ประวัติวงชาตรี

ชั้นแรกของพิพิธภัณฑ์ “ชาตรี” จะเป็นการนำเสนอ
ประวัติวง “ชาตรี”
(เริ่มจากยุคโฟล์คซอง)

วงชาตรี
วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ แผนกช่างภาพ เป็นจุดเริ่มต้นของวงชาตรี เมื่อปีพ.ศ. 2518
– นราธิป กาญจนวัฒน์ หัวหน้าวง

นราธิป กาญจนวัฒน์

– ประเทือง อุดมกิจนุภาพ มือเบส
– คฑาวุธ สท้านไตรภพ มือคอร์ด และร้องนำ

พี่ป้อม วงชาตรี

ทั้ง 3 คนเรียนอยู่ห้องเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ปีที่ 2 นราธิป กาญจนวัฒน์ ซึ่งเป็นคนรักดนตรีมาแต่เดิม ได้แต่งเพลงเอาไว้หลายเพลงทีเดียว ได้ชวนเพื่อนอีก 2 คนคือ ประเทือง อุดมกิจนุภาพ และคฑาวุธ สท้านไตรภพ มาร่วมกันทำผลงานที่มีอยู่ให้เป็นชิ้นเป็นอัน

วงชาตรี2

แต่ก่อนที่จะมาเป็นคำว่า ชาตรี นั้น ทั้ง 3 คนได้วิเคราะห์วงการเพลงในระยะนั้นว่า ทำไมวัยรุ่นไทยจึงชอบเพลงฝรั่งกันนัก เมื่อพิจารณาดูก็พบว่า เพลงฝรั่งที่วัยรุ่นชอบกันนักชอบกันหนานั้น มีข้อน่าสังเกตคือ

  1. มีจังหวะสนุกสนาน
  2. ทำนองน่ารัก
  3. ฟังง่าย ถึงแม้จะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษก็ตาม

วัยรุ่น เป็นวัยที่กำลังอยู่ในความใฝ่ฝัน ทะเยอทะยาน เป็นวัยที่อยู่ในวัยรัก บ้างก็เพิ่งจะริรัก บ้างก็เพิ่งจะผิดหวังกับความรัก ฉะนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีความสุขและพอใจ พวกเขาเหล่านั้นก็จะรับเอาไว้อย่างง่ายดายทีเดียว

จากเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว ทำให้ทั้ง 3 คนได้ข้อคิดในการทำเพลงให้วัยรุ่นชอบ แต่การที่จะให้วัยรุ่นชอบผลงานของพวกเขาเท่านั้นยังไม่พอ เขาทั้ง 3 คนต้องการให้วัยรุ่นไทยรักและชอบเพลงไทยมากกว่าที่เป็นอยู่ นั่นหมายความว่า เขาทั้ง 3 คนจะต้องสร้างค่านิยมแห่งความเป็นไทยให้วัยรุ่นได้เห็นและชอบให้ได้

ดังนั้น เขาทั้ง 3 คนจึงได้ตกลงใจว่า จะตั้งชื่อวงเป็นชื่อแบบไทยๆ และในขณะเดียวกันนั่นเอง คุณพ่อของคุณนราธิป (พี่แดง) คือคุณประชุม กาญจนวัฒน์ กำลังเป็นผู้จัดทำหนังสือพระเครื่องที่มีหัวหนังสือชื่อ ชาตรี อยู่พอดี ซึ่งภายในสัญลักษณ์ของชาตรีนี้จะมียันต์ปรากฏเล็กๆ อยู่ในแต่ละตัวอักษรนั่นคือ นะ-มะ-พะ-ทะ ซึ่งแปลว่า ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ และจุดนี้เองที่ทุกคนลงมติว่า เราจะใช้ชื่อวงว่าวง… “ชาตรี”

หนังสือ วงชาตรี

วงชาตรี3

เพลงชาตรี
นกน้อยในกรง นี่เจ้าคงหาทางไป
ไม่รู้หรือไร ข้าหวง
เจ้านั้น คือดวงยอดขวัญ
ต้องบากบั่นไป จึงได้ตัวเจ้ามา
คิดถึงทำไม อย่าอาลัยถึงมันเลย
ข้าเคย เหมือนเจ้า มาแล้ว
ไม่แคล้ว พลัดบ้านจากมา
อุตส่าห์ทำใจ ไม่คิดถึงมันอีกเลย
ร่อนเร่ไป ค่ำคืนไหน ข้าเป็นนอน
สวดอ้อนวอน ให้ชีวิตนั้นยืนยาว
อยู่ อย่างชายพเนจร
ดิน น้ำ ลม ไฟ
เปรียบดังใจของข้าเอง
ไม่เคย คิดเกรง สิ่งใด
สุขใจ ทั้งยามหลับฝัน
ต้องฝ่าฟันไป จะใกล้หรือไกลไม่หวั่นเลย

เมื่อเริ่มแรกนั้น วงชาตรีใช้กีตาร์โปร่งทั้ง 3 ตัว เมื่อถึงวันเลี้ยงน้ำชาต้อนรับน้องใหม่ของแผนกช่างภาพนั้น วงชาตรีได้มีโอกาสโชว์เป็นครั้งแรก ที่นั่นเป็นจุดแรกเกิดของเรา และหลังจากนั้น ก็ได้แสดงให้นักศึกษาเทคนิคได้ชมที่หอประชุมใหญ่

วงชาตรี4

ต่อมาวงชาตรีเห็นว่า การเล่นกีตาร์เพียง 3 ชิ้นยังไม่แน่นพอ จึงได้ชวนเพื่อนคนหนึ่งชื่อ ทวีชัย มาร่วมวงด้วย แต่ทวีชัยอยู่กับวงชาตรีได้ไม่นาน ก็ต้องจากวงชาตรีไป เพราะมีภารกิจต้องไปช่วยคุณพ่อดำเนินกิจการต่อที่ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น วงชาตรีจึงเหลือสมาชิกเพียง 3 คนตามเดิม

อยู่ต่อมาอีกไม่นานนัก วงชาตรีก็เกิดมีความคิดอยากจะได้มือกลองขึ้นมา ก็เลยชวน อนุสรณ์ คำเกษม ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนอยู่ห้องเดียวกันมาร่วมวงชาตรีอีกคนหนึ่ง ตอนนั้นอนุสรณ์เพิ่งหัดเล่นกลองใหม่ๆ ตอนนั้นใช้เบาะรองนั่ง เอามาทำเป็นกลองตีเล่นไปก่อน และในที่สุด ก็ได้รวบรวมเงินจำนวนหนึ่งไปหาซื้อกลองเก่ามาหนึ่งชุด เพื่อนๆ ที่เรียนอยู่ห้องเดียวกันอุตส่าห์ไปช่วยกันถือกลองคนละไม้คนละมือจากที่บ้านของอ นุสรณ์ ซึ่งอยู่ ก.ม. 8 มีนบุรี ขึ้นรถเมล์ไปเทคนิค ทุกๆ เย็นที่แผนกช่างภาพ วงชาตรีจะซ้อมดนตรีที่นั่น บางครั้งก็แอบซ้อมตอนยังไม่เลิกเรียน จนโดนท่านอาจารย์ว่าเอาหลายหน

อนุสรณ์ คำเกษม

วงชาตรี photo06

รุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเคยเรียนอยู่ที่แผนกช่างภาพ แต่ตอนนั้นเรียนจบแล้ว ชื่อ วิทยา ชัยชาญทิพยุทธ มักจะหางานมาให้วงชาตรีเสมอ ตอนนั้น วงชาตรียังไม่มีเครื่องเสียงเป็นของตัวเอง พี่วิทยาจึงให้วงชาตรียืมเงินจำนวนหนึ่งไปซื้อเครื่องเสียง เอาแบบพอไปได้ ทำในเมืองไทย และนั่นแหละ วงชาตรีจึงได้มีเครื่องเสียงเป็นของตัวเองเสียที

ระยะนั้นได้ยินข่าวว่า มีการประกวดโฟล์คซอง ซึ่งทางชมรมโฟล์คซองเป็นผู้จัดขึ้น วงชาตรีก็ได้เข้าร่วมประกวดครั้งนี้ด้วย ในกติกาการประกวดบอกว่า ต้องใช้เครื่องที่สามารถถือไปได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น มือกลองจึงต้องตัดกลองบางใบออก เมื่อการประกวดผ่านไปจนถึงรอบที่ 2 วงชาตรีก็สละสิทธิ์จากการประกวดครั้งนั้น พอดีคุณครูไพบูลย์ ศุภวารี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินครั้งนั้น เห็นว่าวงชาตรีมีลักษณะแปลก และเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวดี จึงได้ชวนวงชาตรีไปอัดเสียงในรายการ 120 นาทีมัลติเพลก ซึ่งเป็นรายการวิทยุที่คุณครูไพบูลย์ จัดอยู่เป็นประจำวงชาตรีได้อัดผลงานให้รายการของคุณครูไพบูลย์ มากมายหลายเพลงทีเดียว จนทำให้แฟนเพลงในรายการนี้รู้จักวงชาตรีมากขึ้น คุณครูไพบูลย์เห็นว่า แฟนรายการเรียกร้องอยากให้ทำเทปของวงชาตรี ดังนั้น ท่านจึงได้ทำเทปของวงชาตรีสำหรับแฟนรายการขึ้น

photo010

หลังจากนั้นไม่นานนัก ก็มีคนไปเที่ยวถามหาเทปของวงชาตรีกัน บริษัทเมโทรแผ่นเสียงได้ติดต่อผ่านคุณไพบูลย์ ศุภวารี มายังวงชาตรี ให้อัดแผ่นเสียงกับบริษัท และแล้วแผ่นเสียงชุดแรกของวงชาตรีก็ได้เกิดขึ้น นั่นคือชุด จากไปลอนดอน ( ในชุดนี้ใช้กีตาร์โปร่งทั้งหมด ) ระยะนั้น พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์เพลงยังไม่ออก จึงเน้นหนักในการขายแผ่นเสียงเท่านั้น ส่วนเทปที่มีอยู่ในท้องตลาดระยะนั้น ก็มีแต่เทปผีปลอมให้เกลื่อนไปหมด

วงชาตรี

จากคำพูดของเราชาตรี บนแผ่นปกหลังแผ่นเสียงในชุด จากไปลอนดอน เขียนเอาไว้ว่า

ชาตรี  ออกจะเป็นความใหม่สำหรับวงการดนตรีในปัจจุบัน ก่อนอื่นจะไม่ขอกล่าวถึงความหมายของคำว่าชาตรี  แต่จะขอกล่าวถึงจุดประสงค์ของผู้ร่วมอยู่ในวงชาตรี  คือแสดงออกซึ่งความเป็นไทยในเนื้อหาของเพลงที่มีเอกลักษณ์ประจำตัวคือ เพลงทุกๆ เพลงที่วงชาตรีได้นำมาเล่นและขับร้องนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่พวกเราชาวชาตรี ได้แต่งขึ้นเอง เล่นเอง ร้องเองโดยทั้งสิ้น มีความตั้งใจในอันที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้ฟังเพลงให้กว้างขึ้น โดยได้คำนึงถึงอิทธิพลของเพลงสากลที่มีต่อเยาวชนไทยในปัจจุบัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การฟังเพลงสากลของเยาวชนไทย มักจะเน้นหนักไปในเรื่องทำนอง และจังหวะที่ดำเนินไปตามเพลงนั้นเสียมากกว่าการฟังเนื้อหาของเพลง หากจะมีก็คงได้แก่บุคคลที่พอจะมีความรู้ทางภาษาอังกฤษเท่านั้น ฉะนั้น ชาตรี  จึงอยากเสนอผลงานชุดนี้ ซึ่งเหมาะแก่บุคคลทุกระดับ และยังอาจหันเหความนิยมของเยาวชนไทยบางกลุ่มดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ให้กลับมาสนใจในเพลงมากขึ้น ในวันข้างหน้า คำว่า ชาตรี คงเป็นที่รู้จักกันในวงการเพลงของเมืองไทย และด้วยเหตุนี้เอง พวกเราชาว ชาตรี  จึงใคร่ขอเสนอผลงานเพลงชุดนี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะได้รับความสนใจจากผู้ฟังไม่มากก็น้อย

วงชาตรี

ขอกล่าวถึงบุคคลที่มีพระคุณต่อวง  ชาตรี  สองท่าน ท่านแรกคือ คุณวิทยา เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในด้านอุปกรณ์ดนตรี ท่านที่สองคือ คุณครูไพบูลย์ ศุภวารี ท่านเป็นผู้ให้ความสนับสนุนต่อวงชาตรี  เป็นอย่างดี ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าหากขาดบุคคลทั้งสองท่านที่ได้กล่าวมาแล้ว ชาตรี  ก็คงจะไม่ได้เป็นชาตรี ดังเช่นทุกวันน

วงชาตรี เป็นวงรักความอิสระ ไม่ชอบให้ใครบังคับว่า เพลงของชาตรีจะต้องออกมาอย่างโน้นหรืออย่างนี้ และนี่ก็คงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วงชาตรีไม่ยอมไปเล่นประจำที่ไหน

วงชาตรี


ในต้นปี พ.ศ. 2519 วงชาตรีก็ได้ออกผลงานชุดที่ 2 ให้กับบริษัท เมโทรแผ่นเสียงชุดนั้น คือ แฟนฉัน  และในระยะเดียวกันนั้นเอง คุณครูไพจิตร ศุภวารี ซึ่งเป็นน้องชายของคุณครูไพบูลย์ ศุภวารี ได้ให้ครูไพบูลย์ ช่วยติดต่อวงโฟล์คซองสักวง เพื่อแต่งเพลงให้หนังเรื่อง สวัสดีคุณครู คุณครูจึงได้แนะนำวงชาตรีให้ทำเพลงในหนังเรื่องนั้น

แนวเพลงของวงชาตรีในยุคนั้น ออกไปลักษณะเป็นการเอาใจเด็กๆ เสียมากกว่า ยกตัวอย่างเพลง  สวัสดีคุณครู พอหนังเรื่อง สวัสดีคุณครู ดัง ก็เลยทำให้วงชาตรีเพิ่มความดังขึ้นไปอีก

ต่อมาในตอนปลายปี 2519 วงชาตรีก็ได้ออกผลงานชุดที่ 3 ให้กับบริษัท เมโทรแผ่นเสียงอีกชุด แต่ชุดค่อนข้างจะแปลกสักหน่อยคือ เป็นผลงานของคุณชาตรี ศรีชล ซึ่งเป็นแนวลูกทุ่ง

และพอขึ้นต้นปี 2520 วงชาตรีก็ได้ทำผลงานชุดที่ 4 ให้กับห้างแผ่นเสียงทองคำ นั่นคือชุด  ฝนตกแดดออก  ซึ่งเป็นเพลงในหนังเรื่อง ฝนตกแดดออก  และนอกจากนี้ วงชาตรียังได้ทำเพลงให้กับหนังอีกหลายเรื่องเช่น รักแล้วรอหน่อย จ๊ะเอ๋เบบี้

และระยะนั้นเอง ก็เป็นช่วงอวสานของวงการแผ่นเสียง เพราะยอดการจำหน่ายตกต่ำ ความนิยมทางด้านแผ่นเสียงลดน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของวงการเทป มันปรากฎขึ้นมาเหมือนเป็นตัวตายตัวแทน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความบันเทิงเป็นสิ่งที่คู่กับมนุษย์โลกมานานแล้ว เมื่อมนุษย์เบื่อสิ่งหนึ่ง ก็มักหันไปหาอีกสิ่งหนึ่ง เช่น จากแผ่นเสียงหันไปนิยมเทปคาสเซ็ท

ข้อมูลจากเวบ FANCHATREE.COM โดยคุณ  Pluethipol Prachumphol

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.