ครั้งแรกที่วงได้ไปบันทึกเสียงตามที่นัดหมายไว้กับครูไพบูลย์ รู้สึกว่าจะเป็นตอนกลางคืน หลังจากไปรายการ TV วันนั้นซาวด์เอ็นจิเนียร์คงจะกลับบ้านกันหมดแล้ว วันนั้นครูไพบูลย์จึงเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์คนแรกที่บันทึกเสียงให้กับวงชาตรี ความที่เป็นวงไทยๆ ชื่อไทยๆ ร้องเพลงไทย เล่นเพลงไทย เอกลักษณ์ไทยๆ แต่งเอง ร้องเอง ก็เลยเข้ากันได้กับรายการของครูไพบูลย์ เพราะธานินทร์อุตสาหกรรมสปอนเซอร์หลักของรายการวิทยุ ก็เป็นของคนไทยซึ่งผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยคนไทย เพื่อคนไทยแข่งกับสินค้าจากต่างประเทศ
ย้อนกลับมาที่การประกวดโพล์คซอง เนื่องจากว่าข้อจำกัดของกฏเกณท์หลายอย่างดังกล่าว ทางวงจึงตัดสินใจถอนตัวจากการประกวด เพื่อให้ได้ใช้กลองชุด และเบสไฟฟ้า ในเวลาต่อมา ทราบภายหลังว่าการประกวดในปีนั้นก็ล้มโดยไม่เกี่ยวกับการถอนตัวของวงชาตรีแต่อย่างไร หลังจากวันนั้นแล้ว ครูไพบูลย์ได้นัดหมายให้ทางวงไปบันทึกเสียงเพลงเพิ่มอีกหลายเพลง เพื่อนำไปออกอากาศทางวิทยุ 120 นาทีมัลติเพลก ของธานินทร์อุตสาหกรรม คราวนี้ซาวด์เอ็นจิเนียร์ ชื่อพี่หินเป็นคนอัดเสียง สมัยนั้นการบันทึกเสียงยังเป็นแบบเล่นพร้อมกัน ไม่สามารถตัดต่อได้ ถ้าเล่นผิดต้องเริ่มต้นใหม่หมดในแต่ละเพลง
แล้ววันหนึ่งครูไพบูลย์ เห็นว่าทางวงชาตรีหน้าจะรวบรวมเพลงที่ได้บันทึกเสียงออกรายการวิทยุ ให้ได้จำนวน 12 เพลง เพื่อเป็นอัลบั้มของตัวเอง โดยครูเป็นผู้ออกทุนให้ในเบื้องแรก โดยทำเป็นเทปคาสเซ็ท และแนะนำให้ไปฝากขายยังห้างแผ่นเสียงที่ครูรู้จัก ซึ่งก็คือห้างแผ่นเสียงเมโทร สมัยนั้นอยู่ประตูน้ำ และที่ห้าง ส.รวมแผ่นเสียง อยู่ที่สะพานเหล็ก สมัยนั้นเทปคาสเซ็ทเป็นของใหม่ ที่กฏหมายไทยยังไม่ได้รับรองเพราะเป็นสื่อใหม่ มีแต่แผ่นเสียงเท่านั้นที่รับรอง ปกเทปชุดแรกจะเป็นรูป กีต้าร์โปร่ง ชื่อชุด จากไปลอนดอน สีโดยรวมของปกเทปจะออกทางน้ำเงิน รุ่นพี่ที่ช่างภาพเป็นผู้ถ่ายให้ ชื่อพี่วิทยา ซึ่งต่อมาพี่วิทยาก็ช่วยส่งเสริมทางวง โดยออกทุนซื้อเครื่องขยายเสียง
นอกจากนี้ พี่วิทยายังช่วยหางานมาให้อีกด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นงานแต่งงาน เนื่องจากพี่วิทยาทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของธนาคาร จึงมีเพื่อนมาก ดังนั้นพวกเราจึงมีโอกาสได้ออกโชว์ในงานแต่งงานต่างๆบ้าง วันหนึ่งเราได้นำเทปที่บันทึกมาเรียบร้อยแล้วไปแนะนำกับเพื่อนเก่าสมัยเรียนชั้นประถม ชื่อประเวศ บ้านอยู่แถวสวนมะลิ ซึ่งบ้านประเวศเป็นอู่แท็กซี่ รถที่ใช้ในสมัยนั้นเป็นแท็กซี่บลูเบิร์ดเก่าเป็นส่วนใหญ่ ปรากฏว่าประเวศก็พาไปบ้านเพื่อน เพื่อแนะนำเทปตัวอย่างดังกล่าวแต่เปิดไม่ได้จนแล้วจนรอดเสียงก็ไม่ดัง
สมัยก่อนวงดนตรีต่างๆมักจะเล่นเพลงสากลเป็นส่วนใหญ่ แล้วไอ้วงชื่อไทยๆว่า โพล์คซอง ชาตรี นี้มันเป็นยังไงกันเปิดเทปแล้วเสียงก็ฟังไม่รู้เรื่อง ประเวศจึงเอาเทปออกพร้อมกับเดินมาโอบไหล่ พร้อมๆกับกล่าว อมตะวาจาว่า “เฮ่ยเทือง กูว่าวงเอ็งดั่งยากว่ะ ทำไมเอ็งไม่ไปเล่นเพลงสากลว่ะ” จากนั้นเราก็กลับมาบ้านด้วยอาการ งงๆ กลับมาบ้านแล้วยังลองเทปตัวอย่างก็เล่นได้ มารู้ทีหลังว่าเครื่องเทปของเพื่อนประเวศเสียต่างหาก
หลังจากฝากเทปขายอยู่ทั้งสองห้างดังกล่าว ปรากฏผลตอบรับใช้ได้ อาศัยการเผยแพร่เพียงรายการของครูไพบูลย์รายการเดียวแท้ๆ อาจจะเป็นเพราะความแปลกแตกต่างไปจากเพลงไทยในสมัยนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพลงไทยสากล หรือเพลงลูกกรุง ทางห้างแผ่นเสียงเมโทร ก็ได้เสนอทางวงชาตรีให้ทำเป็นแผ่นเสียงในชุด จากไปลอนดอน ซึ่งแดงเป็นคนคิดปกเอง โดยเอารูปหอนาฬิกาที่กรุงลอนดอน อันเป็นสัญลักษณ์ของกรุงลอนดอน มาเป็นปกแผ่นเสียง เพลงในชุดนี้มีกลิ่นไอของ ดนตรีแบบโพล์คซองใช้กีต้าร์โปร่งล้วนๆ รวมทั้งเสียงเบสด้วย และเนื่องจากเอากีต้าร์โปร่งมาทำเสียงเบสเสียงยังต่ำไม่พอ จึงมีความคิดที่จะหาสายหกของกีต้าร์โปร่งยี่ห้ออะไรก็ได้ขอให้เส้นใหญ่ที่สุดเท่าที่จะหาได้ ซึ่งก็ได้ยี่ห้อสิงห์โต จากนั้นจึงจัดการถอดสาย 1 และ 2 ออก นำสาย 3 ไปอยู่ในตำแหน่งของสาย 2 นำสาย 4 ไปอยู่ในตำแหน่งของสาย 3 และเลื่อนสาย 5 และสาย 6 ตามลำดับ เว้นไว้แต่ตำแหน่งของสาย 6 ไว้สำหรับ สายใหม่ที่หาซื้อมา พร้อมกับลดเสียงให้ต่ำกว่าสาย 6 ไป 5 เสียง เป็นเสียง B เราก็ได้ เบสโปร่ง 5สาย ทันสมัยมาก ในภายหลังมีเบสไฟฟ้า 5 สายด้วย เราอาจเป็นคนแรกที่ใช้เบส 5 สายก็ได้ เพียงแต่เป็นกีต้าร์โปร่ง นอกจากนี้แดงก็มีหัวดัดแปลง ซึ่งทำก่อนด้วยโดยเจาะกีต้าร์ของตัวเอง เพื่อใส่สายเพิ่มเป็น 9 สายบ้าง บางทีก็ถอดออกเหลือ 8 สาย วิธีการก็คือเลียนแบบกีต้าร์ 12 สาย แต่เพิ่มเฉพาะ สาย 1 สาย 2 สาย 3 สาย1สาย 2 ก็มี 2 เส้น สาย 3 บางครั้งก็มี 2 เส้น สิ่งที่ได้เสียงน่าฟังขึ้นมาก แต่จับง่ายกว่า กีต้าร์ 12 สาย เพราะ คอกีต้าร์เท่าเดิม
พี่เหมา/วงชาตรี
Leave a reply