มันมีศิลปะในการหยิบยืมอยู่นั่นเอง  แม้กระทั่งเมื่อเร็วๆนี้  ก็มีคนเอามานินทาให้ฟังว่า  เพลงชาติไทยเรานี่แหละ  เหมือนเพลงมาร์ชอะไรสักอย่างของฝรั่งเศสหรือออสเตรียแถวๆนี้  ผมก็เลยอ่อนใจ  ไม่รู้จะแคลงใจหรือเห็นใจคุณพระเจนดุริยางค์ท่านดี

……….กลับมาเรื่องศิลปะการหยิบยืม  มันก็มีระดับต่างกันไป  ตั้งแต่มีศิลปะที่สุด  จนถึงไร้สติและหิริโอตตัปปะที่สุด  ซึ่งจากที่ผมคิดเอง  (ใครไม่เชื่อก็ช่าง….ใครเชื่อก็ไม่มีประโยชน์…เอ้อ..)ก็มีดังนี้

……….1.การได้แรงบันดาลใจอย่างไม่ตั้งใจ  เกิดจากประสบการณ์ลึกๆ ของผู้แต่งที่ได้ยินมาได้ฟังมา   แล้วก็ออกมาในงานเพลงอย่างไม่รู้ตัว  ทำให้คนฟังเกิดอาการคล้ายๆ คุ้นๆ  แต่นึกไม่ออกซะทีว่ามันคล้ายเพลงอะไรนั่นแหละครับ  ซึ่งมักจะเกิดบ่อยกับแนวเพลงป๊อป  ไม่ว่าจะเป็นบ้านเราหรือบ้านเขา  เพราะเพลงป๊อปมีโจทย์ตายตัวอยู่ว่า  ต้องเป็นเพลงที่เข้ากับหูคนฟังส่วนใหญ่  จะได้ไม่ต้องฟังดูแปลกประหลาดจนรับไม่ได้  ซึ่งการเขียนเพลงป๊อปนี้ไม่มีทฤษฏีสอนกันไว้ว่าเป็นแบบไหน  เพลงทุกๆแนวก็มีสิทธิ์จะเป็นเพลงป๊อป   ก็คือการเดาใจคนฟัง  ก็ต้องอาศัยประสบการณ์การฟังของหูผู้แต่งเท่านั้น  เพลงไหนยิ่งฮิตก็ยิ่งจะมีอาการฟังแล้วคุ้นหู  จำง่าย  เพราะเคยชิน  บางทีก็เดาทำนองออกได้เลย  บางครั้งก็ถึงขั้นคล้ายจะเคยฟังมาจากไหน  แต่จริงๆแล้ว  มันก็คือประสบการณ์ที่สะสมอยู่ในหูของเราตั้งแต่เกิดมานั่นเองแหละครับ  ไม่เชื่อก็ลองไปฟังดู

……….2.พวกที่ตั้งใจยืมมาเลย  แต่พยายามดังแปลง  บางครั้งการขอยืมทำนองเจ๊ก  แขก  ฝรั่ง  มาอย่างชัดๆ ไม่ว่าจะทั้งท่อน  ทั้งเพลง  หรือบางช่วง  ก็เป็นการทดลองอะไรบางอย่าง  ตั้งแต่ทดลองเพื่อหาความรวย  แต่จะออกมาดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่ความแนบเนียนอย่างที่ว่าแหละครับ   รวมทั้งความประณีตในการลอกสรร  การตกแต่งให้สละสลวยเหมาะสำหรับผู้ร้อง  ไม่ใช่พยายามขืนให้เหมือนต้นฉบับทั้งดุ้น  และสุดท้าย  คือ  ควรยอมรับและประกาศว่าตนเองเอาต้นฉบับมาจากไหนอย่างหน้าชื่นตาบาน  ไม่ใช่หน้าทนประกาศว่าฉันคิดเอง  ทำนองขอฉัน…อย่างนี้ก็จัดว่าเป็นคนไม่น่าคบ

……….การยืมในลักษณะนี้อาจจะยืมในลักษณะโครงสร้างของเพลง  ทางเดินของคอร์ด  โครงสร้างของทำนอง  จังหวะสีสันของดนตรี  รวมทั้งสำเนียงที่ออกมา…อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด…แต่มีข้อแม้ว่า  ฟังแล้วให้มันดีก็แล้วกัน  และอีกอย่างคือ  ให้ดูว่ามีฝีมือในการดัดแปลงเท่านั้นก็พอ

……….3.พวกลอกลูกเดียว  พวกนี้ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงมากนักหรอก  เพราะวัตถุประสงค์  คือ  เพลงฝรั่ง  จีน  อันไหนฮิตก็ชัดเลย  เอาตีหัวเข้าบ้านลูกเดียว  พวกนี้กระจอกครับ

……….ทีนี้ประเภทของคนทำเพลงและคนฟังเพลงก็มีอยู่มากมาย  ทั้งที่น่าคำคาญและน่าเห็นใจ  อย่างที่บอกมาแล้วอย่างที่น่ารำคาญก็เช่น  คนทำเพลงประเภทสุดท้ายนั่นแหละ  คือทำให้วงการเพลงไทยเราเกิดมลภาวะ  เพราะความมักง่าย  ส่วนคนฟังเพลงประเภทที่ผทรำคาญ  คือ  คอยแต่จับผิดและอวดรู้ว่า  ฮี่โธ่เอ๊ย  ไอ้เพลงนั้นมันเอามาจากเพลงนี้นี่…ข้ารู้  ซึ่งบางทีก็กลายเป็นเรื่องบ่องตื้น

……….อย่างที่น่าเห็นใจก็คือ  คนทำเพลงที่เป็นประเภทที่สอง…ประเภทแรกนั่นน่าเห็นใจกว่า  เพราะเขียนเพลงขี้นมาหวังจะให้คนชอบอย่างบริสุทธิ์ใจ  จะไปพ้องกับใครบ้างก็ถูกหาว่าลอก…โธ่…โน้ตเพลงในโลกนี้มีอยู่เจ็ดตัว  ส่วนเพลงมีเป็นล้านๆ  มันไม่ซ้ำกันบ้างก็บ้าละ  ทีนี้ยิ่งเป็นแนวป๊อปก็ยิ่งมีแนวการเรียงร้อยโน้ตอยู่ไม่กี่แนวหรอกที่คนฟังจะชอบใจ

……….ประเภทที่สองก็ไม่ถึงกับน่าเห็นใจ  แต่ก็ไม่ถึงกับน่าถูกตำหนิ  โดยเฉพาะพวกที่ยอมรับว่าตัวเองลอกเขามา  ไม่ว่าเพื่อลองความรู้ใหม่ๆ  หรืออยากได้เงินก็ตาม

……….ส่วนคนฟังเพลงส่วนใหญ่นั้นน่าเห็นใจอยู่แล้ว  เพราะคือผู้รับที่ปฏิเสธไม่ได้  สิ่งแวดล้อมด้วยเสียงเพลงนั้นกรอกหูอยู่ทุกวัน  ถ้าเป็นเพลที่น่ารำคาญและไม่ก้าวหน้าเสียทั้งหมด  คนฟังก็จะเป็นอยู่ 2 อาการ  คือ..ไม่บ้าก็โง่..ไม่มีทางเลือกอื่น

……….ถ้าขอจากสวรรค์ได้  ก็จะขอให้ไม่มีการลอกเลียนเพลงจากต่างประเทศ  แต่มันก็เป็นไปได้ยาก  ก็พอแต่เพียงว่า  ถ้าจะลอกหรือยืมมาก็ทำให้มันมีศิลปะหน่อย  ส่วนคนฟังก็ขอเพียงอย่าฟังเพลงในแง่ร้ายเกินไป  จะได้ไม่คิดอะไรมาก

……….แต่อย่างไรก็ตาม  คนฟังที่เขาอยากจะคอยจับผิดก็คงทำอยู่ร่ำไป  ใครจะทำไม  คนทำเพลงที่จะลอกเขามาก็ยังทำต่อไป..ใครจะทำไม  และผมก็ต้องทั้งรำคาญและทั้งเห็นใจอยู่ต่อไป….

……….อ้าว….ใครจะทำไม

น.  ห่อนาค  

ในนิตยสาร นะคะ (นะครับ) ฉบับ 26 เม.ย.  ปี 2530

Leave a reply

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.