บ้านเพลงเก่า

บทสัมภาษณ์ วงภราดร

บทสัมภาษณ์วงภราดร

หน้าสกู๊ปพิเศษประจำบ้านเพลงเก่าในวันนี้ พวกเราได้รับเกียรติจากศิลปินวง ภราดร เจ้าของเพลง สุดสายตา และเพียงเธอ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมติดอันดับชาร์ตประจำสัปดาห์ทางรายการ ยิ้มละไม อยู่ในขณะนี้ ศิลปินที่มาพบเราในวันนี้ ถึงแม้จะมาไม่ครบวง แต่ทั้ง 3 ท่าน พี่ชิน พี่เอี้ยว พี่ลูกน้ำที่มาพูดคุย ก็ให้ข้อมูลของวง ภราดรกับทางทีมงานอย่างเป็นกันเอง

pic1

ชีวิตการเล่นดนตรีของสมาชิกวง ภราดร นั้น ต่างคนต่างจับกลุ่มเพื่อนๆ เป็นวงดนตรี รับเล่นดนตรีตามงานสังสรรค์ต่างๆ โดยรับเล่นทั่วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นงานวันเกิด งานปีใหม่ ภราดร

ตอนนั้นพวกพี่ก็อายุประมาณ 17-18 ปี พี่ชิน กับพี่ฮง ก็มีกลุ่มวงดนตรีวงนึง เวลาว่างจากการเรียนก็จับกลุ่มซ้อมดนตรีกันที่ห้องอัดแถวตลาดพลู ตอนนั้นกลุ่มพี่ชิน กับพี่ฮง ก็ได้ช่างซ่อมวิทยุอาสารับเป็นผู้จัดการวง รับงานเล่นดนตรีตามงานสังสรรค์ งานวันเกิด งานปีใหม่ แล้วก็ยังรับงานปาร์ตี้ของพวกวัยรุ่น ซึ่งต้องไปเล่นในเรือสำราญ พี่เอี้ยวเอง ตอนนั้นก็จับกลุ่มกับเพื่อนอีกกลุ่ม รับเล่นงานดนตรีเหมือนกัน อย่างในเรือสำราญนี่ ตอนนั้น เรือที่วัยรุ่นมักใช้บริการจัดปาร์ตี้ มีชื่อว่า เรือ CYC เรือก็จะล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ล่องไปเรื่อยๆ จนถึงอยุธยาโน่น พวกวัยรุ่นก็มีงานปาร์ตี้ พวกพี่ก็

เล่นดนตรีไปตามหน้าที่กันไป ช่วง เวลาที่ยังเล่นดนตรีกันอยู่นั้น พี่ชินเองก็ชอบที่จะแต่งเพลงเอง จึงได้แต่งเอาไว้หลายเพลง จนเมื่อวงดนตรีที่จับกลุ่มจากตลาดพลูนั้น ต้องมีอันแตกแยกกันออกไป ตอนนั้นพี่ชินคิดว่า คงหมดโอกาสที่จะรุ่งในทางดนตรีแล้ว จึงตัดสินเลือกเอาเพลงที่คิดว่าเด็ดๆ ไปเสนอขายให้กับทาง EMI 6 เพลง และ 1 ใน 6 เพลงนั้นก็มีเพลง สุดสายตาด้วย คุณประมาณ บุษกร ผู้บริหาร EMI ในขณะนั้นเมื่อได้ฟังเพลงแล้วก็ถามว่า

คุณประมาณ- ใครเป็นคนเล่น

พี่ชิน -พวกผมเป็นคนเล่น

คุณประมาณ -ใครเป็นคนร้อง

พี่ชิน -ผมเป็นคนร้อง

คุณประมาณ -ใครเป็นคนเรียบเรียง

พี่ชิน -พวกผมเป็นคนเรียบเรียง เท่านั้นเอง ทำให้คุณประมาณซึ่งสนใจเพลงอยู่แล้ว ถามถึงอีก 4 เพลงทันที ซึ่งแน่นอน พี่ชินก็มีพร้อมที่จะเสนอให้อยู่แล้ว แต่ข้อเสนอที่ได้รับต่อมานี่สิ ทำให้ต้องคิดหนัก ถ้าขายเพลง ก็ได้เพลงละ 2,000 บาท 10 เพลงก็ 20,000 บาท ดังคนเดียวได้เงินคนเดียว แต่ถ้าเลือกเล่นเพลงเอง ก็จะทำให้ทั้งตัวเอง และเพื่อนมีความหวังกับโอกาสทางดนตรีที่กำลังจะพับเก็บอยู่แล้ว

ภราดร — ตอนนั้นพี่ชินได้ชวนพี่เอี้ยวมาร่วมด้วยแล้ว พอตอบตกลงเล่นเพลงเอง ซึ่งคุณประมาณก็เซ็นเช็คให้ทันที 20,000 บาท เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายในการซ้อมดนตรี ทั้งพี่ชิน พี่ฮง พี่เอี้ยว ต่างคนต่างก็ไปชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมวงกัน 8 คน แต่ก็ไม่ใช่ 8 คนปัจจุบันนะ ตอนหลังมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ตอนนั้นก็ให้พี่ฮงเป็นหัวหน้าวง แล้วพวกเราก็เอาเงินที่ได้ไปจ่ายในเรื่องงานดนตรี จำไม่ได้แล้วว่าหมดไปกับอะไรบ้าง ทั้งซื้อเครื่องดนตรีด้วย ค่าเช่าห้องซ้อมด้วย หลายอย่าง ตอนนั้นพวกเรากระตือรือร้นกันมาก ตื่นเต้นกับงานใหม่นี้ เพราะตอนนี้เราเหมือนมีบ้านหลังใหม่แล้ว EMI เปรียบเสมือนบ้านหลังใหม่ของพวกเรา เหมือนเป็นจุดศูนย์รวมของพวกเรา ต้องรับผิดชอบงานร่วมกัน ทุกคนทุ่มเทเวลาให้กับการเตรียมงาน การซ้อมดนตรีแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บางครั้งยังถูกตั้งชื่อวงให้ว่า วง มาราธอน เลย เพราะพวกเราซ้อมกันแบบข้ามวันข้ามคืน จากการที่สมาชิกในวงรักใคร่สนิทสนมกลมเกลียวกันมากนั่นเอง ทางผู้บริหารจึงตั้งชื่อวงให้ว่า ภราดร ซึ่งมีความหมายว่า พี่ชาย น้องชาย นั่นเอง

ประมาณต้นปี 2528 เมื่อผลงานชุดแรก สุดสายตา ออกวางตลาด ทุกคนต่างก็มีงานเพิ่มขึ้น ต้องออกแสดงตามเวทีคอนเสิร์ตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกดนตรี 7 สีคอนเสิร์ต และทุกสื่อที่จัดคอนเสิร์ต ในขณะที่ก็ยังต้องเรียนหนังสือควบคู่ไปด้วย และแน่นอน ปัญหาย่อมตามมาแน่นอน

ภราดร — ตอนนั้นพี่เอี้ยวก็ถูกอาจารย์ว่าเอามาก เวลามีงานแสดงคอนเสิร์ต ก็ต้องหยุดเรียน พอหยุดเรียนหลายวันเข้า อาจารย์ก็ว่า การเรียนก็ตก ครอบครัวของพวกเราก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกันกับการเล่นดนตรี เพราะผู้ใหญ่สมัยนั้นไม่ชอบกับอาชีพเต้นกินรำกิน

หลังจากอัลบั้มชุดแรกออกวางตลาดแล้ว ก็มีการเตรียมงานของชุดที่ 2 เพียงเธอ ทันที ซึ่งในการทำงานของชุด เพียงเธอ นี้ ทางผู้บริหารก็พยายามป้อนเพลง ให้มืออาชีพเข้ามาช่วยเรียบเรียง เข้ามาช่วยดูแลมากขึ้น

ภราดร — จุดประสงค์ของ EMI ในตอนนั้น ก็ต้องการจะให้วง ภราดร มาทดแทนวง ชาตรี ซึ่งประกาศสลายวงไปเมื่อปีที่ผ่านมา ก็เลยหามืออาชีพมาช่วยงานเพลง นอกจากนี้ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่จะเอาใจวัยรุ่นเด็กๆ ด้วย และเพื่อความเหมาะสมของเพลงบางเพลงในชุดนี้ ผู้บริหารก็เลยให้ลูกน้ำมาร่วมเป็นนักร้องนำด้วยในชุดนี้ เพราะตอนนั้นลูกน้ำก็ยังเด็กอยู่เลย เรียนอยู่ ม. 4 ม. 5 ละมั้ง

ช่วงที่อัลบั้มชุด เพียงเธอ ออกวางตลาดนั้น อ.บุญสม รดาเจริญ มีโปรเจคที่จะทำเพลงคู่ในชื่ออัลบั้ม คู่รักวัยหวาน เป็นการนำเพลงหลายๆ เพลงในเครือ EMI มาทำเป็นเพลงคู่ โดยให้ศิลปินหลายๆ คนในค่ายมาร่วมกันขับร้อง ในจำนวนนั้น ก็มี พี่ชิน และ พี่ลูกน้ำ รวมอยู่ด้วย ระหว่างนั้นเอง คุณชรินทร์ นันทนาคร กำลังจะสร้างภาพยนตร์เรื่อง ลูกทุ่งฮอลิเดย์ มีดารา และ นักร้องร่วมเล่นมากมาย และต้องการนักร้องที่กำลังมีผลงานเพลงในขณะนั้น และมีหน้าตาแนวเด็กวัยรุ่นมาร่วมเล่นด้วย จึงได้สอบถามจาก อ.บุญสม ซึ่งก็ทำให้พี่ลูกน้ำ มีโอกาสร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย หลังจากอัลบั้มชุดที่ 2 ออกวางตลาดได้ไม่นาน ได้เกิดปัญหาขึ้นภายใน EMI ทำให้ EMI ต้องประกาศปิดกิจการชั่วคราว ไม่มีการดำเนินงานใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งก็รวมถึงการจำหน่ายเทปเพลงของทุกศิลปินในค่ายด้วย ชีวิตที่กำลังจะเริ่มไปได้ดี มี EMI และวง เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ กลับต้องมาพบจุดผกผันในชีวิต ให้ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง ชีวิตของการเป็นนักร้องวงภราดรเพิ่งจะอยู่ในช่วงปีที่ 2 ขณะที่สัญญาทำไว้ถึง 5 ปี ทำให้กิจกรรมของทุกคนในวงต้องหยุดชะงักงัน จะไปทำดนตรีต่อกับค่ายอื่นก็ไม่ได้ เพราะติดสัญญา สมาชิกในวงล่ะ จะมีความรู้สึก หรือมีความคิดที่จะทำอย่างไรต่อไป

พี่ชิน – เฉยๆ นะ เพราะตลอดเวลาที่เล่นดนตรีมา จะมีปัญหากับทางครอบครัวมาก ทางครอบครัวจะปฏิเสธกับอาชีพนี้ ในตอนนั้น ตัวเองจะรู้สึกอิ่มตัว อีกอย่างก็มาคิดว่า หยุดไปตอนนั้น แต่ถ้ายังมีความรู้ความสามารถอยู่ ซักวันก็ต้องกลับมาได้ พี่ก็เลยหยุดไป

พี่เอี้ยว – ทุกอย่างในตอนนั้นเป็นไปตามสถานการณ์ เมื่อทุกอย่างต้องหยุดลง การแสดงก็ไม่มี กิจกรรมก็ไม่มี การรวมตัวก็น้อยลงไปตามปริยาย ก็ได้แต่คุยกันนิดหน่อยว่า ถ้าสถานการณ์เป็นไปอย่างนี้ละก็ การดำเนินกิจกรรมก็คงเป็นไปได้ยากแล้ว

พี่ลูกน้ำ — ตั้งแต่ช่วงที่ได้ไปแสดงภาพยนตร์เรื่อง ลูกทุ่งฮอลิเดย์ ทำให้มีเวลาให้กับวงน้อยลง จึงเกิดเป็นปัญหากัน ปรับความเข้าใจกันไม่ได้ ก็เลยออกจากวงไปเฉยๆ

หลังจากเลิกวงแล้ว สมาชิกแต่ละคนได้แยกย้ายไปทำอะไรกันบ้าง

พี่เอี้ยว – หลังจากเลิกแล้วตอนนั้น พอเรียนจบ ก็ไปเล่นดนตรีต่อกับทาง EMI จาก EMI ก็ไปเป็นครูสอนกีตาร์อยู่ปีนึง หลังจากนั้น ก็ทำงานบริษัทฯ แล้วตั้งแต่ปี 2535 ก็ไม่ได้เล่นดนตรีอีกเลย

พี่ชิน – หลังจากออกมาแล้ว ก็ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียเลย หวังไปตายเอาดาบหน้า ตั้งใจไปเริ่มต้นใหม่ที่โน่น มีโอกาสเล่นดนตรีในห้องอาหารไทยในซิดนีย์ กลับมาช่วงเวลาสั้นๆ ก็ไปเล่นโฟล์คซองคนเดียวที่ร้านอาหาร

พี่ลูกน้ำ – หลังจากออกมาแล้ว เพื่อนที่วิทยาลัยครูเค้าเป่าแซ็คให้กับวง The Saint เค้าก็เลยให้ไปร่วมวง ไปเล่นตามคาเฟ่ จากกรุงเทพฯ ออกต่างจังหวัดเรื่อยไปจนถึงเชียงใหม่ จนกระทั่งมีวงของตัวเองขึ้นมาใหม่ ตอนนั้นตั้งใจจะกลับมาทำเทปด้วย แต่ก็เกิดเหตุให้ต้องหยุดชะงัก เพราะมือเบสมีสาเหตุส่วนตัว ไม่สามารถมาร่วมเล่นได้ ทั้งๆ ที่ติดต่องานไว้ทุกด้านเรียบร้อยแล้ว เลยทำให้เสียความรู้สึกอย่างแรง เกิดความท้อในชีวิต เพราะตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมกับวง ภราดร ก็ทุ่มเทให้กับดนตรีมาตลอด แต่มาถึงตรงนี้ งานที่เตรียมกลับมาทำใหม่ กลับต้องยกเลิกกลางคัน เพราะสาเหตุส่วนตัวนิดเดียว ถึงกับประกาศเลิกเล่นดนตรี ไม่จับเครื่องดนตรีอีกเลย

กับความรู้สึกของแต่ละคนนับจากวันที่เลิกวง จนมาถึงตอนนี้

พี่ลูกน้ำ – คิดถึงนะ กับบรรยากาศเก่าๆ ตอนนั้น เพราะช่วงเวลานั้น มันเป็นอะไรที่เราอยากทำ แล้วก็ได้ทำ เคยคาดหวังกับงานทางดนตรีไว้เยอะ เพราะการได้รวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน มันเหมือนกับเป็นบ้านใหม่ที่พวกเราได้อยู่ร่วมกัน แต่พอถึงเวลาที่จะต้องหยุดแบบกระทันหันแบบนั้น ก็ทำให้เคว้งไปทันทีเหมือนกัน

พี่ชิน — ทุกครั้งที่ไปดูดนตรี จะนึกถึงเวลาที่ตัวเองเล่นดนตรีด้วย บางครั้งถึงกับร้องไห้ ที่ตัวเองต้องออกจากวงการแบบกระทันหัน แต่ก็มีความรู้สึกว่า ซักวันนึงคงจะมีโอกาสกลับมาอีก ถึงแม้จะไม่ได้กลับมาในแนวพาณิชย์ก็ตาม เดิมทีก็เคยคิดกับเอี้ยวอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาส ทันทีที่ยิ้มละไมเชิญมางานปาร์ตี้ในวันนั้น ความรู้สึกเก่าๆ มันก็กลับมานะ มันเหมือนจุดประกายให้เกิดความหวังแล้วว่า จะกลับมาทำ ก็มีการคุยกันว่าจะกลับมาทำในแนวไหน ที่ทำแล้วเหมาะสมกับเรา ทำแล้วไม่น่าเกลียด

พี่เอี้ยว — ต้องมองว่าชีวิตคน 1 ชีวิตนี่ ประกอบหลายๆ อย่าง เรื่องงานเป็นส่วนนึงที่แยกจากชีวิตคนเราไม่ได้ แต่ว่าเวลาที่ผ่านไป แต่ละคนก็ไปทำงานในสิ่งที่ต้องทำ เป็นภาระ เป็นหน้าที่ เพื่อความอยู่รอด แล้ววันนึงก็มานั่งคิดว่า แล้วสิ่งที่เราทำไป มันให้ความสุขกับเราหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ใช่ เราได้แค่เรื่องของเงิน เรื่องของความเป็นอยู่ที่เราต้องอยู่กับสังคมนี้ กับชีวิตนี้ไป แล้วอะไรที่มันให้ความสุขล่ะ เราก็กลับไปมองคล้ายๆ กันว่า คือเรื่องของงานดนตรี วันนี้ผมเชื่อว่า หลายๆ คนในวงภราดร ค่อนข้างที่จะดี ค่อนข้างที่จะอยู่ตัว ในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ วันนี้ถ้าเราคิดจะกลับมาทำ ก็เป็นเรื่องที่ทำเพื่อความสุขของเราเอง เราถือว่า เรามาก่อน 20 ปีก่อนเราเล่นไปได้ขนาดนั้น แล้วก็ต้องหยุดไป จนกระทั่งวันนี้ ก็มีคลื่นลูกใหม่ขึ้นมาเยอะแยะ วันนึงถ้ามีโอกาส ก็เป็นไปได้ที่จะกลับมาร่วมเล่นด้วยกันอีก

ในวันงานมีตติ้งของแฟนคลับชาตรี ตอน ย้อนยุค วงชาตรี… ที่คิดถึง ที่โรงแรมบางกอกเซ็นเตอร์ ถ้าสมาชิกท่านใดได้ไปร่วมในงานด้วย ก็คงจะได้เห็นพวกพี่ๆ เล่นดนตรีด้วยกันเกือบครบทั้งวง

พี่เอี้ยว — นั่นละ เป็นครั้งแรกที่จับเครื่องดนตรีนับตั้งแต่ปี 2535 เพราะพอทำงานเป็นจริงเป็นจัง ก็ไม่ได้จับเครื่องดนตรีอีกเลย

พี่ชิน — เพิ่งจะมาจับกลุ่มซ้อมกันก็บ่ายวันนั้นละ พอค่ำก็ลงเล่นเลย ลุ้นตลอดเวลาที่เล่นเลยล่ะ

พี่ลูกน้ำ — ตอนนั้นก็เล่นแบบไม่ค่อยมั่นใจเอาเลย พี่ป้อมก็เข้าใจ ยังให้กำลังใจอยู่ตลอด ถ้าใครจำได้ จะได้ยินพวกเราย้ำอยู่ตลอดตอนเล่นเพลงเสร็จว่า รอดแล้วๆๆๆๆๆๆๆๆๆ สำหรับผู้ที่ชอบฟังเพลงเก่าอย่างเหล่าสมาชิกบ้านเพลงเก่า คงอยากทราบความคิดเห็นของนักดนตรีในอดีตที่มีต่อเพลง หรือแนวดนตรี ของเพลงในยุคปัจจุบัน

พี่เอี้ยว — เพลงสมัยใหม่ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ สามารถ copy ความคิดจากคอมพิวเตอร์ได้เลย เพลงสมัยใหม่จะคล้ายๆ กัน เนื้อร้องไม่สัมผัสก็ได้ เน้นเรื่องการตลาด ก็ดังได้แล้ว แต่การทำเพลงสมัยก่อน จะมีความพยายามมากกว่าสมัยนี้เยอะ เนื้อร้องที่ออกมาจะกลั่นออกมาจากความรู้สึกเลยทีเดียว

พี่ชิน – เพลงสมัยใหม่ไม่มีความเป็นอมตะ เป็นเพลงที่ไม่ได้เกิดจากความเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะเนื้อร้อง ก็เขียนตามภาษาพูด แต่เพลงสมัยเก่านั้น ภาษาจะสละสลวยกว่าเยอะ เพลงที่มีความเป็นอมตะ จะฟังกันได้ทุกเพศ ทุกวัย ฟังได้ทุกโอกาส บางเพลงของสมัยนี้ ในอีก 30 ปีข้างหน้า อาจจะยังมีการฟังอยู่ก็ได้ นั่นหมายถึงว่าเพลงๆ นั้นดีจริง ซึ่งก็มีเหมือนกัน

พี่ลูกน้ำ — ผมกลับมองว่า เพลงก็คือเพลง อย่าอินกับมันมากนัก เพลงคือสื่อที่เวลาฟังแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึก ผมว่า เพลงมันมีวิวัฒนาการของมัน มันจะไปทางไหน ก็ปล่อยมันไปทางนั้น แต่ละคนจะมีความชอบไม่เหมือนกัน แล้วเพลงแต่ละเพลง มันก็ออกมาจากอารมณ์ของผู้แต่ง ซึ่งบางเพลงก็อาจจะมีพื้นฐานมาจากการตลาดบ้าง แต่สมัยก่อนเพลงนั้นจะมาจากอารมณ์ล้วนๆ ก็อยู่ที่คนฟังจะเลือกฟังเพลงแนวไหน การที่คนทำเพลงเอาเพลงเก่ามาทำแนวดนตรีใหม่ ผมก็ถือว่าเป็นวิวัฒนาการ เป็นการพัฒนาของเพลง ขอแต่ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเพลง ก็เท่านั้น

แล้วตอนนี้ สมาชิกแต่ละคนทำอะไรกันบ้าง

พี่เอี้ยว — ผมอยู่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ตำแหน่ง Recruitment Manager เป็นตำแหน่งที่สรรหาบุคลากรให้กับองค์กรที่เราทำอยู่

พี่ชิน — ปัจจุบันนี้ ส่วนนึงก็ทำงานการเมือง ชื่อ พรรคธรรมชาติไทย พยายามเผยแพร่เรื่องของประชาธิปไตย ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการสร้างฐานพรรค คาดหวังว่า วันนึงคงจะได้มีส่วนร่วมในพรรครัฐบาล แนวคิดก็คือ เกษตรนำ อุตสาหกรรมหนุน บริการเสริม หมายถึงการใช้วัตถุดิบ ซึ่งเป็นผลผลิตในบ้านเมืองเรามาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยอาศัยการอุตสาหกรรมมาช่วยแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามากขึ้น และหลังจากขายผลผลิต ก็ต้องมีบริการหลังการขาย เพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความประทับใจ ส่วนนึงก็คือ ทำธุรกิจส่วนตัว เกี่ยวกับโบรคเกอร์บ้านที่ดิน สำนักงานบัญชี, ทนายความ อีกส่วนนึงก็เป็นวิทยากรอิสระ ร่วมกับคณาจารย์ ด็อกเตอร์ เปิด training program ส่งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาไปอยู่กับ family ที่เมืองนอก ตอนนี้ก็กำลังพยายามเคลียร์งานบางอย่างออก ให้เหลือน้อยลง

พี่ลูกน้ำ — ผมจะอยู่ในวงการธุรกิจ เน้นหลักใหญ่ก็ stationery, งานพลาสติค, งาน home design ตอนนี้เปิดร้านขายเนื้อวัวตุ๋น ตรงแยกช่องนนทรีย์ ส่วนพี่ฮง ก็เป็นเจ้าของโรงงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องจักร พี่เปี๊ยก เป็นวิศวกรทั่วไป พี่เบี้ยว เล่นการเมืองท้องถิ่น พี่ย้ง ทำการตลาดพวกชิ้นส่วน อุปกรณ์ก่อสร้าง สมาชิกอีกคน ตอนนี้อยู่ที่ฟิลิปปินส์ ได้ข่าวว่าทำงานด้านดนตรีอยู่

ทีมงานบ้านเพลงเก่าก็ต้องขอขอบคุณพี่ๆ สมาชิกวง ภราดรที่สละเวลาให้เกียรติมาพูดคุยถึงเรื่องราวในอดีตให้พวกเราได้รับรู้กันในวันนี้ค่ะ

มอลลี่ ผู้สัมภาษณ์ ไอรดา เรียบเรียง
รำลึก วงภราดร

แฟนเพจวงภราดร : https://www.facebook.com/Paradorn.FANPAGE

Exit mobile version