ปฐมบทของบทเพลงเพื่อชีวิต |
ความในใจ
เพลงเพื่อชีวิตเริ่มต้นจากยุคสมัยใด? คือคำถามที่ชวนให้สงสัยและน่าค้นหาคำตอบ
ก่อนนั้นเราเคยเชื่อกันว่า ครูคำรณ สัมบุณณานนท์ คือต้นแบบของเพลงเพื่อชีวิต บทเพลงเกือบทั้งหมดของครูคำรณ มีเนื้อหาสะท้อนภาพชีวิตของผู้ทุกข์ยาก สะท้อนภาพสังคม – การเมือง บทเพลงเหล่านี้ล้วนมีหลักฐานบันทึกเพื่อเป็นสิ่งยืนยันของความเป็นต้นแบบเพลงเพื่อชีวิต
แต่ทว่า….
ปลายตุลา 2540 ได้มีผู้เสนอสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ “ปฐมบทเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตไทย พ.ศ. 2480 – 2500” ยืนยันว่าก่อนยุคสมัยครูคำรณ ยังมีเอกบุรุษอีกท่านหนึ่งนาม “แสงนภา บุญราศรี” คือผู้พลิกประวัติศาสตร์วงการเพลงไทยยุคหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 ด้วยการหยิบยกเรื่องราวชีวิตของผู้ทุกข์ยากของสังคมมาตีแผ่เป็นบทเพลง แต่น่าเสียดายที่บทเพลง “สารคดีชีวิตผู้ทุกข์ทน” ของเขาเกือบทุกเพลงมีความยาว 4 นาทีขึ้นไป ซึ่งไม่สามารถบันทึกลงแผ่นเสียงชนิด “แผ่นครั่ง” ได้ เหตุนี้ทำให้ชื่อและงานเพลงของแสงนภา ไม่ได้รับการกล่าวขาน…จากหลักฐานของหนังสือและจากปากคำบอกเล่าของคนร่วมสมัย แสงสภาต่างยืนยันว่าครู คำรณ สัมบุณณานนท์ ได้ยึดถือเอาแสงนภา เป็นแบบอย่าง
กระทั่งวันนี้ชีวิตและผลงานเพลงของ แสงนภาถูกค้นคว้า และเผยออกมา เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาเนิ่นกว่ากึ่งศตวรรณ
เพลงเพื่อชีวิตเริ่มจากยุคสมัยใด…คำตอบจะเริ่มแจ่มชัด
แต่ทว่า…
วันแห่งชัยของประชาชน 14 ตุลา 16 ได้กำเนิดวงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกของไทย คือ “คาราวาน” สร้างผลงานเพื่อประชาชนจนได้รับการกล่าวขานว่า “คือ..ต้นธานดนตรีเพื่อชีวิต” สรรค์สร้างบทเพลงจากอารมณ์ที่สะเทือนใจ จากการได้ออกไปสัมผัสความจริงในชนบท และเป็นต้นแบบให้กับวงดนตรีเพื่อชีวิตในยุคต่อมา
เช่นนี้แล้ว เพลงเพื่อชีวิตควรจะเริ่มจากยุคสมัยใดกันแน่!
เป็นคำถามที่ชวนให้ศึกษาและค้นคว้าอย่างยิ่ง
แต่….
ไม่ว่าเพลงเพื่อชีวิตจะก่อกำเนิดในยุคสมัยใด ณ วันนี้บทเพลงเพื่อชีวิตได้เดินทางผ่านเส้นทางแห่งกาลเวลาที่ยาวนาน ยังคงขับขานและเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ – เศรษฐกิจ – การเมือง หน้าสำคัญของสังคมไทย
ศรัทธาและเชื่อมั่น
กลุ่มศิลปวัฒนธรรมเพื่อชีวิต
10 ตุลาคม 2541