บทบาทของวงดนตรีคาราวาน ตั้งแต่มิถุนายน 2517 จนถึง ตุลาคม 2519 วีระศักดิ์ สุนทรศรี ได้บันทึกไว้ค่อนข้างละเอียดใน ” ความรำลึกย้อนหลัง ” รวมทั้งกิจกรรมระห กระเหินในป่าเขาแถบภูซาง-อีสานเหนือ จนถึงการรวมตัว เป็นหนึ่งเดียวกับ หน่วยศิลปวัฒนธรรม ของศูนย์กลางที่สำนักงานฝายน้ำตาล ไชยบุรี และสำนักงาน หลวงน้ำทา ชายแดนลาว-จีนเมื่อต้นปี 2521 กิจกรรมของ คาราวาน ได้สิ้นสุดภาคแรก ไปแล้วจริงๆ อย่างที่วีระศักดิ์ว่าไว้ใน ” ความรำลึกย้อนหลัง “………. ไม่มีคาราวาน เมื่อคืนนี้อีกแล้ว ด้วยวิถีชีวิตอันเคร่งครัด ขององค์การปฏิวัติ ปัจเจกลักษณะ ย่อมถูกหลอมละลาย กลายเป็นแบบแผนหนึ่งเดียว ” เพลงเพื่อชีวิต ” ถูกตีกรอบให้เดินไปบนวิถี ” เพลงปฎิวัติ ” หรือเพลงที่รับใช้ทฤษฎีปฏิวัติ ” ซึ่งแม้ผู้ผลิตเพลง จะไม่เดินตามไป ด้วยมาตรการของ ” คำสั่ง ” แต่โดย ” กระแส ” สภาพแวดล้อม และ ” การศึกษา ” ที่ควบคุมองค์การปฎิวัติ เพลงเพื่อชีวิต ย่อมกลายเป็น สิ่งเดียวกับเพลงปฎิวัติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในกระแสใหญ่ไหลตามกันไป ยังได้ปรากฎสิ่งใหม่ หรือแนวโน้ม ที่มีชีวิตชีวา ในแวดวงวรรณกรรม นวนิยายของ วัฒน์ วรรลยางกูร ( เกี่ยวกับการต่อสู้ด้วยอาวุธในวันที่ 7 สิงหาคม ) และ ” บันทึกจากกองร้อย ” ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ( เกี่ยวกับชีวิตด้านกลับ หรือชีวิตจริงในขบวนปฎิวัติ ) ซึ่ง ออกอากาศ ทางสถานีวิทยุ เสียงประชาชน แห่งประเทศไทยในปี 2521 มีส่วนกระชาก กรอบวรรณกรรม เก่าๆ ให้ทะลุทะลวง ในวงการเพลงปฎิวัติ เพลงอย่าง ” 7 สิงหาสู้บนทางปืน ” ( ผลงานเพลง วิสา คัญทัพกับ
จิ้น กรรมาชน ) หรือ เพลง ” ถั่งโถมโหมแรงไฟ ” ของ สุรชัย จันทิมาธร ที่เขียน และบันทึก เสียงที่ภูซาง ( ออกอากาศ สถานีวิทยุ ประมาณปลายปี 2520 ) เป็นสัญญาน บ่งชี้ว่า รูปแบบศิลปะ จักต้องคลี่คลาย หลายหลาก ออกไป ยิ่งขึ้น อย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ ศิลปกรรมเก่าๆ แบบเพลงคติพจน์ กำลังถูกเบียดขับ เพราะนักรบ ทางวัฒนธรรมรุ่นใหม่ เริ่มมี ความมั่นใจ ในสมรภูมิยิ่งขึ้น
ใน ” ความรำลึกย้อนหลัง ” วีระศักดิ์ สุนทรศรี ได้สรุปว่า คาราวาน ได้สลายตัวไปแล้ว อย่าง สิ้นเชิง หลังการรวม ตัวของหน่วยศิลปวัฒนธรรมที่หลวงน้ำทา แต่ความเป็นจริง ในอีกด้านหนึ่ง การสลายตัวของวง คาราวาน ก็คือการเริ่มต้นฝึกฝน และพิสูจน์ศักยภาพของ ชาว คาราวาน เป็นรายบุคคล เหมือนกับการแตกวงครั้งแรกของ คาราวาน หลังอัลบั้ม ” คนกับควาย ” ในปลายปี 2518 ซึ่ง สุรชัย จันทิมาธร จะเป็นตัวยืนในการแต่งคำร้อง , ทำนองและเป็นผู้ขับร้อง การปรากฎของอัลบั้มชุดที่ 2 ” อเมริกันอันตราย ” คือการเปล่งศักยภาพ ของสมาชิกคนอื่นๆ ทั้งในการแต่งเพลง และขับร้อง ถ้าไม่มีการแตกวง ( ชั่วคราว ) ครั้งนั้น ก็ไม่แน่ว่า เราจะมีโอกาส ได้ฟังเพลง คาราวาน ในสไตล์ และสีสันที่แปลกออกไป อาทิ ” ลุกขึ้นสู้ ” ” อเมริกันอันตราย ” “รวมกันเข้า ” ได้ฟังเสียงดนตรีใหม่ๆ อย่างไวโอลิน ที่บรรเลงแบบ พื้นบ้านปักษ์ใต้ กระทั่งได้ฟัง เสียงร้อง ( ประเภทไม่มี ลอ-เลือ , มีแต่ลอ-ลิง ) ของวีระศักดิ์ สุนทรศรี การสลายตัวของคาราวานในปี 2521 จึงเป็นการเปล่งศักยภาพ อย่างพรุ่งพราย ( รู้สึกว่า พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ) จะชอบใช้คำนี้มากๆในสมัยนั้น )
ในขณะที่วีระศักดิ์ สุนทรศรี วางมือทางดนตรีชั่วคราว เพื่อไปเพ่งพินิจ ชีวิต ด้านอื่นๆ ทองกราน ทานา ขะมัก เขม้นฝีกฝนเทคนิคใหม่ๆ ของกีตาร์ เชลโล่ วิโอล่า ( โดยกลับมาเริ่มฝึกด้วยมือขวา ) มงคล อุทก ไม่ได้ ฝึกฝน เครื่องดนตรี ใหม่ๆจริงจัง แต่ได้เขียนเพลงที่ยังอยู่ในใจผู้คน มาจน ทุกวันนี้ ( ล่องป่าบุ่น , จั๊กจั่นเตือนใจ หน่อไม้ , รำวงปีใหม่ ) ส่วนพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เขาได้ฝึกฝน เครื่องเป่า เช่นฟลุตและแคนจีน จนช่ำชอง ทั้งยังเริ่มต้น ฝึกฝน การเขียนหนังสืออย่างบ้าคลั่ง ในปี 2521 เขาเขียนนวนิยาย เรื่องแรก ” ทางชีวิต ” จบที่หลวงน้ำทา และเขียนเรื่องสั้น แนวหรรษา ออกอากาศ ทางสปท.หลายชิ้น ( สมญากวีศรีชาวไร่ ที่ได้รับจากนายผี ก็มาจาก งานเขียนจำ นวนมากในระยะนี้ ) กล่าวได้ว่าในระยะเวลาที่ ” ไม่มีคาราวาน เมื่อคืนนี้อีกแล้ว ” สมาชิก คาราวาน ได้แตกกระจายไป เติบโตในทางที่ตนถนัด หรือทางที่ตน อยากกันอย่างเต็มที่ แต่อาการพลุ่งพราย หรือการสร้างสรรค์ อย่างไร้ขีดจำกัด ของสมาชิก คาราวาน ช่วงนั้น ไม่มีใครเท่า สุรชัย จันทิ-มาธร ไม่นับผลงาน ประเภท บทบันทึก บทกวีและนวนิยาย เฉพาะผลงานเพลง อย่างเดียวของ สุรชัย จันทิมาธร น่าจะ รวมกันได้ ไม่น้อยกว่า 3 อัลบั้ม ภายในเวลา 4 ปีของการแตกสลายในป่าเขา
์
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สุรชัย เป็นผู้ที่มีโอกาส ได้คลุกคลีกับสงคราม และมวลชน มากกว่าใคร ทั้งหมดในหมู่ศิลปินช่วงนั้น โดยเฉพาะ การใช้ชีวิต ” ผู้สื่อข่าวด้วยเสียงเพลง ” ที่จังหวัดน่าน ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมพื้นถิ่น , อารมณ์ความรู้สึก แบบชาวไร่ชาวนา และแง่มุมชีวิตหลากหลาย จึงถูกบันทึกไว้ ด้วยมือ สุรชัย จันทิมาธร จำนวนมากมายมหาศาล แฟนเพลงคาราวาน ตั้งแต่ปี 2517-2519 ในกรุงเทพฯ จนถึงช่วงการแตกเข้าป่า ปี 2519 จะพบว่ามีเพลงอยู่ 2 สไตล์ที่คนคาราวาน ไม่เขียน ไม่บรรเลง( ยกเว้น อาจจะ เอาเพลงของคนอื่น มาเล่นเป็นบางครั้งในม็อบ ) คือ เพลงรำวง กับเพลงมาร์ช แต่ประสบการณ์ ในเขตป่าเขา สุรชัย จันทิมาธร และมงคล อุทก ได้แต่งเพลง รำวงจังหวะ ” รำลาว ” ไว้ นับสิบเพลง ( ก่อนหน้านี้ ทองกราน ทานา กับ วีระศักดิ์ สุนทรศรี ก็เคยแต่ง เพลงลูกทุ่ง เมื่อครั้งอยู่ภูซาง ) เพลงที่ควรพูดถึงอย่างยิ่งเพลงหนึ่ง ของสุรชัย จันทิมาธร ก็คือเพลง ” ศึกผาแดง ” ซึ่งเป็นเพลงมาร์ชเพลง แรก และเพลงเดียว ของสุรชัย และคนคาราวาน ” ศึกผาแดง ” เป็นผลผลิต จากประสบการณ์ สงคราม ในยุทธการน่านร่มเย็น ที่อำเภอ ทุ่งช้าง เชียงกลาง
ปี 2522-2523 ยุทธการยือเยื้อแรมปี และเป็นศึกใหญ่ที่สุด ในรอบสิบปี ของฐานที่มั่น น่านเหนือ ( พ.เมืองชมพูได้บันทึกและ วิเคราะห์ ศึกครั้งนี้ ไว้ค่อนข้างละเอียดแล้ว ) สงครามในสายตาศิลปิน กลางม่านควันของระเบิด ปืนใหญ่และปืนกลอากาศ สุรชัยได้บันทึก สงคราม ฉากหนึ่ง ณ พื้นที่เขต บ้านผาแดง อ. ทุ่งช้าง จ. น่าน ” ศึกผาแดงเดือด เลือดนักรบทลาย ปวงศัตรูวายร้าย ทะยานขันมาทายท้า ผาแดงเอย…… จารึกไว้ให้ลูกหลานจำ ศึกผาแดงเด่น เห็นประจักษ์ เลือดนักสู้ ผู้องอาจเกรียงไกร บุกไปเอาชัย เพื่อกำนัลประชา ให้รู้ ว่านี่แหละข้า ทหารป่า ทปท…..”
ทองกราน ทานา ได้นำเพลงนี้ มาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ และบันทึกเทปเสร็จเรียบร้อย ที่ผาช้าง จ.พะเยา ก่อนที่ฐานจะถูกตีแตก ประมาณ 2 เดือน คำกล่าวที่ว่า ” คาราวาน คือทัพหน้า ของขบวนเพลงเพื่อชีวิต ” มิใช่มีความหมายเพียงเพื่อ แสดงว่า คาราวานเป็นผู้เริ่มต้น อินโทรดักชัน ของบทเพลงเพื่อชีวิต หลังเดือน ตุลาคม 2516 เท่านั้น แต่พวกเขา ยังมีบทบาท เป็นผู้สร้างสรรค์ ทดลอง นำทาง และคลี่คลายประเด็นใหม่ๆในสายธารเพลงเพื่อชีวิต มาอย่างต่อเนื่อง การสร้างสรรค์ การค้นหา การลองผิดลองถูก การเผชิญหน้ากับกระแสต้าน และข้อวิพากษ์วิจารณ์ นานาชนิด ของพวกเขา มิใช่เป็นเพียงเรื่องการแสวงหา ทางเทคนิค อย่างเมามัน มิใช่การประดิษฐ์คิดค้น โปรแกรม ดนตรี แปลกๆใหม่ๆ เพื่อความบันเทิงเริงรมย์ หรือความสะใจส่วนตัว แต่คือการทุ่มโถม ตนเองลงไป กลางกระแสสังคมอันเชี่ยวกราก เรียนรู้ชีวิต เพื่อจะรู้จกดนตรี เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก เพื่อเข้าถึงดนตรี และในที่สุด ทำให้ดนตรีเปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงโลก
สุรชัย จันทิมาธร เริ่มเล่นกีตาร์ครั้งแรกก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้รับการฝึกฝนพอเข้าใจพื้นฐานจาก มโนภาษ เนาวรังษี
ต่อจากนั้นฝึกหัดด้วยตัวเองเรื่อยมา ได้รับอิทธิพลจากเพลงสากล ของ โจอัน เบซ บ๊อบ ดิแล่น ร่วมกลุ่มเล่นดนตรีกับ วีระศักดิ์ สุนทรศรี ในนาม ท.เสน และสัญจร ก่อนมารวมกับบังคลาเทศแบนด์เป็น คาราวาน ในที่สุด เดินทางเข้าป่าแสวงหาความหมายและปรัชญาชีวิต 2519 จากป่าคืนเมือง 2525
เพลงพิณแห่งพนมไพร
มงคล อุทก เป็นชาวอำเภอพนมไพร เป็น รองนายกองค์การนักศึกษา วิทยาลัยเทคนิค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขณะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ร่วมกับกลุ่มเพื่อนในชื่อกลุ่มบังคลาเทศแบนด์ โดยมีแกนนำ อีกคนคือ ทองกราน ทานา จนกระทั่งมาเจอกับกับ ท.เสนและสัญจรรวมตัวเป็น คาราวาน ในที่สุด ในช่วงเรียนที่เทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือมงคล อุทก โชคร้ายประสบอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซด์จนต้องเสียขาไปข้างหนึ่ง มงคล อุทกประทับใจเพลงพิณครั้งแรกจากคนบ้าติดกัญชา นั่นก็เพียงพอที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาซึมซับ และหลงรักเสียงดนตรี โดยเฉพาะพิณ ที่ร่วมกับ คาราวาน มาจนทุกวันนี้
วีระศักดิ์ สุนทรศรี
ที่รู้จักในนาม ”แดง” คาราวาน” เริ่มต้นชีวิตเป็นนักเขียน โดยใช้นามปากกาว่า “สัญจร” ่ร่วมกันเล่นดนตรีในนาม ท. เสนและสัญจร ก่อนเข้าร่วมกับสมาชิกวงบังคลาเทศแบนด์ สร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของดนตรีเพื่อชีวิตด้วยการกำเนิดวง ” คาราวาน” ในเวลาต่อมา หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทย กระทั่งกลับออกมาอีกครั้งในช่วงปลายปี 2523
Leave a reply