ละครเรื่อง The Phantom of the Opera เป็นละครเพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก นำเค้าโครงมาจากนิยายเรื่อง Le Fantôme de l’Opéra by Gaston Leroux ซึ่งเก่าแก่อายุเป็นร้อยกว่าปีมาแล้ว มาดัดแปลงเป็นบทละครโดย Lloyd Webber และ Stilgoe บทเพลงประพันธ์โดย Lloyd Webber เนื้อเพลงจาก Charles Hart และ Richard Stilgoe โดยพล็อตหลักของเรื่องจะอยู่ที่ คริสทีน ดาเอ้ นักร้องนักแสดงสาวสวยเสียงโซปราโน่ ซึ่งเป็นที่รักและหลงใหลของอัจฉริยะทางดนตรีผู้ลึกลับ ได้แสดงเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1986 ในฝั่งเวสต์เอนด์ และปี 1988 ที่บรอดเวย์ และได้รับรางวัล Oliver Award ในปี 1986 และรางวัล Tony Award ในฐานะละครเพลงยอดเยี่ยม และนักแสดง Michael Crawford ซึ่งเป็นออริจินอลแคส ก็ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการแสดงละครเรื่องนี้เช่นกัน ละครเรื่องนี้มีการแสดงมาอย่างต่อเนื่อง และมีการนำไปแสดงเป็นภาษาอื่นๆ ในอีกหลายประเทศ
กำเนิดละคร The Phantom of the Opera
ในปี 1984 แอนดรูย์ ลอยด์ เวบเบอร์ (Andrew Lloyd Webber) นำไอเดียการสร้างละครเพลงเรื่องนี้ ไปเสนอกับ คาเมรอน แมคอินทอช (Cameron Mackintosh) โปรดิวเซอร์ละครเรื่อง Cats และ Song and Dance โดย ALW ตั้งใจว่าจะทำให้เป็นเรื่องรักโรแมนติค ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่ตอนนั้น ก็มีหนังสือนิยายและหนังเงียบเคยสร้างมาแล้วหนึ่งเวอร์ชั่น และเวอร์ชั่นภาพยนตร์เคลื่อนไหวอีกหนึ่งเวอร์ชั่น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนามาเป็นฉบับละครเวที จน ALW ไปได้หนังสือมือสองเป็นต้นฉบับนิยายขนาดยาว ของ Leroux เลยได้แรงบันดาลใจที่จะทำละครเรื่องนี้
“I was actually writing something else at the time, and I realized that the reason I was hung up was because I was trying to write a major romantic story, and I had been trying to do that ever since I started my career. Then with the Phantom, it was there!”
Andrew Lloyed Webber
เรื่องย่อละคร The Phantom of the Opera
เปิดฉากที่งานประมูลของเก่าแก่จากโรงละครโอเปร่าป๊อปปูแลร์ในปี ค.ศ 1905 ของล็อตที่ 665 มีชายชรา ชื่อ ราอูล วิกองต์ เดอชาญญี เป็นผู้มาประมูลไปได้ เป็นกล่องดนตรีรูปลิงเปอร์เซีย เขามองแล้วรำพันว่า “ทุกอย่างตรงตามที่เธอบอก” ต่อมาสินค้าล็อตที่ 666 โคมระย้าแชนเดอร์เลียร์ ผู้จัดประมูลบรรยายว่า เรื่องราวปริศนาอันลึกลับที่ไม่มีคำอธิบายของปิศาจแห่งโรงละคร เมื่อเปิดผ้าคลุมโคมระย้าออก แชนเดอร์เลียร์ก็กลับขึ้นไปส่องสว่างอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งย้อนพาเราเข้าไปสู่อดีตในปี ค.ศ 1880
องก์ที่ 1
คาร์ล็อตต้านางเอกโรงละคร กำลังซ้อมการแสดงอยู่ (Hannibal) จู่ๆ ก็มีฉากร่วงลงมาโดยไม่มีเหตุมีผล พร้อมกับเสียงกระซิบกันวุ่นวายว่า เป็นเพราะฝีมือ ปิศาจแห่งโรงละคร เจ้าของโรงละครคนใหม่คือ เฟอร์แมงกับอังเดร พยายามที่จะมองข้าม ไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้ แต่คาร์ล็อตต้าปฎิเสธที่จะเล่นและหุนหันหนีลงจากเวทีไป มาดามจิรี่ ผู้ฝึกนักเต้นบัลเล่ต์ได้เสนอตัว คริสทีน ดาเอ้ สาวสวีดิช ซึ่งเป็นคนคอรัสในโรงละคร เป็นลูกกำพร้าทายาทของกุสตาฟ ดาเอ้ นักไวโอลิน ด้วยเหตุผลว่า “เธอได้รับการสอนมาอย่างดีมาก” และสามารถร้องเพลงในบทของคาร์ล็อตต้าได้ จึงได้ออดิชั่นในเพลง Think of me สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคน จนเธอได้แสดงแทน
เมื่อการแสดงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทางด้านหลังเวที คริสทีน ได้พูดกับเพื่อนของเธอ เม็ก (ลูกสาวของมาดามจิรี่) ว่าเธอได้รู้จักกับครูสอนผู้ลึกลับที่เธอเรียกว่า เป็นเทพแห่งดนตรี (The Angel of Music) ราอูล วิกองต์ เดอชาญญี ผู้อุปถัมน์โรงละครคนใหม่ พบว่าคริสทีนเป็นเพื่อนเล่นสมัยยังเด็ก เลยเข้าไปพบที่ห้องแต่งตัว คริสทีนบอกเล่าเรื่อง เทพแห่งดนตรี ที่พ่อของเธอเคยบอกเอาไว้ให้ราอูลฟัง ว่าเทพแห่งดนตรีมาหาเธอ และมาสอนเธอร้องเพลง แต่ราอูลไม่ได้ใส่ใจ คิดว่าเป็นเรื่องจินตนาการของเธอเท่านั้น และชวนเธอไปทานมื้อดินเนอร์ด้วยกัน เมื่อราอูลออกจากห้องไป The Phantom ก็ได้ปรากฎตัวขึ้นในกระจกเงาในฐานะเทพแห่งดนตรี ที่ใส่หน้ากากปิดบังใบหน้าครึ่งหนึ่งอยู่ คริสทีนขอให้เขาเปิดเผยตัวตน The Phantom จึงได้นำตัวคริสทีนไปยังอาณาจักรอันลึกลับของเขา (“The Phantom of the Opera“) ซึ่งอยู่ภายใต้โรงละครและต้องข้ามทะเลสาปใต้ดินไป เขาบอกว่าเขาเลือกคริสทีนมาเพื่อให้เป็นผู้ขับร้องเพลงของเขา และก็ร้องเพลงขับกล่อมเธอ (The Music of the Night) ในระหว่างเพลงนั้นคริสทีนเห็นหุ่นใส่ชุดเจ้าสาวที่มีลักษณะคล้ายเธอ เมื่อหุ่นมีการเคลื่อนไหว เธอจึงตกใจเป็นลมพับไป The Phantom ก็อุ้มเธอไปวางไว้ตรงที่นอน และบอกความในใจว่ารักเธอ
ขณะที่ The Phantom กำลังแต่งเพลงด้วยออร์แกน คริสทีนตื่นขึ้นมาด้วยเสียงกรุ๋งกริ๋งของกล่องดนตรี (“I Remember…”) เธอแอบก้าวไปหาแฟนธ่อม แล้วดึงหน้ากากออกด้วยความอยากรู้อยากเห็น เธอกรีดร้องตกใจ ในขณะที่ The Phantom โกรธมาก แต่ก็แสดงความปรารถนาที่จะเป็นเหมือนคนปกติ และอยากที่จะเป็นที่รักของเธอ (“Stranger Than You Dreamt It”)
ในขณะเดียวกันนั้น โจเซฟ บูเก้ คนงานในโรงละคร ก็กำลังขู่สาวๆ นักบัลเล่ต์ถึงเรื่อง ปิศาจแห่งโรงละคร กับบ่วงคล้องคอ Punjab lasso (“Magical Lasso”) จนมาดามจิรี่ต้องออกมาเตือนให้สงบปากสงบคำไว้ ในห้องผู้จัดการโรงละคร มาดามจิรี่ก็ได้มาส่งสาส์นของแฟนธ่อม สั่งให้คริสทีนแสดงละครเรื่องใหม่แทนคาร์ล็อตต้า เรื่อง Il Muto เฟอร์แมงกับอังเดรก็กำลังเอาใจคาร์ล็อตต้า และยืนยันว่าให้เธอแสดงเป็นนางเอกอยู่ (“Prima Donna”) แต่ระหว่างการแสดงจริง (“Poor Fool, He Makes Me Laugh”) ก็เกิดเหตุขัดข้อง คาร์ล็อตต้าร้องไม่ออก และส่งเสียงเหมือนกบ ฉากหลังก็ร่วงลงมา จนทุกคนเห็นศพของโจเซฟ บูเก้ถูกแขวนคออยู่ ระหว่างความโกลาหล วุ่นวายอยู่นั่น คริสทีนหนีขึ้นไปบนหลังคา กับราอูล และบอกเรื่องที่เธอไปพบกับแฟนธ่อมมา ราอูลไม่เชื่อ (“Why Have You Brought Me Here?/Raoul, I’ve Been There”) แต่ก็บอกรักเธอและจะปกป้องเธอเอง (“All I Ask of You”) The Phantom ได้ยินคำสนทนาเหล่านั้น ด้วยหัวใจที่สลาย และสาบานด้วยความโกรธเกรี้ยวว่าจะแก้แค้นราอูล (“All I Ask of You (Reprise)”) และขณะนั้นโคมไฟแชนเดอร์เลียร์ก็ร่วงหล่นลงมากระแทกพื้นโรงละคร
องก์ที่ 2
หกเดือนต่อมา ในขณะที่ทุกคนกำลังเฉลิมฉลองในงานกาล่าหน้ากาก แฟนธ่อมปรากฎตัวขึ้นในชุด the Red Death (“Masquerade/Why So Silent?”) ประกาศให้ทุกคนรู้ว่า เขาได้เขียนบทละครเรื่องใหม่คือ Don Juan Triumphant และสั่งให้เริ่มจัดการแสดง โดยให้คริสทีันเป็นนางเอก จากนั้นแฟนธ่อมก็คว้าเอาแหวนหมั้นที่ห้อยคอคริสทีนอยู่ และหายตัวไป ราอูลขอร้องให้มาดามจิรี่บอกเรื่องของแฟนธ่อม เธอเล่าให้ฟังอย่างไม่เต็มใจว่า เขาเป็นอัจฉริยะทางดนตรี ที่เกิดมามีใบหน้าที่พิกลพิการ ซึ่งหนีมาจากพวกเร่โชว์ตัวประหลาด และได้หายตัวไป
ระหว่างการซ้อม ราอูลไ้ด้วางกับดักที่จะจับตัวแฟนธ่อม เพราะรู้ว่าจะต้องมาดูการแสดงแน่ (“Notes/Twisted Every Way”) คริสทีนซึ่งสองจิตสองใจอยู่ระหว่างราอูลคนรัก และสิ่งที่แฟนธ่อมได้สั่งสอนเธอมา เธอจึงไปที่หลุมฝังศพของพ่อ เพราะโหยหาอยากได้คำแนะนำจากพ่อ (“Wishing You Were Somehow Here Again”) The Phantom ปรากฎตัวขึ้นที่นั่นในฐานะเทพแห่งดนตรีของเธอ (“Wandering Child”) คริสทีนเกือบจะตามไป แต่ราอูลเข้ามาขัดจังหวะพอดี แฟนธ่อมเหน็บแนมราอูลและจุดระเิบิดไฟ (“Bravo Monsieur”) คริสทีนขอให้ราอูลพาหนีไป แฟนธ่อมประกาศว่าจะแก้แค้นคนทั้งคู่
ละคร Don Juan Triumphant คริสทีน กับปิอันจิ นักแสดงนำชายของเรื่อง เริ่มแสดงไป ในขณะที่มีตำรวจล้อมจับรออยู่ ขณะที่ร้องเพลงคู่ (“The Point of No Return“) คริสทีนรู้ว่าคนที่เธอแสดงด้วยไม่ใช่ปิอันจิ แต่เป็นแฟนธ่อม เขาแสดงความรักต่อเธอ และสวมแหวนให้ แต่เธอกระชากหน้ากากและเปิดเผยตัวจริงให้คนอื่นรู้ คนดูตกใจเมื่อเห็นหน้าปิศาจแห่งโรงละคร ขณะที่ปิอันจิถูกแขวนคออยู่เบื้องหลัง แฟนธ่อมคว้ามือคริสทีนหนีไปจากโรงละคร ราอูลติดตามไป มาดามจิรี่บอกที่อยู่ของแฟนธ่อมและเตือนว่าให้ระวัง บ่วงคล้องคอ
ในรังใต้ดินของแฟนธ่อม คริสทีนถูกบังคับให้ใส่ชุดเจ้าสาว (“Down Once More/Track Down This Murderer”) ราอูลตามไปจนพบ และมาติดกับ กับบ่วงคล้องคอ แฟนธ่อมให้คริสทีนเลือกเอาว่า ถ้าคริสทีนตกลงว่าจะอยู่กับเขา เขาจะปล่อยตัวราอูลไป แต่ถ้าเธอปฎิเสธ ราอูลจะต้องตาย คริสทีนบอกกับแฟนธ่อมว่า จิตใจของเขาต่างหากที่บิดเบี้ยว ไม่ใช่หน้าตา และคริสทีนจูบแฟนธ่อม ปลอบประโลมว่า เขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว The Phantom ซาบซึ้งใจ ที่ได้รับความรัก ความเห็นใจเป็นครั้งแรกในชีวิต เขาปล่อยตัวทั้งคู่ไป คริสทีนกลับมาคืนแหวน แฟนธ่อมบอกว่าเขารักเธอ เธอร้องไห้ และเดินจากไป แฟนธ่อมขึ้นไปบนบัลลังค์ของเขาและหายตัวไป ในขณะที่พวกล้อมจับมาถึง เม็กพบแต่เพียงหน้ากากชิ้นเดียวที่วางทิ้งไว้อยู่
งานดีไซน์
สิ่งที่เราจดจำได้ในเรื่อง The Phantom of the Opera อย่างเช่น หน้ากาก เรือกอนโดล่า และฉากสำคัญๆ อย่างในรังของแฟนธ่อม ที่มีเทียนไขอยู่รายรอบ บันไดยาวในฉากระบำหน้ากาก
ทั้งหมดนี้ต้องยกเครดิตให้กับ Maria Björnson
เป็นผู้ออกแบบงานดีไซน์ ทั้งฉาก และเสื้อผ้ากว่า 200 ชุด รวมทั้งเครื่องประดับตกแต่งทั้งหลายในเพลง “Masquerade”
รวมไปถึง โคมระย้าแชนเดอร์เลียร์ ซึ่งในฉบับฉลองครบรอบ 25 ปี ก็ได้ทำโคมระย้าเป็นชื่อ Maria เพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงเธอด้วย
คาเมรอน แมคอินทอช ผู้อำนวยการสร้างละครเรื่องนี้ ยังได้ชื่นชมเธอว่า เธอเป็นอัจฉริยะ ผู้ที่ได้ร่วมงานกับเธอจะเห็นว่าเธอเป็นผู้ที่อุทิศตัวเองให้กับงานอย่างแท้ จริง และใส่ใจต่อรายละเอียดอย่างมากด้วย
การแสดงพรีวิวครั้งแรกนั้นจัดที่ Sydmonton ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Andrew Lloyd Webber ผู้ที่แสดงเป็นแฟนธ่อมคือ Colm Wilkinson Sarah Brightman เป็น Kristin (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น Christine) Clive Carter แสดงเป็น ราอูล
เป็นโปรดักชั่นแรกที่ใช้เนื้อร้องแบบดั้งเดิมของ Richard Stilgoe ซึ่งชื่อเพลงหลายๆ เพลงจะเปลี่ยนชื่อในตอนหลัง เช่น เพลง”What Has Time Done to Me” (“Think of Me”), และ “Papers” (“Notes”) หน้ากากในตอนเริ่มแรกนั้นจะปิดปกคลุมหน้าทั้งหมด ซึ่งทำให้มีปัญหาในการมองเห็นของนักแสดง และทำให้เสียงไม่ชัีดเจนด้วย Maria Björnson จึงได้ออกแบบหน้ากากปิดบังครึ่งหน้า ที่กลายมาเป็นไอค่อนสำคัญของเรื่องนี้
สิ่งที่ทำให้ละครเพลงเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากที่สุด ก็คือความไพเราะของบทเพลงนี่แหละครับ ทำนองเพลงประพันธ์โดย แอนดรูย์ ลอยด์ เวบเบอร์ สกอร์เพลงของเรื่องนี้เป็นการผสมผสานการใช้สไตล์การร้องแบบโอเปร่า กับแบบมิวสิคอล
ทางด้านเนื้อร้อง ในตอนแรก ALW ได้ไปติดต่อกับ Jim Steinman ให้มาเขียนเนื้อร้องให้ สิ่งที่ดึงดูดใจให้ไปติดต่อก็เพราะด้านมืดของจิมนี่แหละ แต่ว่าถูกปฎิเสธเพราะว่าตอนนั้นจิมไม่ว่างต้องทำอัลบั้มอยู่ ต่อมาก็เป็น Alan Jay Lerner ซึ่งต่อมาก็ป่วยหนักจนต้องถอนตัวออกไป แต่เขาก็ยังมีส่วนร่วมในเครดิตของเพลง Masquerade ผู้ที่มาเขียนเนื้อเพลงทั้งหมดในออริจินอลก็คือ Richard Stilgoe และต่อมาก็คือ Charles Hart ซึ่งยังอายุน้อยและยังไม่มีชื่อเสียงนัก มาปรับปรุงเนื้อเพลงใหม่ทั้งหมด ส่วนเนื้อเพลงต้นฉบับอย่างเพลง Think of me ของ Stilgoe ก็ยังนำมาใช้เล่นอยู่ในปัจจุบันนี้
เชื่อหรือไม่ว่า King of Pop อย่างไมเคิล แจ๊คสัน ก็สนใจอยากจะแสดงเป็น The Phantom กะเขาด้วย ถึงขนาดติดต่อไปยัง ALW ว่าอยากจะเล่นบทนี้เหลือเกิน เขาต้องทำยังไงบ้าง ถึงจะได้เล่น ก็ไม่รู้ว่าถ้า ALW ตกลง แฟนธ่อมในเวอร์ชั่นไมเคิล แจ๊คสัน จะออกมาเป็นแบบไหนนะครับ
ไมเคิลได้ไปชม The Phantom of the Opera ที่บรอดเวย์ นิวยอร์ค เมื่อปี 1988 เขาแสดงความสนใจในละครเรื่องนี้มาก และได้ไปดูอยู่บ่อยครั้งโดยไม่มีคณะผู้ติดตาม และไปเที่ยวชมด้านหลังเวทีจนคุ้นเคยกันกับทีมงาน ไมเคิลมีไอเดียที่จะแสดงเรื่องนี้ในภาพยนตร์ แต่ในขณะนั้น ALW รู้สึกว่ายังเร็วเกินไปที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
สิ่งหนึ่งในละคร The Phantom of the Opera ที่จับใจของไมเคิล เพราะไมเคิลเข้าใจความรู้สึกโดดเดี่ยว และความทุกข์ทรมานของอัจฉริยะทางดนตรี ผู้ที่ทั้งชีวิตทำงานอยู่กับเสียงเพลง และประทับใจในความรักที่เขามีให้กับผู้หญิงคนหนึ่ง