พจน์ พนาวัน ต้นตำหรับเพลง “ยิ้มแป้น”

พจน์ พนาวัน ต้นตำหรับเพลง “ยิ้มแป้น”
โดยคุณ สัมพันธ์ พัทลุง

          ถ้าย้อนไปเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ไม่มีใครที่จะไม่รู้จักเพลง “ยิ้มแป้น” ซึ่งขับร้องโดย “พจน์ พนาวัน” เพลงนี้โด่งดังมากในยุคนั้น ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็ร้องเพลงนี้ได้ พจน์ พนาวัน ได้ชื่อว่าเป็นนักร้องที่ “ดังเพลงเดียว” เหมือนกับนักร้องอีกหลาย ๆ คน เช่น “หฤทัย หิรัญญา” ดังเพลง “หนูไม่ยอม” “ญาณี ชุติมา” ดังเพลง “น้องเมีย” “เพลินพิศ พูลชนะ” ดังเพลง “เหมือนข้าวคอยเคียว” “เสมา ทองคำ” ดังเพลง “ธาตุแท้ของเธอ” “ดุสิต ดุริยศักดิ์” ดังเพลง “ลูกจ้างอย่างเรา” “สวนสน มนต์สวรรค์” ดังเพลง “คอยรักที่สถานี” เป็นต้น ทั้งที่นักร้องเหล่านี้ต่างก็ร้องบันทึกเสียงกันไว้คนละหลาย ๆ เพลง

สำหรับเขา “พจน์ พนาวัน” ถึงแม้จะดังเพลงเดียว แต่ก็เป็นเพลงที่มีคุณภาพ และมีคุณค่าต่อวงการเพลงลูกทุ่ง เพราะเพลง “ยิ้มแป้น” ได้รับรางวัลเพลงดีเด่นในงาน “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย” ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2534

พจน์ พนาวัน

พจน์ พนาวัน ชื่อจริง สุพจน์ โกมลเศรษฐ์ เกิดเมื่อ 3 มีนาคม 2479 ที่บ้านพักกรมสรรพสามิต ราชวัตร เขตดุสิต กรุงเทพฯ เนื่องจากคุณพ่อทำงานอยู่ที่กรมสรรพสามิต คุณพ่อชื่อเลิศ คุณแม่ชื่อแจ๋ว โกมลเศรษฐ์ มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ชาย 2 หญิง 1 เป็นคนสุดท้อง จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนศิริสาสน์ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนนันทะศึกษา

ก่อนจะเข้าสู่วงการเพลง เคยทำงานอยู่ที่กรมสรรพสามิต แล้วย้ายไปทำที่โรงยาฝิ่น ทำอยู่นานหลายปีเหมือนกัน เมื่อโรงยาฝิ่นถูกยุบ ก็ย้ายไปทำงานอยู่ที่ “โรงงานสุราอยุธยา” ในช่วงเวลาที่เขาทำงานอยู่ เงินเดือนพอใช้บ้างไม่พอใช้บ้าง จึงคิดหาลำไพ่พิเศษด้วยการสมัครร้องเพลงประกวดตามงานวัด ซึ่งขณะนั้นการร้องเพลงประกวดตามงานวัดต่าง ๆ กำลังเป็นที่นิยม เรียกว่าเวทีงานวัดเป็นที่ล่ารางวัลสำหรับนักร้องสมัครเล่น และยังเป็นบันไดสำหรับไต่เต้าไปสู่การเป็นนักร้องอาชีพด้วย สุพจน์คนหนึ่งที่เป็นนักล่ารางวัล ประกวดไปเรื่อยทุก
วัดที่มีการร้องเพลงประกวด และชนะเลิศ เกือบทุกวัดเช่นกัน แนวเพลงที่เขาโปรดที่สุดคือ “คำรณ สัมบุณณานนท์” และจากการร้องเพลงประกวดงานวัดนี่เอง ทำให้เขาได้พบกับบุคคลสำคัญผู้หนึ่งซึ่งทำให้ชีวิตของเขาพลิกผัน นั้นคือคุณ “สุมิตร น้อยเศรษฐ์”

สาละวันเตี้ยลง

วันหนึ่งเขาไปขึ้นเวทีร้องเพลงประกวดที่ “วัดใหม่พิเรนทร์” ซึ่งวันนั้นเขาใช้เพลงของ “น้ำตาชาวนา” ของ “คำรณ สัมบุณณานนท์” ขึ้นประกวด และหนึ่งในคณะกรรมการที่ร่วมกันตัดสินในวันนั้น ก็คือ คุณ “สุมิตร น้อยเศรษฐ์” คุณสุมิตรประทับใจในน้ำเสียงของเขาหลังจากเสร็จสิ้นการประกวดได้เรียกสุพจน์มาคุยด้วย บอกว่าจะสนับสนุนให้เป็นนักร้อง ทำให้ “สุพจน์” ตื่นเต้นและดีใจเป็นที่สุดที่จะได้เป็นนักร้อง และคุณสุมิตรก็สนับสนุนเขาจริง ๆ โดยแนะนำให้รู้จักกับครูเพลง 2 ท่าน คือ ครูพีระ ตรีบุปผา และครูชาญชัย บัวบังศร เพื่อช่วยกันสนับสนุน หลังจากนั้นครูเพลงทั้ง 3 ท่านก็พาไปฝากเป็นนักร้องประจำวงดนตรี “ฉลามขาว” ของทหารเรือ ซึ่ง ทำการแสดงเป็นประจำอยู่ที่ สทร.ท่าช้าง ทำให้สุพจน์มีโอกาสได้ร้องเพลงหน้าเวทีอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีเวลาว่างก็หมั่นฝึกปรือการเขียนเพลงอย่างจริงจัง โดย คุณสุมิตร น้อยเศรษฐ์ เป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ออกจากวง “ฉลามขาว” ก็ไปอยู่กับละครคณะ “วัฒนารมย์” และที่นี้เอง เขาได้ร้องเพลงบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในชีวิต ในเพลง “แผ่นดินไม่สิ้นคนดี” ซึ่งเป็นเพลงที่เขาแต่งไว้ตั้งแต่สมัยอยู่กับวง “ฉลามขาว” โดยคุณ เอกชัย งามเอก พระเอกละครคณะวัฒนารมย์ เป็นผู้ออกทุนให้ ใช้ชื่อในการบันทึกเสียงในครั้งนั้นว่า “สุพจน์ โกมลเศรษฐ์” ซึ่งเป็นชื่อจริง แต่เพลงนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเขาร้องในแนวของคำรณ ซึ่งขณะนั้นคำรณกำลังมีชื่อเสียง จึงทำให้เพลงแรกของเขาไม่ได้รับความสนใจจากแฟนเพลงทั่วไป

จงอางศึกจงเจริญ
ออกจากละครคณะวัฒนารมย์ ก็ไปอยู่กับวง “เทียนชัย สมยาประเสริฐ” และที่นี่เขาได้แต่งเพลงให้กับนักร้องในวงร้องไว้หลายเพลงเหมือนกัน อยู่กับวง “เทียนชัย สมยาประเสริฐ” ได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มเบื่อกับการเดินสาย “สุพจน์” บอกว่าชีวิตไม่มีความเป็นอิสระ จึงขอลาออกไปพักผ่อนอยู่กับบ้านเสีย 2 ปี อยู่บ้านกับแม่เฉยๆ ไม่ได้ร้องเพลงอีก จน “ชัยชนะ บุญยะโชติ” ชักนำให้ไปอยู่วง “พยงค์ มุกดา” ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ ๒๙ ปีแล้ว และที่นี่เอง ทำให้เกิดนักร้องที่มีชื่อว่า “พจน์ พนาวัน” ขึ้นในวงการเพลงลูกทุ่ง

ครั้งหนึ่งเมื่อเมื่อปี พ.ศ. 2510 วง “พยงค์ มุกดา” เดินสายใต้ไปทำการแสดงในงานประเพณีชักพระที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สุพจน์มีโอกาสได้ออกไปร้องเพลงหน้าเวที และเขาได้นำเพลง “ยิ้มแป้น” ซึ่งแต่งไว้ตั้งแต่อยู่กับวงเทียนชัย มาร้อง ปรมาจารย์เพลงอย่าง “ครูพยงค์ มุกดา” ได้ฟังรู้สึกชื่นชอบ ทั้งเนื้อหาสาระและจังหวะเพลงเข้าท่าดี กลับถึงกรุงเทพฯ ครูพยงค์ให้นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงทันที และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “พจน์ พนาวัน” โดย อาเนี๊ยว ททท. เป็นผู้ตั้งให้ และเพียงเพลง “ยิ้มแป้น” เพลงเดียว ทำให้ชื่อของ “พจน์ พนาวัน” เกิดในวง
การทันที เพลงนี้โด่งดังมากในยุคนั้น ไม่ว่าเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ร้องเพลง “ยิ้มแป้น” ได้ หลังจากนั้นเขามีโอกาสบันทึกเสียงเพลง “ยิ้มหน่อย” ต่อเนื่องมาอีก 1 เพลง พอเป็นที่รู้จัก แต่ไม่ถึงกับดัง และยังมีเพลงชุด “ยิ้ม” ติดตามออกมาอีกหลายเพลง รวมทั้งเพลงในจังหวะรำวงและเพลงทั่วไปอีกหลายเพลง รวมแล้วเขาได้บันทึกเสียงไว้หลายสิบเพลงเหมือนกัน แต่ไม่มีเพลงใดได้รับความนิยมเท่าเพลง “ยิ้มแป้น

ยิ้มแป้น

ออกจากวง “พยงค์ มุกดา” ก็มาตั้งวงร่วมกับ “ชินกร ไกรลาศ” นำวงดนตรีเดินสายร้องเพลงกล่อมแฟนอยู่ได้ประมาณ 4 – 5 ปี ก็อำลาชีวิตการร้องเพลง ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 35 ปีแล้ว จึงเปลี่ยนอาชีพตัวเองไปทำงานเป็น “พนักงานจัดสินค้า” ให้กับ “การท่าเรือแห่งประเทศไทย” หลังจากนั้นก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับวงการเพลงอีกเลย ในช่วงที่ทำงานอยู่ที่การท่าเรือ เขาเริ่มป่วยด้วยโรค “ถุงลมโป่งพอง” เนื่องจากสูบบุหรี่จัด จนเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง

จนกระทั่งเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2535 เวลา 04.00 น. เขาก็เสียชีวิตลง ที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ขณะอายุเพียง 56 ปีเศษ ญาติตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดสุคันธาราม เขตดุสิต กรุงเทพฯ และฌาปนกิจเมื่อวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2535
พจน์ พนาวัน มีภรรยาชื่อ สำเริง โกมลเศรษฐ์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน (คนเล็กเสียชีวิต) ปัจจุบันเหลือ 2 คน (ชาย 1 หญิง 1)

รางวัลเกียรติยศ
1. วันพุธที่ 6 เมษายน 2509 ได้รับพระราชทานเหรียญสังคีตมงคล จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2534 ได้รับรางวัลเพลงดีเด่น งาน “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย” ครั้งที่ 2
จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในเพลง “ยิ้มแป้น”

เพลงที่ “พจน์ พนาวัน” ร้องบันทึกเสียงไว้ (ยังมีมากกว่านี้)

1. แผ่นดินไม่สิ้นคนดี (ใช้ชื่อ สุพจน์ โกมลเศรษฐ์)
2. ยิ้มแป้น
3. ยิ้มหน่อย
4. ยิ้มหวาน
5. ยิ้มตุ่ย
6. ยิ้มยวน
7. ยิ้มเห็นแก้ม
8. เตี้ยลง เตี้ยลง
9. แสนงอน
10. ขลุ่ยแห่งความหลัง
11. ขวัญใจรำวง
12. บาปรัก
13. เมียจ๋าอย่าขี้เหนียว
14. คิดไม่ตก
15. เบี้ยวจนบี้
16. จับมือเสียไก่
17. พ่ายรัก
18. เดือนเพ็ญ
19. บ้านเรา
20. รำวงนาวี
21. ชะนีหน้าดำ
22. หมดตัว
23. รื่นเริงกลองยาว
24. รักไม่ลืม
25. เช้าแบนเย็นแบน
26. อดีตรักลำน้ำมูล
27.ตามเธอจนเจอดี
28.ตาสวย
29.รักกระจาย
30.ซ่อนใจ
31.นกเอี้ยง
32.เสียงแคนข้ามโขง
33.ชอบของฟรี (เพลงแก้ ไม่ใช่ของฟรี- ผ่องศรี วรนุช)

Leave a reply

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.