รวมดาว…อัลบั้มเพลงคู่ยอดฮิต
ร่วมรำลึกโดย…angy
รวมดาว อัลบั้มเพลงคู่อัลบั้มแรกที่ออกมาในยุคที่เพลงสตริงของศิลปินวัยรุ่นกำลังเฟื่องฟู และแข่งขันกันอย่างมากมายหลายกลุ่ม หลายวง หลายค่าย ก่อให้เกิดความนิยมใหม่ในหมู่นักฟังเพลงในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ เป็นเพราะเพลงที่ถูกจัดไว้ในอัลบั้มชุดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงยอดนิยมในอดีตของวง สุนทราภรณ์ ซึ่งมีความ เป็นอมตะและ ยังอยู่ในความทรงจำของนักฟังเพลงทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่
ปี พ.ศ. 2527 เป็นช่วงเวลาที่ค่ายเพลงหลายค่ายต่างแข่งกันปั้นนักร้องวัยรุ่น หลายกลุ่ม หลายวงมาออก อัลบั้มเพลง เพื่อหวังเอาใจตลาด เนื่องจากวัยรุ่นในช่วงเวลานั้น ต่างคลั่งไคล้ในตัวนักร้องวัยรุ่นเป็นอย่างมาก อัลบั้มชุด รวมดาว นี้ จึงประกอบไปด้วยนักร้องวัยรุ่นซึ่งกำลังเป็นที่นิยมจากหลายวงในค่ายเดียวกัน มาร่วมขับขาน เพลงคู่ชุดนี้ อันได้แก่
รณชัย ถมยาปริวัฒน์ หรือ อ๊อด
ไพศาล อัญญธนา หรือ ศาล
อาทิตย์ นามบุญศรี หรือ โอ๋ จากวง คีรีบูน
ประวิตร เปรื่องอักษร หรือ แซม จากวงซิกซ์เซ้นซ์
สุทธิพงษ์ วัฒนจัง หรือ ชมพู จากวงฟรุ้ตตี้
โอภาส ทศพร หรือ อ๊อด จากวงบรั่นดี
พีระพงษ์ พลชนะ หรือ ต้อม และ
เรวัติ สระแก้ว หรือ ป๋อง จากวง อินทนิล
ชาญชัย บุญรัตนไพลิน หรือ ตั้ม จาก วงแอทลาส
มานิตย์ พาชิยานุกูล หรือ นิด จาก วงเชอรี่พิ้งค์
ธนา ศิริจันทร์สว่าง จาก วงอ๊อพติค
ส่วนนักร้อง วัยรุ่นหญิงที่จะมาขับร้องเพลงคู่กับน้องร้องวัยรุ่นชายเหล่านี้ ก็มีการยืมตัว 3 สาววงปุยฝ้ายจากค่ายอื่นมา เนื่องจากขณะนั้นในค่ายนี้ยังไม่มีนักร้องหญิงเลย ซึ่งก็ได้แก่
อัจฉรพรรณี หาญณรงค์ หรือ โอ
จุฑามาศ อิสสรานุกฤต หรือ บุ๋ม และ
อาริตา ปัจฉิมาภิรมย์ หรือ แป๊ก
และ นักร้องสาวอีกคนที่ร่วมร้องเพลงคู่ด้วย คือ
ทวินันท์ คงคราญ หรือ โอ๋
แทรก | เพลง | ร้องโดย | ผู้ประพันธ์ต้นฉบับ |
---|---|---|---|
1 | อ้อยใจ | รณชัย/อัจฉรพรรณี | ธาตรี, เอื้อ สุนทรสนาน |
2 | มนต์รักดอกคำใต้ | ประวิตร/อัจฉรพรรณี | ชาลี, สมาน |
3 | นกเขาคูรัก | สุทธิพงษ์/จุฑามาศ | สุนทรียา, สมาน |
4 | รัก | มานิตย์/อัจฉรพรรณี | เกษม, สมาน |
5 | ทุยจ๋าทุย | ชาญชัย/อัจฉรพรรณี | เกษม, สมาน |
6 | จูบเย้ยจันทร์ | พีระพงษ์/ทวินันท์ | เกษม, สมาน |
7 | จุดไต้ตำตอ | ไพศาล/อาทิตย์/อาริดา | เลิศ, สมศักดิ์, ธนิต |
8 | หนีไม่พ้น | ไพศาล/อาทิตย์/อาริดา | สมศักดิ์, เอื้อ |
9 | ดำเนินทราย | รณชัย/อัจฉรพรรณี | แก้ว, เอื้อ |
10 | สักขีแม่ปิง | ประวิตร/ทวินันท์ | ชาลี, เชาว์ แคล่วคล่อง |
11 | เธออยู่ไหน | มานิตย์/จุฑามาศ | ชาลี, สมาน |
12 | ใจชาย ใจหญิง | เรวัติ/อาริดา | พรพิรุณ, เอื้อ |
13 | บทเรียนก่อนวิวาห์ | ธนา/ทวินันท์ | เกษม, สมาน |
14 | รักคุณเข้าแล้ว | โอภาส/ทวินันท์ | สุนทรียา, สมาน |
ส่วนเพลงคู่ที่ถูกนำมาบันทึกเสียงใหม่ในครั้งนั้น ล้วนแต่เป็นเพลงที่มีความไพเราะ และมีความน่ารักในเนื้อหา ของเพลง ซึ่งจะเน้นการใช้วาจาพลอดรัก ฝากรัก กระเง้ากระงอดแง่งอน เกี้ยวพาราสี ระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว เนื้อหาที่น่ารักของเพลงเหล่านี้ ยังมาจากการเปรียบเทียบสำนวน หรือลีลาการพลอดรักกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า, แม่น้ำลำธาร หรือแม้แต่สัตว์น่ารักๆ ก็ยังถูกยกมาเปรียบเทียบเหมือนกัน เพลงที่ได้คัด สรรมาอย่างดีแล้วนั้น ได้แก่ อ้อยใจ, มนต์รักดอกคำใต้, นกเขาคูรัก, รัก, ทุยจ๋าทุย, จูบเย้ยจันทร์, จุดใต้ตำตอ, หนีไม่พ้น, ดำเนินทราย, สักขีแม่ปิง, เธออยู่ไหน, ใจชาย ใจหญิง, บทเรียนก่อน วิวาห์ และ รักคุณเข้าแล้ว
ไม่เพียงแต่การนำเพลงคู่กลับมาร้องใหม่โดยนักร้องวัยรุ่นเท่านั้น ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิด กับวงการ เพลงเมืองไทย การบรรเลงโดยเครื่องดนตรีมากถึง 30 กว่าชิ้นของคุณณรงค์ & HIS ORCHESTRA ก็ยัง สร้างจุดเด่นให้กับอัลบั้มชุดรวมดาวนี้ ภายใตัการควบคุมการบรรเลงโดย คุณณรงค์ อับดุลราฮิม ซึ่งอดีต เป็น 1 ใน สมาชิกวงพิ้งค์แพนเตอร์นั่นเอง
จำได้ว่า ตอนที่มิวสิควิดีโอชุดรวมดาวนี้ออกอากาศทางทีวี เราจะได้เห็นลีลาการเล่นมิวสิควิดีโอของนักร้อง เหล่านี้แบบเคอะๆ เขินๆ เพราะว่า ในยุคสมัยนั้น ไม่มีใครทำเพลงคู่มาให้ได้ฟังกัน พอถึงเวลาที่ต้องร้องเพลง และ เล่นมิวสิควิดีโอด้วยกัน เราก็เลยได้เห็นภาพที่แสดงถึงการเคอะเขินของนักร้องเหล่านี้แบบธรรมชาติ ไม่มีการเสแสร้ง ดูๆ แล้วก็น่ารักไปอีกแบบ
ความนิยมต่อ รวมดาว ยังมีอยู่อย่างไม่สร่างซา จนกระทั่งถึงอัลบั้ม รวมดาว 2 ศิลปินโดยส่วนใหญ่ ยังคง เป็นชุดเดียวกับรวมดาว มีลด และเพิ่มเพียงคนสองคนเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อความเหมาะสมในลีลาการร้องของ แต่ละคน กับเพลงที่คัดไว้ในอัลบั้ม ศิลปินที่เพิ่มเข้ามาก็ได้แก่ สมพร ปรีดามาโนช หรือ ปิง จากวงฟรุตตี้ และ เพ็ญโพยม เรืองโรจน์ หรือ อิ๋ว นักร้องสาวจากวงดีซีแบนด์ ส่วนเพลงคู่ที่ได้คัดสรรมารวม ไว้ในอัลบั้ม ชุดนี้ ได้แก่
ใต้ร่มมลุลี – รณชัย ถมยาปริวัฒน์/อัจฉรพรรณี หาญณรงค์
ปองใจรัก – รณชัย ถมยาปริวัฒน์/อัจฉรพรรณี หาญณรงค์
สาวบ้านแต้ ไพศาล อัญญธนา/ อาริตา ปัจฉิมาภิรมย์
พุ่มพวงดวงใจ เรวัติ สระแก้ว/ เพ็ญโพยม เรืองโรจน์
พรพรหม – ธนา ศิริจันทร์สว่าง / จุฑามาศ อิสสรานุกฤต
พายเรือพลอดรัก สมพร ปรีดามาโนช /อาริตา ปัจฉิมาภิรมย์
วอนรัก มานิตย์ พาชิยานุกูล/อัจฉรพรรณี หาญณรงค์
วิมานรักห้วยแก้ว – ประวิตร เปรื่องอักษร /เพ็ญโพยม เรืองโรจน์
กระท่อมรจนา สุชาติ จันทร์ต้น / จุฑามาศ อิสสรานุกฤต
สัญญาที่ป่าเหนือ ประวิทย์ เปรื่องอักษร / ทวินันท์ คงคราญ
รักใต้ร่มไทร มานิตย์ พาชิยานุกูล /เพ็ญโพยม เรืองโรจน์
เชื่อรัก โอภาส ทศพร / ทวินันท์ คงคราญ
สัญญารัก สุทธิพงษ์ วัฒนจัง /จุฑามาศ อิสสรานุกฤต
หากรักเป็นเช่นศาสนา ชาญชัย บุญรัตนไพลิน / ทวินันท์ คงคราญ
ทุยฝันร้าย ชาญชัย บุญรัตนไพลิน /อัจฉรพรรณี หาญณรงค์
มนต์รักอสูร – รณชัย ถมยาปริวัฒน์ /อัจฉรพรรณี หาญณรงค์
แนวเพลงก็ยังเป็นแนวพลอดรัก พ่อแง่แม่งอน เย้าแหย่กันตามประสาคู่รัก
ขณะเดียวกันนี้ ในช่วงเวลาที่เพลงเก่าในอดีตกำลังเริ่มเข้าหูวัยรุ่นในยุคนั้น อัลบั้มชุดพบดาว จึงถูกผลิต ตามกันออกมาทันที คราวนี้ไม่ใช่เพลงคู่แล้ว แต่เป็นการนำดาว หรือศิลปินที่กำลังได้รับความนิยม 4 คนคือ อ๊อด คีรีบูน, ชมพู ฟรุตตี้, แซม ซิกซ์เซ้นซ์ และนิด เชอรี่พิ้งค์ มาร่วมกันขับขานเพลงไพเราะ ซึ้งๆ ในอดีต เช่น ที่รัก, สุดเอื้อม, คอย, กินรีเล่นน้ำ, คำคม, คนรักหาย, จำพราก, สวนสน, รักทรมาน, ไม่เคย รักใครเท่าคุณ, ฉันอยู่ไหน, ลืมไม่ลง โดยแต่ละเพลงแยกร้องเดี่ยวตามความเหมาะสม และเน้นการ ประสาน เสียงในเพลง เพื่อเพิ่มความไพเราะ อันเป็นจุดเด่นของอัลบั้มชุดนี้ นอกจากนี้ ยังมีเพลงร้องประสานหมู่อีก 2 เพลง คือ ชาวดง และ ทัศนาจร
จากพบดาวชุดนี้ ยังมีพบดาว 2 ตามมาอีกด้วยบทเพลงในอดีตที่ไพเราะ ซึ้งๆ สนุกสนาน ไม่ด้อยไปกว่า ชุดแรกอีก 12 เพลง ได้แก่
ทาษเทวี
บางหลวง
แม่กลอง
จับกระแต
นกขมิ้น
รักลอยลม
แม่ยอดรัก
เพ้อ
เด็ดดอกรัก
ลานเท
น้ำตาคลอ
ถ้าคุณบอกผม
ง้อเพราะรัก
โดยในชุดนี้ ศิลปินชายที่มาช่วยกันขับขานในแต่ละเพลงนั้นมีถึง 11 คนด้วยกัน ซึ่งมาจากรวมดาวชุดแรก 9 คน เพิ่มอีก 2 คนคือ ปิง ฟรุตตี้ และ สุชาติ จันทร์ต้น
กระแสเพลงคู่ยังไม่หมดแค่รวมดาว 2 เท่านั้น คราวนี้ไม่ได้นำเพลงเก่ามาขับร้องใหม่เหมือนรวมดาว และพบดาว แต่กลับเลือกเอาเพลงเด่นของศิลปินหลายวงมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นเพลงร้องคู่โดยศิลปินหนุ่มสาว จากชุดรวมดาว 11 คน นี่เองที่ทำให้เกิดความไพเราะบนความแปลกใหม่ จากที่เคยฟังแบบร้องเดี่ยวในเพลง เดียวกัน ซึ่งเพลงที่ถูกคัดเลือกมานั้นก็มี
อายุไม่สำคัญ และ รักนี้เหมือนฝัน ของวงคีรีบูน
รอเธอ และ ดั่งนกเจ็บ ของวงบรั่นดี
สำเนียงรัก และ ฝืนดวงใจ ของวงอ๊อพติค
คนข้างเคียง ของวงฟรุตตี้
เพ้อรัก ของวงซิกซ์เซ้นซ์
และยังมีเพลง พ่ายรัก และ ความรัก รวมเป็น 10 เพลงด้วยกัน เมื่อเป็นการรวม เพลงเด่นๆ ของศิลปินเหล่านี้ อัลบั้มชุดนี้ จึงมีชื่อว่า นพเก้า ซึ่งหมายถึง เครื่องประดับอันมีค่า เปรียบได้กับเพลง ที่คัดมานี้ เป็นเพลงที่มีค่าของศิลปินเหล่านี้นั่นเอง
พอมาถึงนพเก้า 2 เนื้อเพลง และ ดนตรีใหม่ ได้ถูกบรรจงแต่งขึ้นสำหรับอัลบั้มชุดนี้โดยเฉพาะ โดยมีถึง 12 เพลง ขับร้องโดยศิลปินหนุ่มสาว 13 คน และก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ด้วยเนื้อหา และดนตรีที่ฟังกันได้ง่ายๆ สบายๆ ซึ้งๆ หวานๆ ทำให้เพลงในชุดนี้เป็นที่ชื่นชอบอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเพลง
ลมรักลวง
รักยังคอย
ไม่มีทาง
สายธารรัก
พลังรัก
โอ้ความรัก
เงารัก
รอยนิรันดร์
คอยรัก
เข้าใจผิด
รอวันพบเธอ
คิดถึงกัน
แต่ที่ทำให้นพเก้า 2 มีความพิเศษกว่าเพลงคู่ชุดอื่นๆ ก็คือ ได้เชิญนักร้องฝรั่งชื่อ Brian Bate มาร่วมร้องเพลงด้วย โดย Brian ร้องเพลง สายธารรัก คู่กับ โอ อัจฉรพรรณี และ เพลง เงารัก คู่กับ อิ๋ว เพ็ญโพยม Brian Bate จะเป็นใครนั้น ตอนนี้ ยังไม่สามารถหารายละเอียดมาได้ ทราบแต่ชื่อ และจำได้ถึง หน้าตา และลีลาการร้องเพลง แม้จะออกสำเนียงไทยไม่ชัดถึง 100% แต่ก็เรียกว่าชัดในระดับนึง เวลาร้องบน เวทีคอนเสิร์ต เลยดูน่ารักไปอีกแบบ และก็สามารถทำให้ผู้ชมคอนเสิร์ตชื่นชอบตามไปด้วย
ปิดท้ายกันด้วยการนำเพลงเก่า ซึ่งเป็นแนวเพลงรำวงมาขับร้องใหม่แบบโต้กันเพลงต่อเพลงระหว่างชายหญิง รวม 10 เพลง เช่น
ดอกฟ้าที่รัก
ดอกดินที่รัก
เดือนดารา
เดือนปราณี
ใกล้เข้ามาอีกนิด
ชิดเข้ามาอีกหน่อย
ตามองตา
ตาเจ้าชู้
เพลงผู้ใหญ่ลี ( ร้องเพลงเดียวกันทั้งชาย และหญิง )
ในชุดนี้ ร่วมร้องกันโดยศิลปินหนุ่มสาว 9 คน ภายใต้ชื่อชุดว่า มรดกไทย
การนำเพลงเก่ามาเรียบเรียงเสียงประสาน และร้องใหม่ของศิลปินนักร้องกลุ่มนี้ ได้พยายามยึดเอาทำนองเดิม ไว้ผสมผสานกับแนวดนตรีสมัยใหม่เข้าไปด้วย ก็เพื่อให้เพลงนั้นๆ เป็นที่ยอมรับในหมู่นักฟังเพลงวัยรุ่นในยุคนั้น ในขณะเดียวกัน ก็ให้เป็นที่ยอมรับของนักฟังเพลงรุ่นเก่าด้วย บางครั้ง บางเพลง อาจไม่ดีเท่านักร้องเดิมที่เคย ร้องไว้ หรืออาจไม่ถูกอกถูกใจนักฟังเพลงรุ่นเก่านัก แต่อย่างน้อย ความตั้งใจในการร้องเพลงเก่าเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่ง ที่ยากสำหรับนักร้องรุ่นใหม่ ก็ทำให้เราปฎิเสธไม่ได้ในความไพเราะ ได้รับรู้ และเข้าใจถึงเจตนารมย์ ในการ ต้องการอนุรักษ์เพลงเดิมๆ ไว้ให้คงอยู่ในจิตใจของนักฟังเพลงไปตราบนานเท่านาน