บางคนก็ไม่ยอมเหนื่อยหรือเสี่ยงเพื่อที่จะคิดอะไรใหม่ๆ
ทั้งๆ ที่มูลค่าแห่งความสำเร็จที่ผ่านมา
น่าจะเป็นหลักประกันได้ต่อความสะดวกสบายของชีวิตพอสมควร
……………….หลังจากการทำงานยืดยาวมาตลอดวัน ผมและเพื่อนใช้เวลาก่อนแยกย้ายกลับบ้านเพื่อจะวนมาพบกันใหม่ในวันถัดไป พูดคุยเรื่องต่างๆ รอให้ถนนว่างรถลงไปบ้าง หนึ่งในบรรดาเรื่องที่ได้คุยกันก็ไม่พ้นเรื่องดนตรี
……………….เรานั้งคุยกันถึงปัจจุบันของวงการดนตรีไทย แล้วก็ย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมาไม่นานปีนัก ประเด็นหนึ่งที่ถูกยกมาพูดถึง คือการก้าวออกไปสู่โลกภายนอกอันกว้างของสังคมดนตรีโลก และการก้าวออกไปเพื่อประสบความสำเร็จ
……………….นั่นหมายถึงความสามารถที่จะเจาะเข้าไปตลาดเพลงป๊อปของโลก
……………….วงดนตรีอย่างฟองน้ำ แม้จะได้ไปเปิดการแสดงในหลายประเทศ แต่ลักษณะของดนตรีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะกระจายการยอมรับและความนิยมไปสู่วงกว้าง
……………….ในอดีตเคยมีศิลปินไทยหลายรายได้มีโอกาสเล่นดนตรีในดินแดนต่างชาติ ต่างภาษา ทั้งพื้นที่ใกล้ๆ อย่างไต้หวัน และในยุโรป เช่น ชินดิกซ์, เอ็กโซติคส์, วี.ไอ.พี.บางกอก17, เดอะ สตรีท, นิวบลัด. คาไลโดสโคป, แฟนตาซี และวงที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะก้าวขึ้นระดับโลกในตอนนั้น ดิ อิมพอสสิเบิ้ล
……………….เมื่อดิ อิมพอสสิเบิ้ล ได้แชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 3 ก็ได้รับการติดต่อทาบทามให้ไปเล่นทั้งที่ยุโรปและฮาวาย ในแวดวงดนตรีถือกันว่าชุดนั้นเป็นชุดที่ดีที่สุด โดยมีการเรียกตัว เรวัต พุทธินันทน์ อดีตสมาชิกวง เดอะ แธ้งค์ส บินไปเสริมทีมคีย์บอร์ด และร้องนำที่ฮาวาย
……………….ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ได้บันทึกอัลบั้มชุดหนึ่งในยุโรป ถ้าจำไม่ผิดชื่อชุด Hot Peppers เป็นเพลงสากลล้วนๆ ดนตรีเป็นสไตล์ที่นิยมกันในขณะนั้นและเป็นสไตล์ที่ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เล่นอยู่นั่นคือ ป็อป/โซล ที่มีเสียงกลุ่มเครื่องเป่า อย่างแนวทางของ ชิคาโก, เทาเวอร์ อ็อผ เพาเวอร์ และ บลัด, สเวท แทนด์ เทียร์ เป็นต้น
……………….แต่ความสำเร็จระดับสากลยังมาไม่ถึง ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ก็ถึงจุดอิ่มตัวเสียก่อน ที่จะดำเนินความเคลื่อนไหวในวงการดนตรีต่อไป
……………….สำหรับคนที่สนใจติดตามวงการดนตรีไทยอย่างจริงจัง รู้สึกคล้ายๆ กันว่า โอกาสที่จะก้าวไปสู่สากลที่เริ่มส่องประกายก็วูบดับลงไป
……………….ไม่นานนักหลังจากสิ้นสุดยุคของ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล อดีตสมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง แยกตัวออกมาสร้าง ดิ โอเรียลเต็ล ฟั้งค์ น่าจะเป็นอีกควาวหวัง แต่ ดิ โอเรียนเต็ล ฟั้งค์ ก็ไม่ได้สร้างผลงานแผ่นเสียง หรือ เทปมากกว่าเป็นวงที่เล่นประจำตามคลับ ไม่นานนักวงก็แยกย้ายกันไปตามวิถีทางของแต่ละคน
……………….จุดน่าสนใจอยู่ตรงที่ เรวัต พุทธินันทน์ ยังคงมีความมุ่งมั้นทางด้านดนตรี เขาร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม บัตเตอร์ฟลาย ทำผลงานที่ไม่ประสบความสำเร็จทางตลาด “เรามาร้องเพลงกัน” แต่คนรักที่จะเห็นวงการดนตรีไทยก้าวไปข้างหน้า ถือว่าผลงานชุดนี้เป็นงานคุณภาพชุดหนึ่ง แม้ว่าโดยตัวเรวัต จะมีหน้าที่ร้องเป็นหลักมากกว่าทำดนตรี
……………….ก่อนหน้านั้นมีวงดนตรีที่น่าสนใจ และมีบทบาทสูงคือ แกรนด์เอ็กซ์ ผลงาน “ลูกทุ่งดิสโก้” เป็นผลงานที่น่าสนใจในแง่การประสานป็อปของสากลเข้ากับเพลงไทย และน่าจะเป็นจุดที่วงดนตรีไทยให้ความสนใจ ในการทำงานที่ยกระดับเป็นสากลมากขึ้น
……………….ถ้าเทียบแนวทางกันแล้ว “ลูกทุ่งดิสโก้” มีขอบเขตที่กว้างกว่าแน่นอนในการทำตลาด ขยายวง เป็นไม่ขีดไฟอีก้านที่ทำให้นักดนตรี ซึ่งทำมาหากินด้วยการเล่นประจำอย่างหัดโหมและน่าเบื่อ มองเห็นทางอยู่รอดในการออกมาผลิตเทปอย่างจริงจัง
……………….ผมกับเพื่อนๆ ลองมานั่งไล่กันเล่นๆ ว่า ตลาดเทปที่เฟื่องฟูขึ้นมาจาก “ลูกทุ่งดิสโก้” ทำให้เกิดผลงานเพลงไทยออกมามากมาย เลยไปถึงเพลงสากลที่ผลิดโดยคนไทย เราไม่เพียงรู้สึกคึกคักกับการเคลื่อนไหว แต่ยังได้มองเห็นประกายที่น่าสนใจจากผลงานหลายๆ ชุด อย่าง
“เต๋อ 1” ของเรวัต พุทธินันทน์,
“บ้าหอบฟาง” ของ อัสนี – วสันต์ โชติกุล,
“แดนศิวิไลซ์” ของ ธเนศ วรากุลนิเคราะห์,
“ไปทะเล” ของ ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล,
“ชรัส เฟื่องอารมณ์ และ แฟลช” ของ ชรัส เฟื่องอารมณ์,
“คำก้อน” ของ โซดา, “เมดอินไทยแลนด์” ของ คาราบาว,
“อื่นๆ อีกมากมาย” ของ เฉลียง,
“ห้วยแถลง” ของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ,
“กัลปาวสาน” ของ สุรสีห์ อิทธิกุล,
“ธรรมดา..มันเป็นเรื่องธรรมดา” ของ เพชร โอสถานุเคราะห์
และ “Action” ของ บัตเตอร์ฟลาย เป็นต้น
……………….แต่ทุกอย่างก็ยังไม่มีอะไรขยับไปมากว่าเก่า อย่าว่าแต่ขยับเพื่อที่จะก้าวออกไปสู่โลกภายนอกเลย ราวกับว่าธุรกิจเพลงภายใน ตีกรอบแนวคิดของศิลปินจำนวนไม่น้อย ไม่ให้ฝันไปไกลกว่านี้ และความล้มเหลวในตลาดเพลงไทย ของศิลปินบางราย ทำให้โอกาสต่างๆ หดแคบลงไปด้วย
……………….เวลาศิลปินหลายรายถูกฉกชิงไปโดยหน้าที่การงานที่แตกต่างกัน บ้างก็เป็นนักบริหาร เป็นนักดนตรีและโพรดิวเซอร์รับจ้าง บางคนก็ไม่ยอมเหนื่อยหรือเสี่ยงเพื่อจะคิดอะไรใหม่ ทั้งๆ ที่ มูลค่าแห่งความสำเร็จที่ผ่านมา น่าจะเป็นหลักประกันได้ต่อความสะดวกสบายของชีวิตพอสมควร และบางคนอาจจะทำได้ดีที่สุดเท่าที่เคยทำมาแต่นั้น!
……………….ปัญหาอีกด้านหนึ่งคือ สังกัดบริษัทเทปส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถ หรือไม่เห็นความสำคัญของการให้ศิลปินของตน ได้สร้างสรรค์มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งๆ ที่บางแห่งมีความพร้อมอยู่ค่อนข้างมาก “ไม่รู้ว่าไม่มีความสามารถที่จะติดต่อทำตลาดในสากล หรือว่ากลัวจะเสียผลประโยชน์ในประเทศ” เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยขึ้น
……………….ผมไม่เชื่อว่าความสามารถในการตลาดของเราไม่น่าแพ้ใคร คงไม่ยากเกินไปที่จะเปิดตลาดกว้างขึ้น ตราบใดที่เงินเป็นภาษาเดียวในโลกที่พูดกันรู้เรื่องง่ายที่สุด เรามีศิลปินที่มีระดับความสามารถเทียบชั้นสากลอยู่ไม่น้อย และความคิดสร้างสรรค์มาจากการสั้งสมเรียนรู้ เราคิดกันได้ถ้าไม่เบื่อที่จะคิดสิ่งที่เราน่าจะขายที่สุดคงเป็นความกล้า
……………….ความกล้าอันเดียวกันที่สร้างพัฒนาการให้วงการดนตรีไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ผมไม่แน่ใจว่า คนที่เคยกล้าสร้างความแตกต่างให้วงการดนตรีไทยในวันเก่าๆ จนกลายเป็นประกายแห่งความหวังแต่ละครั้ง ลืมความรู้สืกตอนนั้นของตัวเองไปบ้างหรือยัง
บทความโดย บุญสนอง ภิรมย์สม ในนิตยสาร สีสัน ปี 2532
Leave a reply