Site icon บ้านเพลงเก่า

ยุคร็อคแอนด์โรล 2503-2515

วงการเพลงของไทยได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด  ทั้งนี้เนื่องจากผลงานเพลงของตะวันตก  อาทิเช่น  วงสี่เต่าทอง (The Beatles), วงเดอะชาโดว์ (The Shadow) ซึ่งเป็นวงดนตรีของประเทศอังกฤษที่เล่นดนตรีให้กับคลิฟ  ริชาร์ด (Cliff  Richard)  หรือนักร้องเพลงร็อคชื่อดัง  เช่น  เอลวิส   เพรสลี่ย์  (Elvis Pressley)  ได้เข้ามาแพร่หลายในเมืองไทย และทำให้วัยรุ่นไทยกลุ่มหนึ่งตื่นตัว กับผลงานเพลงของนักร้องเหล่านั้นอาจจะกล่าวได้ว่าวงดนตรี The Shadow เป็นวงที่มีบทบาทสำคัญต่อนักร้องและนักดนตรี ของไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก  จนถึงกับมีการนำเอาคำว่า  “ชาโดว์”  มาใช้เรียกชื่อประเภทวงดนตรีที่เล่นเพลงสากลในลักษณะที่ใช้เครื่องดนตรี 4 ชิ้น  คือ  กีต้าร์  3  ตัว  และ  กลอง 1 ชุด  วงดนตรีของไทยที่เล่นเพลงสากล  โดยเลียนแบบของตะวันตกที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าวัยรุ่นไทยนิยมฟังเพลงสากลมาก  แต่อย่างไรก็ตามเพลงไทยสากลประเภท  “ลูกกรุง”  อย่างเช่น เพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์  และ “ลูกทุ่ง”  ก็ยังคงได้รับความนิยมควบคู่กันไปด้วย

……………….ในช่วงปลายปี  พ.ศ.2512   ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาตั้งฐานทัพในไทย  ได้มีส่วนทำให้อิทธิพลของเพลงตะวันตกเข้ามามีบทบาทต่อวงการเพลงไทยอีกครั้งหนึ่ง  วงดนตรีที่เล่นเพลงสากลในสมัยนั้น ได้แก่  วงจอยท์ รีแอ็คชั่น (Joint Reaction – วงดนตรีดิอิมพอสซิเบิ้ล), วงซิลเวอร์แซนด์ (Silver Sand),  วงรอยัลสไปรท์ส (Royal Sprites) ฯลฯ  จะเห็นได้ว่านักดนตรีไทยส่วนใหญ่จะเล่นเพลงสากล โดยการลอกเลียนจากแผ่นเสียงเพลงสากลกันเป็นส่วนใหญ่

……………….ต่อมาในปี พ.ศ.2512 “คณะกรรมการจัดการประกวดสตริงคอมโบแห่งประเทศไทย” ของ  สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปภัมภ์  ได้มีการจัดให้มีการแข่งขันประกวดวงดนตรีในแบบ  “สตริงคอมโบ”  ขึ้น  โดยมีกติกาบังคับให้วงดนตรีที่เข้าประกวดจะต้องเล่นเพลง สากล 1 เพลง  เพลงไทยสากล 1 เพลง และ เพลงพระราชนิพนธ์ 1 เพลง  วงดนตรี  จอยท์  รีแอ็คชั่น  ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น  “ดิอิมพอสซิเบิ้ล”  ซึ่งสมาชิกภายในวงประกอบไปด้วย  เศรษฐา  ศิระฉายา,  วินัย  พันธุรักษ์,  อนุสรณ์  พัฒนกุล,  สิทธิพร  อมรพันธุ์ และ  แดน-พิชัย  ธรรมเนียม  ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 ครั้งติดต่อกัน  นับได้ว่า  “เป็นวงดนตรีประเภทสตริงคอมโบของไทยวงแรก ที่สามารถสร้างความรู้สึกเป็นสากล และเป็นวงแรกอีกเช่นกันที่ช่วยบุกเบิกให้วัยรุ่นหันมาฟังเพลงไทยแนวใหม่” และผลจากการประกวดดังกล่าว  ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยตลอดจนผู้ประพันธ์เพลง เริ่มหันมาให้ความสนใจกับวงดนตรีประเภทนี้มากขึ้น  ด้วยการแต่งเพลงไทยสากลที่บรรเลงโดยวงดนตรีสตริงคอมโบ  และเนื่องจากวงดิอิมพอสซิเบิ้ล ได้ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงประกอบภาพยนตร์เรื่อง  “โทน”  ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และนับจากนั้นวงดนตรีสตริงคอมโบก็เป็นที่แพร่หลายในวงการเพลงไทยสากล  ไม่ว่าจะเป็น  วงซิลเวอร์แซนด์, รอยัลสไปรท์ส,  วง  พี.เอ็ม.5,  วงพี.เอ็ม.7,  วงแฟนตาซี,   วงชาตรี,  วงแกรนด์เอ็กซ์  ฯลฯ  วงดนตรีสตริงคอมโบเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเล่นเพลงสากล ตามภัตตาคารและไนท์คลับต่างๆ  โดยเฉพาะบนย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่

 

ที่มา  :  หนังสือ  “กว่าจะเป็นธุรกิจเทปเพลง”

Exit mobile version