โดย ต้น ลาดพร้าว
สิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นความรู้สึกของคนฟังเพลงคนนึง ชื่นชอบที่จะฟังเพลงมากมายหลายแบบ ชื่นชอบที่จะร้องรำทำเพลง โดยเฉพาะกีตาร์โปร่ง ต้องบอกก่อนครับว่า เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ได้สัมผัส ไม่เสแสร้ง ( คนอื่นอาจชอบไม่เหมือนผมก็ได้ )
ผมเริ่มฟังเพลงเป็นพร้อมๆ กับที่เริ่มรักเพื่อนผู้หญิงเป็น ตอนนั้น 5 ขวบเห็นจะได้ คุณพ่อคุณแม่ฟังสุนทราภรณ์ เราก็ฟังได้ ตอนนั้นต่อมา กำเนิดความรักทุกรูปแบบได้เกิดขึ้นกับผมแล้ว รักในเสียงเพลง รักเพื่อน มองทุกอย่างรอบตัวสวยสดงดงามไปหมด
เมื่อผมเริ่มโตขึ้น แนวเพลงสตริง ลูกกรุง ลูกทุ่ง สากล เพลงปลุกใจ มีให้ได้ฟังมากมาย วิทยุ FM ก็จะเปิดเพลงลูกกรุง AM ก็เปิดเพลงลูกทุ่ง แนวเพลงสตริงยุค นั้น ถือเป็นความแปลกใหม่ในหมู่วัยรุ่น ทางดนตรีก็จะลอกเลียนสากลซะเป็นส่วนใหญ่ หนังสือเพลง I.S. SONG HIT ของคุณเล็ก วงศ์สว่าง จะต้องมีม้วนไว้ติดกระเป๋ากางเกง ( ไม่งั้นเชยแหลก )
ตอนนั้น กระแสของเพลงสากลมาแรงมาก แนวเพลงสตริงในยุคนั้น จึงต้องทำเพลงสากลเอาใจตลาด เราจะไม่ค่อยได้ยินสตริงที่ร้องเพลงไทยไทย นอกจากวง ดิอิมพอสซิเบิ้ล ซึ่งสร้างสีสันได้มากทีเดียวกับเพลงประกอบ ภาพยนตร์หลายเรื่อง นอกจากนั้น ก็ยังมีบางวง หรือบางคนที่ร้องเพลงไทยในแบบสตริง แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับเหมือน ดิอิมพอสซิเบิ้ล ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เพราะความโดดเด่นของนักร้องนำไงล่ะครับ บดบังทุกอย่างหมดจด เป็นความลงตัวที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่รากเหง้าของ ดิอิมพอสซิเบิ้ล ก็มาจาก เพลงสากลอย่างที่จะปฎิเสธไม่ได้
ถึงปี 2518 คลื่นวิทยุต่างๆ โดยเฉพาะภาค FM เริ่มที่จะมีสถานีเพลง สถานีเพลงและข่าวเป็นกิจลักษณะ บางสถานีมีความโดดเด่นในลักษณะที่มีเพลง สตริงเปิดช่วงยาวๆ เลย มีอยู่เพลงนึง เนื้อร้อง ทำนอง และดนตรีแปลกกว่า ที่ผมเคยได้ยินมา ทำไมเค้าร้อง และเล่นกันง่ายเหลือเกิน จนไม่น่าเชื่อว่า จะนำ ออกสู่ตลาดเพลงยุคนั้นได้ เพลงที่ร้องก็เป็นเพลงไทย จำได้ว่าผมได้ยินเพลง “ลูกขาดแม่” ของเค้าเป็นเพลงแรกเลย ผมพยายามฟังเพลงอื่นๆ ของเค้า ติดตามตลอด ตอนนั้น เทปคาสเซ็ทเรายังไม่รู้จักกันเลย ต้องติดตามว่า สถานีไหนเค้าจะเปิด ผมแปลกใจมากว่า หลายสถานีเปิดเพลงของเค้า กระทั่ง เพลินจนร้องได้ มาที่โรงเรียน เพื่อนๆ ก็ฮัมเพลงให้ฟังหลายคน รู้สึกว่าแนว เพลงเค้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้ลอกเลียนใคร เป็นความแปลกใหม่ที่กล้าหาญ มาก เป็นเพลงไทยล้วนๆ อาจจะมีทำนองสากลบ้าง คอร์ดกีตาร์ก็เล่นง่าย มีอยู่ประมาณ 4-5 คอร์ดช่วงต้นคอกีตาร์จริงๆ เรียบง่าย ประสานเสียงดี เนื้อทำนองน่ารัก ชัดถ้อยชัดคำแบบจริงใจ เค้าทำสำเร็จจริงๆ
แฟนเพลงเริ่มยอมรับความแปลกใหม่ หันมาฟังเพลงไทย มากขึ้น อันนี้คือ จุดหักเหที่สำคัญของวงการเพลงไทยบ้านเราจริงๆ หลายคนไม่ยอมรับเค้า ดูถูกฝีมือเค้า และไม่ยอมรับความ เปลี่ยน แปลงนี้ ซึ่งก็ไม่มีใครฉุดรั้งเค้าได้ เค้าอาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า ตอนนั้น เค้าได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการเพลงไทยไปแล้ว และวงดนตรีที่ผมกล่าวถึงก็คือ “ชาตรี” นั่นเองครับ
ต้น ลาดพร้าว
( ปัทม์ ชาญวิทย์การ )
นำกลุ่มชาตรีแฟนคลับ 46
*** ในความรู้สึกต่อท้าย คงไม่มีใครมาแทนที่เค้าได้ เพราะเค้าทั้ง 5 คน เปรียบเสมือนครูบาอาจารย์ทางดนตรีที่ครอบครองหัวใจทั้ง 4 ห้องของผมแล้วครับ
ผลงานของชาตรีมีทั้งหมด 15 ชุด
นอกนั้นเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ และชุดอมตะชาตรี ซึ่งไม่รวมอยู่ใน 15 ชุดนี้
- จากไปลอนดอน (พ.ศ. 2518 – ห้างเมโทรแผ่นเสียง)
- แฟนฉัน (พ.ศ. 2519 – ห้างเมโทรแผ่นเสียง)
- หลงรัก (พ.ศ. 2519 – ห้างเมโทรแผ่นเสียง)
- ฝนตกแดดออก (พ.ศ. 2520 – ห้างโรสซาวด์น)
- รัก 10 แบบ (พ.ศ. 2521 -EMI)
- ชีวิตใหม่ (พ.ศ. 2522 -EMI)
- รักครั้งแรก (พ.ศ. 2523 -EMI)
- สัญญาใจ (พ.ศ. 2524 -EMI)
- ชะตารัก (พ.ศ. 2524 -EMI)
10.ชาตรีอินคอนเสิร์ต (พ.ศ. 2525 -EMI)
11.รักไม่เป็น (พ.ศ. 2525 -EMI)
12.รักที่เธอลืม (พ.ศ. 2526 -EMI)
13.แอบรัก (พ.ศ. 2527 -EMI)
14.ชาตรีทศวรรษ (พ.ศ. 2527 -EMI)
15.อธิษฐานรัก (พ.ศ. 2528 -EMI)
เพลงประกอบภาพยนตร์
- สวัสดีคุณครู
- สนุกกันวัยเรียน
- รักแล้วรอหน่อย
- ผมขอเป็นดวงตาแทนคุณ
- โลกนี้ยังมีรัก /ครูขา หนูเหงา วงชาตรีร่วมแสดงด้วย
- เพื่อนยามยาก
- จ๊ะเอ๋ เบบี้
- รักต้นไม้ /จ๊ะเอ๋ เบบี้
- นี่แหละ กทม. ( ชื่อเดิม ลูกโป่ง )
10.เมียจ๋า
Leave a reply