พลิกตำนานวงชาตรี ตอนที่ 3

topani

แม้ว่าจะผิดหวังจากการแสดงทีตึกอำนวยการ(ตึกกลาง) แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเรารู้สึกท้อ โฟล์คซองชาตรีก็ยังคงดำเนินต่อไป หลังเลิกเรียนพวกเราก็ยังซ้อมดนตรีกันเหมือนเดิม แดงก็ยังเล่นกีตาร์โปร่งตัวเก่ง ป้อมก็ใช้กีตาร์โปร่งของยามาฮ่า ส่วนพี่เหมาก็ใช้เบสโปร่งคีมัส ของเยอรมัน ซึ่งพี่เหมาก็หาซื้อมาจากหลังกระทรวงมหาดไทย เบสตัวนี้ติดคอนเทคช่วยขยายเสียง เวลาใช้กับตู้แอมป์

มีอยู่วันนึง อนุสรณ์ (เจ้าของกลองที่อ้อไปยืมมาเล่นที่ตึกอำนวยการ) เกิดความมุ่งมั่นว่าอยากจะเอาดีทางด้านตีกลองให้ได้ ถึงขนาดลงทุนให้อ้อสอนให้ แค่นั้นยังไม่พอยังลงทุนไปเรียนกลองที่ยามาฮ่าอีก เห็นความตั้งใจแบบนี้ แดงในฐานะของหัวหน้าวง ก็เดินเข้าไปหาอนุสรณ์ พร้อมกับยื่นมือเพื่อรับสมาชิกใหม่เข้ามาในวง ก็เป็นอันว่าครบองค์ประกอบวง 4 คน มีกีตาร์ 2 ตัว เบสโปร่ง 1 ตัว และก็กลอง

ภารกิจหลักของวงหลังจากเลิกเรียนก็คือซ้อมดนตรี อนุสรณ์ก็จัดการดัดแปลงกลองเพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้าย โดยเอาเบาะนั่งรถมาทำเป็นกลอง เพื่อตีให้เข้าจังหวะกัน
ตอนซ้อม ส่วนเบสโปร่ง ก็ใช้กีตาร์โปร่งนั่นแหละ แต่ดีดแค่4สายบน ดีดเป็นเส้น ไม่ตีคอร์ด เหมือนดีดเบสไฟฟ้า เพลงที่ใช้ซ้อมกันขณะนั้นก็เช่น เพลงรอรัก, สู้ไม่ได้จริงๆ ส่วนเพลงใหม่ แดงก็เอาข้อมูลของรุ่นพี่มาขยายความ แล้วก็แต่งเพลงใหม่ ซึ่งก็คือ เพลงจากไปลอนดอน ซึ่งเวลาที่ซ้อมกันเพลงที่แดงแต่งจะไม่มีตัวแนบ จึงทำให้ต่างคนต่างก็ไปคิดลูกเล่นกัน พี่เหมาก็ไปคิดลูกเบสเอง ก่อนที่จะมาซ้อมรวมกัน ส่วนป้อมก็รับหน้าที่ร้องนำ แดงก็รับหน้าที่ร้องประสาน สลับกับร้องนำ

วันหนึ่งในฐานะที่แดงมีประสบการณ์มากกว่า ก็เลยปรึกษากันว่า เพื่อให้ผมงานของวงเป็นที่รู้จัก จำเป็นต้องเผยแพร่ผลงานของพวกเราออกไป ซึ่งในขณะนั้นก็มีการประกวดโฟล์คซอง โดยชมรมโฟล์คซองแห่งประเทศไทย ดังนั้นวงชาตรี เลยถือโอกาสนี้เข้าร่วมประกวดด้วย จึงทำให้ต้องซ้อมดนตรีกันบ่อยขึ้น โดยอาศัยห้องโสตฯ ในการซ้อมดนตรีหลังเลิกเรียน แรกๆก็ยังไม่มีปัญหาอะไร จนมาวันหนึ่งห้องโสตฯ ไม่ว่าง พวกเราจึงต้องย้ายสถานที่ซ้อมดนตรีไปทีห้องน้ำชั้น 2 ที่ไม่มีใครใช้ อยู่ถัดจากห้องโสตไป จะเป็นด้วยบรรยากาศ หรืออะไรก็ไม่ทราบ ทำให้เพลงรักไม่จากจร ซึ่งปกติเป็นเพลงช้าๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงจังหวะกลางเพลง เป็นจังหวะเล่น ก็เลยทำให้เกิดสีสรรใหม่ในเพลงนี้ และเพลงก็เลยเด่นขึ้นมา จากจุดนี้เอง ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงชาตรีเข้ารอบในการประกวด

ช่วงนั้นกติกาการประกวดของชมรมโฟล์คซองมีอยู่ว่า เครื่องดนตรีจะต้องไม่ใช้ไฟฟ้า และต้องนำไปได้ด้วยตัวคนดียว เพราะฉะนั้นอนุสรณ์จึงต้องตีกลองที่มีแต่กลองแต๊ก ฉาบคู่ และฉาบเดี่ยว ตัวกลองใหญ่ และกลองสูงต้องเอาออกไป แถมต้องโชว์ให้กรรมการดูอีกด้วย วิธีการก็คือ อนุสรณ์จะรวบทุกชิ้นไว้ในแขนแล้วยกขึ้นให้ดู ตอนไปออกทีวีช่อง 9 บางลำภู หลังจากเข้ารอบแล้ว หนึ่งในกรรมการตัดสินประกวดโฟล์คซองคือครูไพบูลย์ ศุภวารี เกิดติดใจเพลงที่แต่งเอง เล่นเอง ร้องเอง แบบไทยๆของโฟล์คซองวงชาตรี ครูไพบูลย์จึงชวนไปออกรายการ 120 นาที มัลติแพค ของ ธานินทร์ อุตสาหกรรม ทางวิทยุ ขสทบ. ในบ่ายวันอาทิตย์ (เจ้าของเสียงทุ้มนุ่มลึกที่มีเอกลักษณ์ของครูไพบูลย์ channel A ควรเป็นลำโพงด้านซ้าย Channel B ควรเป็นลำโพงด้านขวา โดยเสียงพูดจะไปทางซ้ายตามคำพูด และวิ่งไปทางขวา) แต่การไปออกรายการวิทยุของครูไพบูลย์ ก็ต้องไปบันทึกเสียงก่อน ซึ่งตอนนั้นครูไพบูลย์มีห้องบันทึกเสียงอยู่แล้ว ชื่อ ไพบูลย์สตูดิโอ

พี่เหมา วงชาตรี

Leave a reply

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.